อุตสาหกรรมหนังสือในไทย บริษัทไหน กำลังโตระเบิด ?

อุตสาหกรรมหนังสือในไทย บริษัทไหน กำลังโตระเบิด ?

29 พ.ค. 2022
อุตสาหกรรมหนังสือในไทย บริษัทไหน กำลังโตระเบิด ? | BrandCase
ก่อนอื่น เรามาลองทายเล่น ๆ กันว่า ผลประกอบการต่อไปนี้ เป็นของบริษัทอะไร ?
ปี 2562 รายได้ 546 ล้านบาท กำไร 83 ล้านบาท
ปี 2563 รายได้ 937 ล้านบาท กำไร 166 ล้านบาท
ปี 2564 รายได้ 1,420 ล้านบาท กำไร 273 ล้านบาท
จากข้อมูลจะเห็นได้ว่า รายได้เติบโตเฉลี่ย 62% ต่อปี ขณะที่กำไรเติบโตเฉลี่ยถึง 81% ต่อปี
โดยปีล่าสุดบริษัทมีอัตรากำไรสุทธิ 19%
แม้ผลประกอบการค่อนข้างจะดูดี แต่รู้หรือไม่ว่าบริษัทนั้นกลับอยู่ในอุตสาหกรรมที่แข่งขันกันอย่างดุเดือด จนหลายบริษัทขาดทุน หรือแทบไม่มีกำไร นั่นคือ “อุตสาหกรรมหนังสือ”
แล้วที่ว่ามานี้คือบริษัทอะไร ทำไมสามารถสร้างการเติบโตที่น่าสนใจได้ขนาดนี้ ?
คำตอบคือ บริษัท เมพ คอร์ปอเรชั่น จำกัด
ที่ทำธุรกิจขาย e-Book หรือหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ เจ้าของแอปพลิเคชัน meb และ readAwrite นั่นเอง..
แล้วทำไม meb ถึงสามารถโตระเบิด BrandCase จะวิเคราะห์ให้อ่านกันเป็นข้อ ๆ
1. จังหวะเวลา หรือ Timing ในการเริ่มทำธุรกิจที่ดี
คุณรวิวร มะหะสิทธิ์ และคุณกิตติพงษ์ แซ่ลิ้ม ก่อตั้ง meb ขึ้นในปี 2554
เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่ iPad เปิดตัวเป็นครั้งแรก
รวมถึงมีเหตุการณ์น้ำท่วมในไทย ที่ทำให้กลุ่มคนที่รักการอ่าน ต้องเจอกับปัญหาหลายอย่าง เช่น การที่หนังสือขึ้นราเพราะความชื้น และขนย้ายลำบาก
ด้วยปัจจัยคร่าว ๆ เหล่านี้ จึงทำให้คนเปิดใจเลือกเสพหนังสือประเภท e-Book ง่ายขึ้น
ซึ่งก็ถือว่าเป็นการเริ่มต้นธุรกิจในช่วงเวลาที่ค่อนข้างเป็นใจ
2. ดูแลพาร์ตเนอร์ดี ไม่จบแค่การซื้อขายเท่านั้น
หลายบริษัทมักเลือกทำการค้าขายกับพาร์ตเนอร์แล้วจบเพียงเท่านั้น แต่ไม่ใช่กับ meb
เพราะ meb มองว่า หากผู้เขียนหรือสำนักพิมพ์ไปไม่รอด ธุรกิจของตัวเองก็คงไปไม่รอดเช่นกัน
meb จึงพยายามสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับพาร์ตเนอร์เหล่านี้
ด้วยการเข้ามาช่วยดูแล แก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น จากการที่เหล่าพาร์ตเนอร์ขยับเข้ามาสู่ช่องทางออนไลน์
และทำการตลาดให้ด้วย รวมถึงแบ่งสัดส่วนรายได้ที่พอใจกันทุกฝ่าย
ที่น่าสนใจก็คือ โมเดลของ meb จะแบ่งรายได้จากยอดขายที่เกิดขึ้นเท่านั้น
ซึ่งไม่มีค่าใช้จ่ายในการลงผลงานใด ๆ เลย นั่นจึงทำให้นักเขียน และสำนักพิมพ์ตกลงที่จะเป็นพาร์ตเนอร์ต่อไป
3. เลือกพาร์ตเนอร์ที่เหมาะสม
จากการมีพาร์ตเนอร์เป็นซีโอแอล (COL) เจ้าของ B2S ร้านหนังสือที่ใหญ่เป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศ
ทำให้ meb สามารถเจรจากับสำนักพิมพ์ต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น และได้รับการโปรโมตอย่างกว้างขวาง
ซึ่งก่อนหน้าที่ซีโอแอล จะเข้ามาซื้อกิจการ เคยมีนักลงทุนและนักธุรกิจหลายแห่งที่ต้องการลงทุนใน meb เช่นเดียวกัน
แต่สุดท้าย meb ก็ปฏิเสธข้อเสนอเหล่านั้นไป จากการเห็นว่าผู้ลงทุนรายอื่นที่เข้ามา จะลงทุนเพียงเงินเท่านั้น แต่ไม่สามารถเสริมสร้างให้ธุรกิจของ meb แข็งแกร่งขึ้นได้
ด้วยเหตุนี้ ก็เป็นปัจจัยเสริม ที่ทำให้ผลประกอบการของบริษัทเติบโตอย่างรวดเร็วยิ่งกว่าเดิม
4. การยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง
สุดท้ายเหตุผลทั้งหมดที่กล่าวมา จะไม่ประสบความสำเร็จ หากบริษัทไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในการใช้งานได้
ซึ่งก็ต้องบอกว่า meb ทำการบ้านเกี่ยวกับเรื่องนี้มาเป็นอย่างดี
จนทำให้ meb เป็น 1 ในแอปพลิเคชัน e-Book ที่นักอ่านหลายคนยอมรับว่า UX และ UI ดีที่สุด ใช้งานง่าย ลื่นไหล รวมถึงมีฝ่ายรับแจ้งปัญหา ที่ตอบรับอย่างรวดเร็ว
จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่ปัจจุบัน meb มีผู้ใช้งานมากกว่า 2 ล้านคน เป็นที่เรียบร้อย
และทั้งหมดนี้คือสาเหตุว่า ทำไม meb ถึงโตระเบิดนั่นเอง
ปิดท้ายด้วยเรื่องที่น่าสนใจ..
หาก meb เข้าตลาดหลักทรัพย์ แล้วมีค่า P/E เท่ากับ บริษัท รุ่งเรืองตลอดไป จำกัด (มหาชน) หรือ GLORY ที่ทำธุรกิจคล้ายกัน
meb จะมีมูลค่ากิจการ ราว ๆ 16,000 ล้านบาท เลยทีเดียว..
References
-https://www.blognone.com/node/110591
-https://urbancreature.co/meb-e-book/?fbclid=IwAR3t98F3x9mAEsC4PnZN-0j_6WgnTfvduGzWcBdQbrGRIbo_BfSvoSD_Zk8
-https://www.dailynews.co.th/it/247926/
-https://www.combangweb.com/
-https://brandinside.asia/meb-more-than-ebook/
-https://www.set.or.th/set/companyhighlight.do?symbol=GLORY&ssoPageId=5&language=th&country=TH
-https://mgronline.com/business/detail/9640000030896
-กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.