กรณีศึกษา ร้านขายของออนไลน์ในญี่ปุ่น ที่ขายสินค้า ให้คนถนัดซ้าย

กรณีศึกษา ร้านขายของออนไลน์ในญี่ปุ่น ที่ขายสินค้า ให้คนถนัดซ้าย

15 มิ.ย. 2022
กรณีศึกษา ร้านขายของออนไลน์ในญี่ปุ่น ที่ขายสินค้า ให้คนถนัดซ้าย | BrandCase
บนโลกใบนี้ มีประชากรทั้งหมดราว 7,900 ล้านคน
และข้อมูลจาก Washington Post บอกว่า มีคนที่ถนัดซ้ายแค่ราว ๆ 790 ล้านคน หรือราว 10% ของจำนวนประชากรโลก
ด้วยจำนวนของประชากรที่ถนัดขวามีมากกว่าแบบนี้
ทำให้สิ่งของและของใช้หลาย ๆ อย่าง มักถูกออกแบบมาเพื่อคนถนัดขวาเป็นหลัก เมื่อเป็นแบบนี้แล้ว คนถนัดซ้ายอาจเกิด Pain Point เมื่อต้องใช้งานสิ่งของเหล่านั้น
ยกตัวอย่างเช่น
เก้าอี้เล็กเชอร์แบบพับขึ้นพับลง ที่มักจะมีที่วางแขนด้านขวา ทำให้คนถนัดซ้ายวางแขนไม่ถนัดเวลาจดเล็กเชอร์
หรือกีตาร์ไฟฟ้า ที่มักออกแบบมาสำหรับคนถนัดขวา
ซึ่งคนที่ถนัดซ้ายก็อาจจะนำมาปรับให้ตัวเองสามารถเล่นได้ แต่ก็ต้องลำบากมาเรียงสายใหม่
จาก Pain Point เหล่านี้ ย่อมเป็นที่หนักใจไม่ใช่น้อย สำหรับคนถนัดซ้าย
นี่จึงเป็นสิ่งที่ “Hidari Kiki no Dogu Ten” ร้านค้าออนไลน์ในประเทศญี่ปุ่น หยิบเอามาช่วยแก้ Pain Point ให้กับคนถนัดซ้าย
โดยร้านนี้ ตั้งใจผลิตสินค้าเพื่อคนถนัดซ้ายโดยเฉพาะ
เริ่มตั้งแต่ชื่อร้าน Hidari Kiki no Dogu Ten ที่แปลตรง ๆ คือ “ร้านอุปกรณ์ของคนใช้มือซ้าย”
มากไปกว่านั้น ร้านได้ก่อตั้งขึ้นในวันที่ 13 สิงหาคม ซึ่งตรงกับ วันคนถนัดซ้ายสากล อีกด้วย
แล้วร้าน Hidari Kiki no Dogu Ten จะมีความน่าสนใจอะไรอีกบ้าง ?
- สินค้าทุกชิ้นภายในร้าน ถูกออกแบบมาเป็นอย่างดี ตอบโจทย์การใช้งานในชีวิตประจำวัน
โดยทางร้านมีคอนเซปต์ว่า “ต้องการให้ลูกค้าได้ใช้ของที่สะดวกที่สุด ด้วยมือข้างที่ถนัด”
เพราะฉะนั้น ของแต่ละอย่างจะถูกคิดและดีไซน์มาเป็นอย่างดี ว่าเมื่อคนถนัดซ้ายใช้แล้ว จะรู้สึกสะดวกสบาย
โดยตัวอย่างสินค้าของทางร้าน เช่น
กาต้มน้ำร้อน ที่ออกแบบให้คนที่ถนัดซ้ายจับได้อย่างสะดวก ไม่ปวดข้อมือเวลาเทน้ำ
หรือแก้วน้ำธรรมดา แต่เวลาจับแล้วยกดื่มด้วยมือซ้าย จะโชว์ข้อความ “ถนัดซ้าย (Left-handed)” ออกมาทางด้านหน้า
- สโลแกนร้าน คือ “ร้านที่ทำให้คนถนัดซ้ายมีความสุข”
นับว่าสโลแกนมีความน่าสนใจ เห็นได้จากการเจาะจงถึงกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งดึงดูดผู้รับสารอย่าง คนถนัดซ้าย ได้เป็นอย่างดี
เพราะเป็นสโลแกนที่สื่อถึงความรู้สึกด้านบวกออกมาได้ชัดเจน ทำให้ลูกค้าเกิดความรู้สึกดีต่อแบรนด์ และอยากจะเข้าไปอุดหนุนสินค้า
ทำให้แม้กลุ่มลูกค้าของทางร้านจะไม่ได้มีมากเหมือนร้านทั่วไป แต่ลูกค้ากลุ่มถนัดซ้ายที่ได้เจอร้านนี้ ก็กลายมาเป็นลูกค้าประจำ และกลับมาซื้อซ้ำบ่อย ๆ
- โลโกของร้าน ที่ใส่ใจทุกรายละเอียด
ทางร้านเลือกใช้รูปหมีขั้วโลกที่ยกมือซ้าย ซึ่งออกแบบโดยคุณโยชิมิ อิโต ศิลปินชาวญี่ปุ่นที่ถนัดมือซ้ายเหมือนกัน นี่จึงเป็นการสร้างภาพลักษณ์ของแบรนด์ ให้ง่ายต่อการจดจำของลูกค้า
- ขายแบบออนไลน์ เพราะขายของให้คนเฉพาะกลุ่ม
ทางร้านรู้ดีว่าตัวเองกำลังขายของให้กับแค่คนถนัดซ้าย ซึ่งเป็นตลาดเฉพาะกลุ่ม หรือ “Niche Market”
ดังนั้นทางร้านจึงเลือกใช้ช่องทางออนไลน์ เพราะการขายออนไลน์ สามารถเข้าถึงคนจำนวนมาก ได้ดีกว่าการไปตั้งหน้าร้านตามย่านต่าง ๆ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะมีคนถนัดซ้ายอาศัยอยู่มากน้อยแค่ไหน
มากไปกว่านั้น ทางร้านต้องการเน้นในเรื่องของคุณภาพสินค้า
เพราะหากสินค้าดี มีคุณภาพ ย่อมต้องมีการบอกต่อ
และนี่ก็คือความน่าสนใจของร้าน Hidari Kiki no Dogu Ten
ร้านที่เห็นโอกาสทางธุรกิจ จากความต้องการแก้ Pain Point ให้คนถนัดซ้าย
และยึดมั่นว่า ถึงแม้คนถนัดซ้าย จะเป็นเพียงคนกลุ่มน้อย
แต่ก็มีความสำคัญ ไม่แพ้ใคร..
References
-https://www.worldometers.info/
-https://www.washingtonpost.com/health/the-big-number-lefties-make-up-about-10-percent-of-the-world/2019/08/09/69978100-b9e2-11e9-bad6-609f75bfd97f_story.html
-https://hidari-kiki.jp/pages/%E5%B7%A6%E3%81%8D%E3%81%8D%E3%81%AE%E9%81%93%E5%85%B7%E5%BA%97%E3%81%AB%E3%81%A4%E3%81%84%E3%81%A6
-https://www.timeout.com/tokyo/news/this-japanese-online-store-sells-homeware-for-left-handed-people-030122
-https://www.bangkokbanksme.com/en/which-strategy-should-sme-use-niche-market
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.