กรณีศึกษา วิธีสร้างการเติบโต และรับมือวิกฤติ ของ พระราม 9 ไก่ย่าง

กรณีศึกษา วิธีสร้างการเติบโต และรับมือวิกฤติ ของ พระราม 9 ไก่ย่าง

18 มิ.ย. 2022
กรณีศึกษา วิธีสร้างการเติบโต และรับมือวิกฤติ ของ พระราม 9 ไก่ย่าง | BrandCase
ถ้าถามว่า คนส่วนใหญ่ทานส้มตำคู่กับอะไร ?
“ไก่ย่าง” น่าจะเป็นเมนูยอดฮิตที่หลายคนนึกถึง
แล้วถ้าถามต่อไปว่า ร้านไก่ย่างที่หลายคนคุ้นเคย โดยเฉพาะคนกรุงเทพฯ มีชื่ออะไรบ้าง ? เชื่อว่าชื่อร้านพระราม 9 ไก่ย่าง น่าจะเป็นหนึ่งในนั้น..
และที่น่าสนใจก็คือ ช่วงวิกฤติโควิด 19 ที่ผ่านมา มีร้านอาหารหลายร้านล้มหายตายจาก
แต่ร้านพระราม 9 ไก่ย่าง ที่ก็ได้รับผลกระทบไปพอสมควร แต่สุดท้ายรายได้ก็ยังกลับมาดี
เรื่องราวของพระราม 9 ไก่ย่าง มีจุดเริ่มต้นอย่างไร ?
แล้วพระราม 9 ไก่ย่างทำอย่างไร เพื่อให้ธุรกิจผ่านพ้นวิกฤติครั้งนี้ไปได้ ?
BrandCase จะสรุปให้ฟัง..
จุดเริ่มต้นของพระราม 9 ไก่ย่าง เกิดจากคุณสุเมธ ต่อสหะกุล ซึ่งมีพื้นเพเป็นคนจังหวัดอุดรธานี
อดีตเขาเคยเป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง แต่ได้รับผลกระทบจากพิษวิกฤติเศรษฐกิจไทยในปี 2540
และทางออกสำหรับเขาในตอนนั้นคือ
พาครอบครัวเดินทางเข้ากรุงเทพมหานคร เพื่อมองหาโอกาสครั้งใหม่ในชีวิต
จนมาวันหนึ่ง เขาได้มานั่งที่ร้านอาหารของเพื่อน
และเขาก็สังเกตว่า ร้านอาหารของเพื่อนนั้นขายได้ไม่ดีเท่าไร ซึ่งสาเหตุที่ขายได้ไม่ดี ก็น่าจะเกิดจากทำเลของร้านที่ไม่เหมาะสม คุณสุเมธจึงแนะนำให้เพื่อนหาทำเลใหม่
และระหว่างที่กำลังขับรถเพื่อมองหาทำเลใหม่ให้กับเพื่อนนั้น ตัวคุณสุเมธและเพื่อนก็ได้จอดรถข้างทาง เพื่อแวะทานส้มตำ ไก่ย่าง
และในขณะนั้นเอง คุณสุเมธก็เกิดความคิดแว็บขึ้นมาทันทีว่า ทำไมเราไม่ขายไก่ย่างแบบนี้บ้าง ?
เพราะตัวของเขาเองก็พอจะรู้แหล่งที่ทำสูตรไก่ย่างอร่อย ๆ ในจังหวัดอุดรธานี
พอคิดได้แบบนี้ คุณสุเมธจึงเสนอไอเดียให้เพื่อนมาร่วมหุ้นกัน เพื่อขายไก่ย่างดีกว่า
ในคืนนั้นเอง ทั้งคุณสุเมธและเพื่อนจึงตัดสินใจขับรถจากกรุงเทพฯ ไปยังจังหวัดอุดรธานีทันที เพื่อไปหาคนที่รู้สูตรหมักไก่ย่าง และจากนั้นก็รีบกลับมาทำไก่ย่างขายในกรุงเทพมหานคร
วันแรกของการเริ่มต้นขายไก่ย่าง เขาบอกว่า มีโต๊ะ 1 ตัว, เขียง 1 อัน, มีด 1 เล่ม และเตาย่างอยู่ 2 ใบ เท่านั้น และในการเปิดร้านวันแรกก็ขายได้เงินหลักพันบาท และได้กำไรหลักร้อยบาท
เมื่อทำไปสักพัก เพื่อนของคุณสุเมธ ก็ต้องการยกเลิกการเป็นหุ้นส่วน เพราะมองว่ากำไรจากการขายไก่ย่างนั้นน้อยเกินไป
แต่สำหรับคุณสุเมธ เขายังยืนยันที่จะทำธุรกิจไก่ย่างต่อไป เพราะอย่างน้อยก็จะได้มีเงินมาเลี้ยงดูครอบครัวด้วย
แต่เมื่อเปิดร้านไปสักพักก็มีลูกค้าเข้ามาถามคุณสุเมธว่า ไม่มีเมนูอย่างอื่นนอกจากไก่ย่างเลยหรือ ?
ซึ่งประโยคนี้เองที่ทำให้คุณสุเมธเริ่มพัฒนาเมนูอื่น ๆ ตามมา เพื่อให้ลูกค้าได้ทานคู่กับไก่ย่าง
เมื่อทางร้านมีเมนูที่มากขึ้น ก็ทำให้ลูกค้าเพิ่มขึ้นตามไปด้วย จนธุรกิจของคุณสุเมธก็ค่อย ๆ เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ
และอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้ลูกค้าติดใจ ร้านพระราม 9 ไก่ย่าง ก็คือ คุณสุเมธพยายามสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า โดยเขาจะยึดสโลแกนที่ว่า “ร้านของเขาต้องสะอาดทั้งต่อหน้า และลับหลังลูกค้า”
เพราะสำหรับธุรกิจร้านอาหารนั้น นอกจากรสชาติอาหารที่อร่อยแล้ว ความสะอาดยังถือเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้ร้านอาหารประสบความสำเร็จ
คุณสุเมธบอกว่า จริง ๆ แล้วที่ผ่านมา ร้านของเขาให้ความสำคัญกับความสะอาดมาตลอดอยู่แล้ว
แต่เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าของร้านมากขึ้น เขาก็มีการจ้างบริษัทที่ปรึกษาธุรกิจระดับโลกที่มีชื่อว่า “Ecolab” ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในด้านเทคโนโลยี และการให้บริการเกี่ยวกับน้ำ สุขอนามัย และพลังงาน
โดย Ecolab ก็ได้เข้ามาดูแลเรื่องความสะอาดภายในร้านทุกแผนก เช่น
- ตรวจความสะอาดมือของพนักงานในร้าน ด้วยเครื่องทดสอบความสะอาดว่าผ่านมาตรฐานหรือไม่
- สอนวิธีการล้างมือที่ถูกต้องว่าต้องทำอย่างไร
- สอนวิธีการล้างจานที่ถูกหลักการ
ซึ่งต้องบอกว่า การนำมาตรการดังกล่าวมาใช้ แม้จะเป็นเรื่องที่ดูเล็กน้อยมาก ๆ
แต่ก็ต้องยอมรับว่า เป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าได้ไม่น้อย ซึ่งถือเป็นเรื่องที่สำคัญมากสำหรับธุรกิจร้านอาหาร โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดวิกฤติโรคระบาด
และจากการรักษามาตรฐานทั้งรสชาติและความสะอาด ปัจจุบันร้านพระราม 9 ไก่ย่าง ก็เติบโตมากขึ้นเรื่อย ๆ และมีทั้งหมด 7 สาขา โดยตั้งอยู่ทั้งในและนอกห้างสรรพสินค้า
แล้วเมื่อเกิดวิกฤติโควิด 19 ร้านพระราม 9 ไก่ย่าง เป็นอย่างไร ?
คุณสุเมธยอมรับว่า ตั้งแต่ทำธุรกิจมาทั้งชีวิต ผ่านอุปสรรคปัญหามามากมาย แต่การแพร่ระบาดของโควิด 19 ที่เกิดขึ้นมาเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ถือว่าเป็นหนึ่งในวิกฤติที่หนักที่สุดที่เขาเคยพบเจอมา
คุณสุเมธบอกว่า เมื่อเกิดวิกฤติโควิด 19 ต้นทุนในการทำธุรกิจนั้นก็ไม่ได้เปลี่ยนไปมาก ทั้งราคาสินค้า และค่าแรงของลูกน้อง
แต่ที่เปลี่ยนไป คือรายได้ที่ลดลง เนื่องจากจำนวนลูกค้าที่มานั่งทานในร้านนั้นลดลง จากการที่รัฐบาลประกาศห้ามนั่งทานอาหารในร้าน ช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด 19 อย่างรุนแรง
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่มาช่วยได้บ้าง คือยอดขายที่ผ่านช่องทางดิลิเวอรี อย่าง Grab และ LINE MAN ทำให้ธุรกิจของพระราม 9 ไก่ย่างก็ยังพอขายได้บ้าง
ลองมาดูรายได้ของ บริษัท พระราม 9 ไก่ย่าง จำกัด
ปี 2562 รายได้ 33 ล้านบาท กำไร 1.5 แสนบาท
ปี 2563 รายได้ 32 ล้านบาท กำไร 5.6 แสนบาท
ปี 2564 รายได้ 37 ล้านบาท กำไร 8.1 แสนบาท
จะเห็นได้ว่าในปี 2563 ร้านพระราม 9 ไก่ย่าง ก็มีรายได้ที่ลดลง เพราะวิกฤติโควิด 19 ทำให้สาขาของร้านที่ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้าได้รับผลกระทบไปบ้าง
และเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 เริ่มคลี่คลาย ก็ทำให้ธุรกิจร้านพระราม 9 ไก่ย่าง ได้กลับมาเติบโตอีกครั้ง
อ่านมาถึงตรงนี้ เราก็คงจะได้เห็นแล้วว่า สิ่งที่ทำให้ร้านพระราม 9 ไก่ย่าง เติบโตมาได้ และผ่านวิกฤติโควิด 19 มาได้โดยไม่เจ็บตัวมาก
ก็เพราะที่ผ่านมาคุณสุเมธได้สร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า
ด้วยการเน้นเรื่องความสะอาด ไปพร้อม ๆ กับเรื่องของมาตรฐานด้านรสชาติ
ซึ่งก็ถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ของธุรกิจอาหาร นั่นเอง..
References:
- https://www.praram9kaiyangrestaurant.com/about/
- https://www.praram9kaiyangrestaurant.com/
- https://www.youtube.com/watch?v=QdSxkY5m9HM
- กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.