“ไคเซ็น” คืออะไร ทำไมช่วยเพิ่มอัตรากำไร ให้บริษัทได้

“ไคเซ็น” คืออะไร ทำไมช่วยเพิ่มอัตรากำไร ให้บริษัทได้

11 ก.ค. 2022
“ไคเซ็น” คืออะไร ทำไมช่วยเพิ่มอัตรากำไร ให้บริษัทได้ | BrandCase
รู้หรือไม่ว่า รถยนต์คันแรกของโลก กำเนิดขึ้นในปี 1886
และ 17 ปีต่อมา ค่ายรถยนต์ Ford ของสหรัฐอเมริกา
ก็ได้นำระบบสายพานลำเลียงมาใช้ในการผลิตรถยนต์เป็นเจ้าแรกของโลก
และสามารถผลิตรถยนต์ได้มากถึง “600,000 คันต่อปี”
จากเดิมที่บริษัทหนึ่ง ผลิตรถยนต์ได้เพียงหลักพัน ถึงหลักหมื่นคันต่อปี ก็นับว่าหรูแล้ว
แต่ Ford นำระบบสายพานลำเลียงมาใช้ จนสามารถผลิตรถยนต์ได้หลักแสนคันต่อปี
ซึ่งการเกิดขึ้นของ สายพานลำเลียงที่ว่านี้ ก็เป็นส่วนหนึ่ง ของสิ่งที่เรียกว่า “ไคเซ็น”
แล้ว “ไคเซ็น” (Kaizen) คืออะไร ?
ต้องบอกก่อนว่าผู้ที่เริ่มต้นแนวคิด ไคเซ็น ไม่ใช่ญี่ปุ่น แต่เป็น “สหรัฐอเมริกา”
ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 นักสถิติชาวอเมริกันอย่างคุณ Walter Shewhart
ได้พัฒนารูปแบบการแก้ไขปัญหาด้านคุณภาพ ให้กับบริษัท Bell Telephone ซึ่งเป็นบริษัทที่จดสิทธิบัตรโทรศัพท์เป็นเครื่องแรก
โดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่า วงจร “PDCA”
ซึ่ง PDCA ย่อมาจาก Plan-Do-Check-Act ซึ่งความหมายก็คือ
- Plan คือ การกำหนดเป้าหมายในการทำงาน โดยเริ่มจากการตั้งคำถามว่า “ปัญหา คืออะไร ?”
- Do คือ การลงมือทำ
- Check คือ ตรวจสอบดูว่า สิ่งที่เราทำไปนั้น ตรงกับเป้าหมายที่ได้วางไว้หรือไม่ ? หรือสามารถแก้ไขปัญหานั้นได้หรือไม่ ?
- Act คือ เมื่อตรวจสอบแล้วว่าสามารถแก้ไขปัญหาได้ และตรงกับเป้าหมายที่วางไว้ ก็กำหนดให้เป็นมาตรฐานในการทำงาน
ต่อมาช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่น ที่เพิ่งพ่ายแพ้จากสงครามโลก ต้องการฟื้นฟูเศรษฐกิจ
จึงได้มีการนำวงจร PDCA ไปพัฒนาตามปรัชญาญี่ปุ่น จนกลายเป็น “ไคเซ็น” และนำไปใช้อย่างกว้างขวางโดยเฉพาะในแวดวงอุตสาหกรรม
โดยคำว่า ไคเซ็น “Kaizen” ก็มาจากภาษาญี่ปุ่น 2 คำ
ได้แก่ “Kai” แปลว่า เปลี่ยน
และ “Zen” แปลว่า ดี หรือความดี
เมื่อนำทั้ง 2 คำมารวมกัน จึงแปลว่า ปรับปรุงให้ดีกว่า และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
ซึ่งในมุมของการผลิต การทำ ไคเซ็น จะเน้นไปที่การลดค่าใช้จ่าย (Cost) ที่ไม่จำเป็น และการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต
หรือที่เรียกกันว่า “Lean Manufacturing”
เพื่อให้เห็นภาพชัด ๆ ลองมาดูตัวอย่างบริษัทที่ใช้ ไคเซ็น ในการปรับปรุงการทำงานอยู่เสมอ
บริษัทนั้นก็คือ โตโยต้า มอเตอร์
โตโยต้า มอเตอร์ นำแนวคิดไคเซ็นมาใช้ ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ
ตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบ การจัดการสินค้าคงคลัง กระบวนการในการผลิต ไปจนถึงการควบคุมคุณภาพ
ตัวอย่างการทำไคเซ็น ของ โตโยต้า มอเตอร์ ก็อย่างเช่น
- การป้องกันความผิดพลาดของพนักงาน หรือ POKA-YOKE
เช่น การปรับปรุงการขันนอตล้อรถยนต์ โดยการทำให้มีสีติดตรงเครื่องมือขันนอต
หากพนักงานขันนอตแน่นพอ จะทำให้สีนั้นติดที่หัวนอต เพื่อเป็นการยืนยันว่าขันนอตให้ล้อแน่นแล้ว
- การบำรุงรักษาอุปกรณ์ให้พร้อมใช้งาน เป็นการดูแลรักษาอุปกรณ์ หรือเครื่องจักร ให้พร้อมใช้งานตลอดเวลา ไม่เสีย และมีประสิทธิภาพเต็มที่
- การจัดการสินค้าคงคลังแบบทันเวลาพอดี หรือ Just In Time (JIT)
คือการจัดการคลังสินค้าให้เก็บวัตถุดิบ และสินค้าให้เหลือน้อยที่สุด จนเกือบเป็นศูนย์ เพื่อลดต้นทุนในการใช้พื้นที่จัดเก็บสินค้า
นอกจากนี้ เมื่อทำไคเซ็น บรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้ ก็จะมีการแชร์ความรู้ภายในองค์กร เกี่ยวกับการทำไคเซ็น ในส่วนต่าง ๆ
ว่าลูปในการมองให้เห็นปัญหา การลงมือทดลอง ตรวจสอบ และกำหนดเป็นมาตรฐานการทำงาน เป็นอย่างไร
เพื่อเป็นต้นแบบให้พนักงานได้นำไปใช้ และพัฒนาต่อ
ซึ่งต้องบอกว่า การทำไคเซ็น นอกเหนือจากในแวดวงอุตสาหกรรมแล้ว ยังเป็นวัฒนธรรม สำหรับบริษัท หรือองค์กรต่าง ๆ ในญี่ปุ่นด้วย
ซึ่งเรื่องนี้ กลายเป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้เศรษฐกิจของญี่ปุ่น กลับมาเติบโตอย่างก้าวกระโดดแม้ว่าจะพ่ายแพ้สงครามโลกมา โดยเฉพาะในปี 1970-1990
ปี 1970 GDP ญี่ปุ่น เท่ากับ 8 ล้านล้านบาท
ปี 1980 GDP ญี่ปุ่น เท่ากับ 40 ล้านล้านบาท
ปี 1990 GDP ญี่ปุ่น เท่ากับ 113 ล้านล้านบาท
จะเห็นได้ว่า GDP ญี่ปุ่นในช่วงนั้น เติบโตเป็นเกือบ 14 เท่า ภายในระยะเวลา 20 ปี
สรุปคำว่า ไคเซ็น แบบสั้น ๆ ง่าย ๆ ตามแบบฉบับญี่ปุ่น คือ
เป็นการหาวิธี หรือแนวทางในการลดต้นทุนการผลิต ตั้งแต่ต้นน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำ และเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต
ไม่ว่าจะเป็น การลดปัญหาของเสีย หรือการเพิ่มปริมาณการผลิต โดยใช้ต้นทุนให้น้อยที่สุด
พูดแบบง่าย ๆ ก็คือ การทำแบบนี้ คือหัวใจของการลดต้นทุนการผลิต
และผลลัพธ์ของมันก็คือ ธุรกิจจะมีอัตรากำไรที่สูงขึ้น นั่นเอง..
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ได้มีการกำหนด โตโยต้าเวย์ (Toyota Way)
ซึ่งเป็นแนวคิดไคเซ็น ในแบบของโตโยต้าเอง
โดยได้นำมาปรับใช้ในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2001
และรู้หรือไม่ว่า ในปี 2021 มีรถยนต์ โตโยต้า ที่ผลิตในไทยรวมแล้ว 514,000 คัน
นั่นหมายความว่า รถยนต์โตโยต้า ถูกผลิตในไทยมากถึง 1,400 คัน ต่อวัน เลยทีเดียว..
References
-https://www.goodmaterial.co/what-is-ไคเซ็น/
-https://thaiautofilm.com/1727
-https://daviddisiere.com/history-of-mercedes-benz/
-https://autostation.com/featured/toyota-sale-report-2021
-https://mercedes-benz-publicarchive.com/marsClassic/en/instance/ko/838-hp-and-Stuttgart- 200--260-W-02-W-11-1926---1936.xhtml?oid=4215
-https://www.billionway.co/henry-ford-the-man-who-changed-automotive-history/
-https://crm.org/articles/the-history-of-ไคเซ็น
-https://www.softbankthai.com/Article/Detail/904
-https://www.gotoknow.org/posts/18498
-http://www.thaidisplay.com/content-2.html
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.