กรณีศึกษา Kbank เปิดตัว Virtual Influencer เป็นแบรนด์แรก ในวงการแบงก์

กรณีศึกษา Kbank เปิดตัว Virtual Influencer เป็นแบรนด์แรก ในวงการแบงก์

14 ก.ค. 2022
กรณีศึกษา Kbank เปิดตัว Virtual Influencer เป็นแบรนด์แรก ในวงการแบงก์ | BrandCase
- ล่าสุด Kbank ได้เปิดตัว 2 คู่ซี้ Virtual Influencer แบรนด์แรกในวงการแบงก์
ชื่อว่า “เคน” (Ken) และ “เคซี่” (Kazie) เพื่อเป็นอินฟลูเอนเซอร์ให้กับ KBank Live ในทุกช่องทาง ทั้ง Facebook, Instagram, Twitter, TikTok, LINE
- คอนเซปต์ของทั้ง เคนและเคซี่ คือเป็นคนรุ่นใหม่ ที่มีความตั้งใจที่จะพาทุกคนให้เท่าทันตามกระแสโลก ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา พร้อมทั้งแบ่งปันเรื่องราวที่สร้างแรงบันดาลใจ ทั้งเรื่องการเงิน ไลฟ์สไตล์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม
- ซึ่งในช่วงที่ผ่านมานี้ หลาย ๆ คนคงได้เห็น Virtual Influencer หรืออินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริง ที่ได้ปรากฏตัวบนโลกออนไลน์มากขึ้นในไทย
เช่น น้องไอ-ไอรีน ของ AIS 5G หรือ น้องอิมมะ ของ True 5G
แล้ว Virtual Influencer เหล่านี้ มีตัวตนอยู่จริง ๆ หรือเปล่า ?
- ต้องบอกก่อนว่าคอนเซปต์ของ Virtual Influencer คือเป็นมนุษย์ในโลกเสมือน ที่ไม่ได้มีตัวตนในโลกจริง ๆ ของเรา โดยตัวตนของเขาหรือเธอ จะมีอยู่แค่ในอินเทอร์เน็ต และโลกโซเชียลมีเดียเท่านั้น
- ซึ่งแครักเตอร์ของ Virtual Influencer ถูกสร้างขึ้นโดยคอมพิวเตอร์กราฟิก
ผสมผสานระหว่างเทคโนโลยี CG และ 3D จนออกมาเป็นตัวตนที่สมจริง เป็นธรรมชาติ และมีเอกลักษณ์เฉพาะเป็นของตัวเอง ทั้งรูปร่างหน้าตา การโพสท่า รวมถึงเสื้อผ้าเครื่องและแต่งกาย
แล้วการใช้ Virtual Influencer น่าสนใจอย่างไร
ทำไมเราเห็นหลายองค์กรใหญ่ในไทย เริ่มใช้กัน ?
ลองมาวิเคราะห์กันเป็นข้อ ๆ
1. ควบคุมภาพลักษณ์ได้ 100%
เพราะเราสามารถควบคุมพฤติกรรมของ Virtual Influencer ได้ ด้วยการป้อนข้อมูล และกำหนดความต้องการต่าง ๆ ผ่านระบบ AI
หมายความว่า Virtual Influencer เหล่านี้ สามารถสะท้อนภาพลักษณ์ที่แบรนด์ต้องการ ออกมาได้อย่างเต็มที่
ที่สำคัญ แบรนด์ไม่ต้องกังวลว่า Virtual Influencer จะไปมีข่าวไม่ดี ที่จะทำให้ภาพลักษณ์แบรนด์เสียหาย
นอกจากนั้น รูปร่าง หน้าตา และอายุของ Virtual Influencer ก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลง (ถ้าแบรนด์ไม่อยากให้เปลี่ยน) ส่งผลให้แบรนด์สามารถรักษาภาพลักษณ์ ที่จะสื่อออกไปได้อย่างมั่นคง
2. ความยืดหยุ่นของแบรนด์ และตัวอินฟลูเอนเซอร์เอง
ปกติเวลาแบรนด์หรือองค์กรมีอิเวนต์สำคัญ อาจจะต้องจองตัว และจองคิวอินฟลูเอนเซอร์ล่วงหน้านาน ๆ
แต่การมาใช้ Virtual Influencer จะช่วยให้แบรนด์มีความยืดหยุ่นในการทำงานมากขึ้น
เช่น ค่าใช้จ่ายที่ควบคุมได้ ตารางงาน หรือคิวในการปรากฏตัวตามสถานที่ต่าง ๆ ของอินฟลูเอนเซอร์
3. ปรับภาพลักษณ์แบรนด์ให้ดูทันสมัย เข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้ง่าย
ในยุคที่ทุกอย่างเชื่อมสู่โลกออนไลน์ ไปจนถึงโลกเสมือน
ซึ่งกลุ่มลูกค้าสำคัญของแบรนด์ที่อยู่ในโลกนั้น ก็คือ “คนรุ่นใหม่”
เพราะฉะนั้น การใช้ Virtual Influencer ที่มีภาพลักษณ์ว่าอยู่ในโลกเสมือน ก็ช่วยให้แบรนด์สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างคนรุ่นใหม่ได้ ในทุกมิติของรูปแบบการใช้ชีวิต และในทุก ๆ ช่องทาง
- ดังนั้น การเปิดตัว Virtual Influencer “เคน” (Ken) และ “เคซี่” (Kazie) ของ Kbank จึงถือเป็นการสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้แบรนด์ดูล้ำสมัย และยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น
อีกทั้งยังเป็นโอกาสให้กับแบรนด์ ได้นำเสนอมุมมองใหม่ ๆ ที่แบรนด์ต้องการสื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมาย เพราะ Virtual Influencer นั้น สามารถเป็นอะไรก็ได้ที่แบรนด์อยากให้เป็น
- เช่นเดียวกันกับมนุษย์ที่เชื่อว่า ทุกคนสามารถค้นพบคำตอบใหม่ ๆ ให้กับตัวเอง เราต่างมีอิสระในการเลือกที่จะเป็น และได้ใช้ชีวิตตามนิยามของตัวเอง..
References
-https://www.marketthink.co/28261
-https://www.marketthink.co/21084
-https://www.longtungirl.com/4340
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.