ทำไม การลดราคาสินค้า บางทีก็ส่งผลเสีย ต่อผู้บริโภค

ทำไม การลดราคาสินค้า บางทีก็ส่งผลเสีย ต่อผู้บริโภค

22 ก.ค. 2022
ทำไม การลดราคาสินค้า บางทีก็ส่งผลเสีย ต่อผู้บริโภค | BrandCase
พอพูดถึงการลดราคาสินค้าลง หลายคนคงคิดว่า เรื่องนี้จะส่งผลเสียต่อผู้ขายสินค้า และส่งผลดีต่อผู้บริโภค แต่อาจแปลกใจถ้าจะบอกว่า การลดราคาสินค้าลง ก็อาจส่งผลเสียต่อผู้บริโภคได้เช่นกัน
แล้วทำไมถึงเป็นแบบนั้น ? BrandCase จะสรุปให้ฟัง
ถ้าถามว่า ปัจจัยอะไรที่มีผลทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อสินค้าหรือบริการสักอย่าง ? หนึ่งในนั้นต้องมีเรื่องของ “ราคา” รวมอยู่ด้วย
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่นั้นชอบสินค้าที่มีราคาถูก
ดังนั้น การลดราคาสินค้าหรือบริการลง ถือเป็นหนึ่งในกลยุทธ์การสร้างยอดขายที่หลายบริษัทนำมาใช้ เนื่องจากเห็นผลเร็ว
นอกจากนี้ ในแง่ของกิจการ ยังเป็นการช่วยเพิ่มฐานลูกค้า หรือเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาด และยังช่วยระบายสินค้าที่มีอยู่ในสต็อก
อย่างไรก็ตาม ก็ต้องบอกว่ากลยุทธ์การลดราคาก็เป็นเหมือนดาบสองคม
เพราะการลดราคาสินค้าหรือบริการลง หมายถึงรายได้ของบริษัทที่ลดลง ถ้าปริมาณการขายไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างที่คาดหวังไว้
และหากค่าใช้จ่ายไม่ได้ลดลงตามไปด้วย นั่นหมายถึง กำไรของกิจการที่จะลดลงตาม
ที่น่าสนใจก็คือ บางครั้งการลดราคา อาจไม่ทำให้รายได้ของกิจการเพิ่มขึ้นมากนัก ถ้าคู่แข่งของเราก็ใช้กลยุทธ์การลดราคาด้วยเช่นกัน
และถ้าต่างฝ่ายต่างแข่งขันกันลดราคาสินค้าและบริการของตนเองลง สุดท้ายจะนำไปสู่สงครามราคา (Price War)
อย่างเช่นกรณีของ ธุรกิจบริการขนส่งพัสดุในไทย โดยในช่วงที่ผ่านมา มีการแข่งขันกันเรื่องราคาอย่างดุเดือด
และความเสี่ยงที่ตามมาอีกอย่างหนึ่งของการใช้กลยุทธ์นี้บ่อย ๆ ก็คือ
การที่ธุรกิจ กำลังสร้างความคาดหวังให้กับลูกค้า เกี่ยวกับการลดราคาสินค้าและบริการของบริษัทในอนาคต
คือถ้าบริษัทหยุดลดราคาสินค้าและบริการ อาจทำให้พฤติกรรมการซื้อสินค้าของลูกค้านั้นเปลี่ยนไป เช่น อาจชะลอการซื้อออกไปก่อน
ที่แย่ไปกว่านั้นคือ ลูกค้าอาจเปลี่ยนไปซื้อสินค้าและบริการของคู่แข่งแทน
ในส่วนของผู้บริโภคนั้น จริงอยู่ที่ว่า ในระยะสั้น สงครามราคาเป็นสิ่งที่ดีสำหรับผู้บริโภคที่ได้รับประโยชน์จากราคาที่ต่ำลง
แต่อีกประเด็นสำคัญคือ ในระยะยาวนั้น การขายสินค้าในราคาส่วนลด คือปัจจัยที่บังคับให้ผู้ผลิตต้องผลิตสินค้าและบริการด้วยต้นทุนที่ต่ำลง
จนอาจทำให้คุณภาพของสินค้านั้นต่ำลงตามไปด้วย
อีกเรื่องที่ลืมไม่ได้ คือยิ่งสงครามราคามีความรุนแรงมากเท่าไร จำนวนบริษัทที่ขายสินค้าและบริการในอุตสาหกรรม โดยเฉพาะขนาดกลางและขนาดเล็ก ก็จะค่อย ๆ หายไป
จนทำให้เหลือบริษัทขนาดใหญ่เพียงไม่กี่แห่ง ที่ครอบครองส่วนแบ่งในตลาด
สุดท้าย พอในอุตสาหกรรมนั้นมีผู้เล่นน้อยราย จึงมีโอกาสที่บริษัทที่เหลือเหล่านั้น จะรวมตัวกัน พร้อมกับปรับเพิ่มราคาสินค้าและบริการขึ้น
ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้น กลยุทธ์การลดราคาสินค้า ที่เหมือนผู้บริโภคจะมีแต่ได้กับได้ในตอนแรก
ก็จะกลับกลายเป็นส่งผลเสีย ในตอนสุดท้าย นั่นเอง..
References
-https://en.wikipedia.org/wiki/Price_war
-https://th.kerryexpress.com/th/promotions
-https://blog.lnw.co.th/2021/10/28/flash-express-promotion-oct-21/
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.