สรุปกลยุทธ์ กสิกรไทย รุกตลาดอาเซียน เน้น “เวียดนาม”

สรุปกลยุทธ์ กสิกรไทย รุกตลาดอาเซียน เน้น “เวียดนาม”

5 ส.ค. 2022
สรุปกลยุทธ์ กสิกรไทย รุกตลาดอาเซียน เน้น “เวียดนาม” | BrandCase
หลังจากวิกฤติโควิด 19 เริ่มคลี่คลายลง หลาย ๆ ประเทศโดยเฉพาะประเทศในแถบอาเซียน หรือ AEC ก็เริ่มส่งสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในทิศทางบวก
นอกจากนี้ จำนวนของประชากรในภูมิภาคนี้ ส่วนมากยังเป็นวัยหนุ่มสาว และวัยทำงาน ซึ่งคนกลุ่มนี้ก็มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศในอนาคต
ล่าสุด ธนาคารกสิกรไทย จึงได้ประกาศเป้าหมายใหม่ โดยมี 2 ประเด็นที่น่าสนใจ
รายละเอียดเป็นอย่างไร BrandCase จะเล่าเคสนี้ให้ฟัง แบบเข้าใจง่าย ๆ
1. การเดินหน้าธุรกิจธนาคารยุคใหม่แห่งภูมิภาค
โดยจะเตรียมงบลงทุน 2,700 ล้านบาท เสริมแกร่งธนาคารแห่งภูมิภาค AEC+3 หรือ AEC บวกกับอีก 3 ประเทศ คือ ประเทศจีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น
สำหรับแผนธุรกิจของธนาคารกสิกรไทย ในภูมิภาค 3 ปีต่อจากนี้ ธนาคารกสิกรไทยจะเน้นการพัฒนาด้านเทคโนโลยี เสริมทัพทีมงาน การลงทุนในสตาร์ตอัป และเข้าซื้อกิจการ ในจุดยุทธศาสตร์สำคัญ
เงินลงทุน 2,700 ล้านบาทนี้ จะถูกนำไปสร้างเครือข่ายธุรกิจ เพื่อส่งมอบบริการบนดิจิทัลสู่ผู้ใช้งานในท้องถิ่นได้อย่างคล่องตัวมากขึ้น
ซึ่งจะทำให้ธนาคารกสิกรไทย เป็นธนาคารยุคใหม่แห่งภูมิภาค AEC+3
โดยมียุทธศาสตร์ Asset-Light Digital Banking Strategy ที่มุ่งเน้นรูปแบบการเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจ โดยลงทุนและร่วมมือกับบริษัทเทคโนโลยี และสตาร์ตอัปในท้องถิ่น
2. ขยายธุรกิจในเวียดนาม ตลาดดาวเด่นแห่งอาเซียน
หนึ่งในประเทศที่มีศักยภาพ และมีโอกาสในการเติบโตทางเศรษฐกิจที่น่าจับตาในเวลานี้ก็คือ ประเทศเวียดนาม
โดยทางธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า เวียดนามมีแนวโน้มเติบโตรวดเร็วที่สุดในอาเซียน ด้วยเหตุผลในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น
1. ศักยภาพในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากทั่วโลก
2. มีสัดส่วนหนี้สาธารณะ ต่ำกว่า 60% ของ GDP
3. มีนโยบายของภาครัฐที่ส่งเสริมเป้าหมาย ในการเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีแห่งใหม่ของเอเชีย
4. มีประชากรราว 100 ล้านคน มีอายุเฉลี่ยค่อนข้างน้อย ส่วนมากอยู่ในวัยทำงาน มีการเติบโตของชนชั้นกลางอย่างมีนัยสำคัญ โดยเห็นได้จากอัตราการเติบโตของการอุปโภคบริโภคที่ 7% ใน 3 ปีข้างหน้า
นอกจากนี้ ยังมีการคาดการณ์ว่า ภายในปี 2573 เวียดนามจะเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ ที่มีรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง และเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ภายในปี 2588
อีกมุมหนึ่งที่น่าสนใจคือ เวียดนามยังเป็นประเทศที่ เปิดกว้างต่อพฤติกรรมการใช้จ่ายทางดิจิทัล โดยพบว่าประชากรเวียดนาม มากกว่า 50% ซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์
ด้วยเหตุผลทั้งหมดนี้ ธนาคารกสิกรไทย จึงประกาศลุยตลาดเวียดนาม โดยจะมีการนำความรู้ความเชี่ยวชาญด้านดิจิทัลในไทยไปต่อยอด ไม่ว่าจะเป็น
- ดันให้ K PLUS Vietnam เป็นแกนหลักในการสร้าง Digital Lifestyle Ecosystem ให้แก่ลูกค้าบุคคล เพื่อให้ครอบคลุมลูกค้าได้ทั่วประเทศ
- ออกผลิตภัณฑ์สินเชื่อดิจิทัล โดยเริ่มจากบริการ KBank Biz Loan ที่ให้สินเชื่อแก่ร้านค้าขนาดเล็ก เน้นการเข้าถึงลูกค้าผ่านทางพันธมิตร และแพลตฟอร์มท้องถิ่น ผ่านการลงทุนของ KASIKORN VISION
- ตั้ง KBTG Vietnam เพื่อรองรับการพัฒนาเทคโนโลยี ในการให้บริการทั้งในเวียดนาม และในภูมิภาค
โดยตั้งเป้า กวาดยอดสินเชื่อ 20,000 ล้านบาท ในปี 2566
พร้อมดึงลูกค้าบุคคลเวียดนาม 1.2 ล้านรายในปีหน้า
ปัจจุบันธนาคารกสิกรไทย มีเครือข่ายการให้บริการในต่างประเทศ ในกลุ่มประเทศ AEC+3 และประเทศอื่น ๆ รวมทั้งสิ้น 16 แห่ง โดยมีสาขานครโฮจิมินห์ เป็นสาขาล่าสุด
นอกจากนั้นยังมี สถาบันทางการเงินที่เป็นพันธมิตรกว่า 84 แห่งทั่วโลก อีกด้วย..
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.