“Just-in-Time” ระบบจัดการ คลังสินค้า จากโตโยต้า สู่ร้านสะดวกซื้อ

“Just-in-Time” ระบบจัดการ คลังสินค้า จากโตโยต้า สู่ร้านสะดวกซื้อ

11 ส.ค. 2022
“Just-in-Time” ระบบจัดการ คลังสินค้า จากโตโยต้า สู่ร้านสะดวกซื้อ | BrandCase
ในการทำธุรกิจ สิ่งสำคัญที่เราคาดหวังเป็นอันดับต้น ๆ คือ กำไร
ไม่ว่าจะเป็น กำไรจากส่วนต่างราคา เมื่อซื้อมาและขายไป เช่น ร้านสะดวกซื้อ
หรือกำไรที่เป็นมูลค่าเพิ่มจากการผลิต ในแวดวงอุตสาหกรรม
แน่นอนว่าการควบคุมต้นทุนให้มีประสิทธิภาพ ก็ส่งผลโดยตรงต่อกำไร
ซึ่งการจัดการสต็อกสินค้า ก็เป็นหนึ่งในต้นทุนสำคัญ ที่ไม่ควรมองข้าม
คำถามสำคัญคือ เราจะบริหารสต็อกสินค้าอย่างไร
ให้ไม่เปลืองพื้นที่จัดเก็บ ไม่ต้องเก็บสินค้าค้างไว้นาน ๆ แต่ก็ยังคงมีสินค้าไว้ขายอย่างไม่ขาดมือ
BrandCase จะสรุปเรื่องนี้ให้ฟัง แบบเข้าใจง่าย ๆ
ในการจะผลิตรถยนต์ครั้งละมาก ๆ ได้นั้น โรงงานจำเป็นต้องมีชิ้นส่วน สำหรับประกอบรถยนต์จำนวนมหาศาล เพื่อป้อนเข้าสู่สายพานลำเลียงในระบบการผลิต
ดังนั้น จึงต้องใช้พื้นที่เยอะมาก ๆ เพื่อเก็บชิ้นส่วนรถยนต์
ซึ่งต่อมา โตโยต้า ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ สัญชาติญี่ปุ่น ก็ได้เห็นปัญหาและความสูญเปล่า จากการที่ต้องเก็บชิ้นส่วนรถยนต์จำนวนมากเหล่านั้น
เพราะนอกจากชิ้นส่วนที่รอการผลิต จะไม่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้แล้ว กลับทำให้มีต้นทุนมากขึ้นด้วย
ไม่ว่าจะเป็นค่าเช่าสถานที่เก็บ ค่าไฟ ค่าจ้างพนักงานเฝ้าคลังสินค้า และค่าเสื่อมราคาของสินค้า
ด้วยเหตุนี้เอง โตโยต้า จึงได้นำระบบที่เรียกว่า “Just-in-Time” มาใช้ในการจัดการคลังสินค้าเป็นบริษัทแรก
ซึ่งหลักการของ Just-in-Time ก็คือ ผลิตสิ่งของให้ได้ตรงตามจำนวนที่ลูกค้าต้องการ และทันเวลาพอดี
ผลที่ตามมาก็คือ ทั้งวัตถุดิบสำหรับรอการผลิต และสินค้าที่ผลิตเสร็จเพื่อรอการจำหน่าย ก็จะเหลือน้อยที่สุด และทำให้ใช้พื้นที่จัดเก็บสินค้าน้อยลงตามไปด้วย
สำหรับระบบ Just-in-Time ในฉบับของโตโยต้านั้น จะต้องมีเครื่องมือที่เรียกว่า “Kanban” ร่วมด้วย
Kanban เป็นเครื่องมือที่คุณ Taiichi Ohno วิศวกรประจำบริษัทโตโยต้า คิดค้นขึ้นมา
โดยไอเดียของ Kanban มีที่มาจาก “ร้านสะดวกซื้อ”
เมื่อคุณ Ohno สังเกตเห็นว่าพนักงานในหลาย ๆ ร้านสะดวกซื้อ จะรู้ว่าต้องเติมสินค้าบนชั้นวางจำนวนเท่าไร ทั้งที่ไม่ได้เข้าไปเช็กจำนวนที่ชั้นวางสินค้า
ความลับก็คือ บนสลิปจ่ายเงินของลูกค้า จะมีจำนวนสินค้าที่ถูกซื้อออกไปกำกับไว้
และเมื่อต้องเติมสินค้า ก็เพียงแค่นำสลิปจ่ายเงินของลูกค้า มาดูจำนวนสินค้าที่ขายออกไป แล้วไปเบิกกับคลังสินค้าในจำนวนที่เท่ากัน
ภายหลังไอเดียของ Kanban ก็ได้ถูกพัฒนา ให้เป็นลักษณะของป้ายที่แสดงสัญลักษณ์ชัดเจน และระบุให้ผู้ผลิตทราบว่าต้องการสินค้าอะไร จำนวนเท่าไร
เมื่อผู้ผลิตได้รับ Kanban ก็จะผลิตตามความต้องการ
ดังนั้น ทั้งร้านค้าและผู้ผลิตจึงไม่ต้องสต็อกวัตถุดิบไว้มากเกินความจำเป็น
ยกตัวอย่าง เช่น เมื่อโรงงานประกอบชิ้นส่วนรถยนต์ ทราบว่ามีความต้องการซื้อในตลาดจำนวน 100 คัน
โรงงานประกอบชิ้นส่วน จะส่ง Kanban ไปให้ซัปพลายเออร์ผู้ผลิตชิ้นส่วน ว่าต้องการชิ้นส่วนอะไรบ้าง จำนวนเท่าไร
และเมื่อซัปพลายเออร์ได้รับ Kanban มาแล้ว
ก็จะส่งต่อไปยังซัปพลายเออร์ ลำดับรองลงไปของตัวเองเป็นทอด ๆ จนถึงต้นทางของห่วงโซ่อุปทาน
เมื่อทุกหน่วยการผลิต ผลิตสินค้าตรงตาม Kanban ที่ได้รับ และส่งกลับมาทัน ภายในเวลาที่กำหนด
สิ่งที่เกิดขึ้นคือ โรงงานประกอบชิ้นส่วนรถยนต์ ก็จะมีสินค้าสำหรับส่งมอบให้กับลูกค้าได้ตามต้องการ โดยมีสินค้าคงคลังในจำนวนน้อยที่สุด
แล้วทีนี้ถ้านำระบบ Kanban และ Just-in-Time ไปใช้ในร้านสะดวกซื้อ จะเป็นอย่างไร ?
อย่างที่ได้กล่าวไปว่า พนักงานสามารถรู้จำนวนสินค้าที่ต้องเติมได้ โดยดูจากสลิปของลูกค้า
ทุกครั้งที่ลูกค้ามาซื้อของและจ่ายเงิน พนักงานก็จะยิงบาร์โคดที่สินค้า และรายการสินค้าจะถูกบันทึกเข้าไปในระบบคอมพิวเตอร์
ยอดขายของสินค้าแต่ละชิ้น ก็จะกลายเป็น Kanban ในการสั่งสินค้าเข้ามาเพิ่มโดยอัตโนมัติ
อีกจุดที่ต้องสังเกตในระบบ Just-in-Time ก็คือ รอบการส่งสินค้า และระยะทางระหว่างร้านสะดวกซื้อ กับซัปพลายเออร์
ถ้ารอบการส่งสินค้าเป็นแบบนาน ๆ ครั้ง หรือระยะทางที่ว่านั้นอยู่ไกลกัน เราก็จำเป็นจะต้องสั่งสินค้ามาสต็อกเป็นจำนวนมาก ทำให้ต้องใช้เงินจำนวนมากตามไปด้วย
แต่ถ้าเราสามารถทำให้มีรอบส่งสินค้าถี่ขึ้น เราก็มีโอกาสสั่งสินค้าครั้งละน้อย ๆ แต่สั่งบ่อย ๆ ครั้ง ทำให้ใช้ต้นทุนในการซื้อสินค้ามาสต็อกน้อยลงไปด้วย
นอกจากนั้นการปรับปรุงวิธีการขายสินค้า ให้สามารถขายสินค้าหมดภายในระยะเวลาสั้น ๆ ก็จะทำให้บริษัทมีสภาพคล่องมากขึ้น และสามารถนำเงินนั้นไปหมุนใช้ในกิจการ หรือซื้อสินค้ารอบใหม่มาขายได้เร็วขึ้น
ยกตัวอย่างร้านสะดวกซื้อ เซเว่น อีเลฟเว่น ในไทย ของ CPALL ที่มีระยะเวลาในการขายสินค้าเฉลี่ยประมาณ 30 วัน
หมายความว่า นับตั้งแต่ เซเว่น อีเลฟเว่น ซื้อสินค้าเข้ามาในร้าน สินค้านั้นจะถูกขายออก และได้รับเงินสดภายในเวลา 30 วัน
ระยะเวลาในการขายสินค้าเฉลี่ย ยิ่งน้อย ก็จะยิ่งดี เพราะจะทำให้กิจการมีเงินสดเข้ามาหมุนใช้ได้เร็ว
อย่างไรก็ตาม การใช้ระบบ Just-in-Time ในการบริหารคลังสินค้า ก็อาจมีข้อจำกัดสำหรับสินค้า ที่มีความต้องการผันผวนสูง จนไม่สอดคล้องกับระยะเวลาในการผลิต และรอบการจัดส่ง
ตัวอย่างเช่น ชุดตรวจ ATK ที่มีสินค้าไม่เพียงพอในช่วงที่การระบาดของโควิด 19 เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่พอการระบาดเบาลง ความต้องการก็อาจไม่ได้เยอะมากเหมือนช่วงก่อนหน้า
โดยสรุปแล้ว Just-in-Time เป็นแนวคิดในการบริหารสินค้าคงคลังให้มีประสิทธิภาพ โดยรู้ว่าต้องสั่งสินค้าอะไร จำนวนเท่าไร และเมื่อไร
ซึ่งต้องอาศัยการเก็บข้อมูล และส่งต่อข้อมูลที่แม่นยำ
รวมถึงการควบคุมรอบขนส่งสินค้าให้มีมาตรฐาน
จนนำไปสู่การลดต้นทุนในการสต็อกสินค้า และได้กำไรแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย นั่นเอง..
References
-https://www.softbankthai.com/Article/Detail/906
-https://www.scglogistics.co.th/th/just-in-time-101-การจัดการสินค้าคงคลั/
-https://factorium.tech/article-kanban-toyota/
-https://www.youtube.com/watch?v=u5vFlKu2p30
-https://www.set.or.th/th/market/product/stock/quote/cpall/factsheet
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.