ทีวี สินค้าที่มีคนเคยเชื่อว่า จะขายไม่ออก

ทีวี สินค้าที่มีคนเคยเชื่อว่า จะขายไม่ออก

21 ก.ย. 2018
ทีวี สินค้าที่มีคนเคยเชื่อว่า จะขายไม่ออก / โดย ลงทุนแมน
“ทีวี ไม่มีทางขายได้ เพราะไม่นานผู้คนจะเบื่อ ที่ต้องมานั่งจ้องกล่องไม้ในทุกค่ำคืน”
นี่คือคำทำนาย ในตอนที่มีการคิดค้นการส่งสัญญาณโทรทัศน์ขึ้นมาได้ ซึ่งถือเป็นสิ่งแปลกใหม่ สำหรับคนยุคนั้น
แต่เมื่อเวลาผ่านไป เครื่องรับสัญญาณโทรทัศน์ หรือที่เรียกกันว่าทีวี กลับกลายเป็นของจำเป็น ที่ทุกบ้านจะต้องมี
เรื่องราวนี้ มีความเป็นมาอย่างไร ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
ไอเดียการส่งภาพจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง ถูกคิดค้นขึ้นโดยนักประดิษฐ์ ชื่อ ฟีโล ที ฟาร์นสเวิร์ธ
ในตอนที่เขาอายุ 14 ปี ได้เกิดความคิดระหว่างที่ไถร่องดินในไร่ที่บ้าน ว่าอาจมีความเป็นไปได้ ที่จะใช้เส้นแนวนอนแบบเดียวกันกับร่องดิน ไปสร้างเป็นภาพ ในเครื่องรับส่งสัญญาณที่เขาสนใจมาตั้งแต่เด็ก จึงได้ทำการทดลองด้วยตนเองเรื่อยมา
จนกระทั่งในปี 1927 เมื่อเขาอายุ 21 ปี ก็ประสบความสำเร็จ ในการส่งภาพ โดยการแปลงเป็นสัญญาณไฟฟ้า และแพร่คลื่นโทรทัศน์ไปยังเครื่องรับ ซึ่งเราเรียกเครื่องรับสัญญาณดังกล่าวว่า “ทีวี” นั่นเอง
แต่ทว่า ในช่วงเวลานั้น สื่อที่ครองตลาดอยู่คือ วิทยุและหนังสือพิมพ์ โดยคนอเมริกันซื้อหนังสือพิมพ์ถึงวันละ 40 ล้านฉบับ (ปัจจุบันเหลือ 30 ล้านฉบับ)
จึงมีหลายความเห็น ที่ไม่เชื่อว่า ทีวี จะเข้ามามีส่วนแบ่งตลาดได้อย่างจริงจัง หรืออาจจะไม่มีความจำเป็นต่อมนุษย์มากนัก เช่น
หนังสือพิมพ์ New York Times ให้ความเห็นว่า ทีวีจะไม่สามารถแข่งขันในวงการสื่อได้ เนื่องจากคิดว่า คนอเมริกันส่วนใหญ่ ไม่มีเวลา มานั่งจ้องจอสี่เหลี่ยม เป็นเวลานานหรอก
อีกรายหนึ่ง คือ 20th Century Fox ที่วิเคราะห์ว่า ในเวลาไม่นาน ทีวีจะเป็นสินค้าที่ขายไม่ออก เพราะคนคงจะเบื่อและเหนื่อยกับการนั่งจ้องมันเฉยๆ ทั้งวันทั้งคืน
ซึ่งในตอนแรกนั้น ก็อาจจะไม่ผิดเท่าไร เพราะอุตสาหกรรมนี้ยังใหม่ ทีวีเพิ่งเริ่มวางขายเชิงพาณิชย์เมื่อปี 1938 แต่มีเพียง 37 สถานีให้บริการ จึงยังมีรายการให้ดูน้อย และเชื่อว่าประชาชน ยังไม่คุ้นเคยกับการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตประจำวัน
ปี 1940 สหรัฐมีประชากร 132 ล้านคน แต่มีคนซื้อทีวีใช้ ไม่ถึง 10,000 เครื่อง
แต่เมื่อเวลาผ่านไป เริ่มมีผู้เล่นเข้ามาผลิตคอนเทนต์เยอะขึ้น ขณะที่ผู้คนเอง ก็เข้าใจประโยชน์ของทีวีมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของข่าวสาร และความบันเทิง ทำให้ยอดขายทีวี พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว
ปี 1950 สหรัฐมีประชากร 151 ล้านคน มีคนซื้อทีวีใช้ 6 ล้านเครื่อง
ปี 1960 สหรัฐมีประชากร 179 ล้านคน มีคนซื้อทีวีใช้ 60 ล้านเครื่อง
ผ่านมาถึงปัจจุบัน ทีวีเป็นอุปกรณ์ที่คนในสหรัฐ ต้องมีติดบ้าน
ปี 1997 สหรัฐมีประชากร 272 ล้านคน มีคนซื้อทีวีใช้ 219 ล้านเครื่อง
ปี 2007 สหรัฐมีประชากร 301 ล้านคน มีคนซื้อทีวีใช้ 250-280 ล้านเครื่อง
โดยเฉลี่ยแล้ว คนสหรัฐจะครอบครองทีวี 2.24 เครื่องต่อคน และในหนึ่งวัน จะใช้เวลาดูทีวี 270 นาที หรือราว 4 ชั่วโมงครึ่ง
นั่นทำให้ อุตสาหกรรมสื่อทางทีวีในสหรัฐ มีมูลค่าสูงถึง 5.1 ล้านล้านบาท
ส่วนในประเทศไทยนั้นใน ปี 2560 โฆษณาทางทีวีมีมูลค่าอยู่ที่ 65,786 ล้านบาท แบ่งเป็น ทีวีแอนะล็อก 40,966 ล้านบาท ทีวีดิจิทัล 21,907 ล้านบาท และทีวีเคเบิล/ดาวเทียม 2,913 ล้านบาท
ซึ่งในปัจจุบัน ทีวีก็มีการพัฒนา ตามเทคโนโลยีและพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วของผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นด้านคุณภาพ ความคมชัด การถ่ายทอดสดเหตุการณ์ต่างๆ การเกิดของ Smart TV เพื่อรองรับอินเทอร์เน็ตและแอปพลิเคชันต่างๆ ในอนาคตทีวีก็คงยังไม่หายไปไหน และน่าจะยังอยู่คู่สังคมมนุษย์ต่อไปในอนาคตอีกนาน เพียงอาจจะเปลี่ยนรูปแบบของคอนเทนต์ที่อยู่ในทีวี
เรื่องนี้ แสดงให้เห็นว่า
นวัตกรรมใหม่ๆ อาจจะดูแปลกตาหรือไม่เข้ากับพฤติกรรมมนุษย์ในตอนที่มีการคิดค้นขึ้นมา เหมือนเช่น ทีวี หรือแม้กระทั่ง สมาร์ตโฟน ซึ่งผลิตภัณฑ์ต่างๆ นั้น ต้องใช้เวลาในการสร้างตลาด และอาจจะดูเหมือนขายไม่ออกในช่วงแรก
แต่แค่พริบตาเดียว เมื่อทุกอย่างลงตัว มันอาจจะกลายเป็นสินค้าที่ชีวิตคนเราจะขาดไปไม่ได้เลย
เรื่องนี้เป็นข้อคิดในเรื่องการลงทุนได้เช่นกัน หากเรามองภาพในระยะที่สั้นเกินไป ก็อาจทำให้เราพลาดโอกาสที่สำคัญในระยะยาวได้เหมือนกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับทีวี..
----------------------
ครั้งแรกของประเทศไทย กับแพลตฟอร์ม #SocialKnowledge ที่เชื่อมโยงความคิดดีๆ ของทุกคนเข้าด้วยกัน แอปพลิเคชันนี้ชื่อ "blockdit" โหลดได้ที่ blockdit.com
ความคิดดีๆ เกิดขึ้นที่บล็อกดิต..
.
หนังสือลงทุนแมนไว้อ่านยามว่าง เล่ม 1.0-6.0 ซื้อได้ที่ลิงก์นี้ lazada.co.th/shop/longtunman
.
อินสตาแกรม ไว้ดูภาพสวยๆ instagram.com/longtunman
.
ทวิตเตอร์กระชับฉับไว twitter.com/longtunman
.
ไลน์ส่งข้อความตรงวันละครั้ง line.me/R/ti/p/%40longtunman
----------------------
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.