วิกฤติตุรกี ค่าเงินอ่อน เงินสำรองหาย ไล่ผู้ว่าธนาคารกลาง

วิกฤติตุรกี ค่าเงินอ่อน เงินสำรองหาย ไล่ผู้ว่าธนาคารกลาง

6 พ.ค. 2021
วิกฤติตุรกี ค่าเงินอ่อน เงินสำรองหาย ไล่ผู้ว่าธนาคารกลาง /โดย ลงทุนแมน
วิกฤติในประเทศตุรกี ได้กลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้ง
หลังจากที่ผู้ว่าธนาคารกลางถูกปลดแบบฟ้าผ่า
และล่าสุดก็ได้มีประเด็นเพิ่มเติมเรื่องทุนสำรองระหว่างประเทศมูลค่ากว่า 4 ล้านล้านบาทหายไป
ปัญหาเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่
เพราะมันเริ่มเป็นประเด็นมาตั้งแต่ 3 ปีที่แล้ว
และยังทวีความรุนแรงขึ้นมาถึงปัจจุบัน ทางเลือกที่ประเทศตุรกี
จะนำมาใช้ต่อสู้เพื่อยื้อสถานการณ์ ก็เหลือน้อยลงไปทุกที
แล้วตลอด 3 ปีมานี้ มันเกิดอะไรขึ้นบ้าง ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
เราลองมาดูสถานการณ์ของตุรกีตั้งแต่ปี 2018 จนถึงตอนนี้
การเติบโตของ GDP ลดลงจาก 7.5% ในปี 2017 มาเหลือ 1.8% ในปี 2020
ในขณะที่ ประเทศตุรกีมีอัตราเงินเฟ้อ เพิ่มขึ้นมากกว่า 12% ต่อปี ติดต่อกัน มาตั้งแต่ปี 2018
นั่นจึงทำให้ค่าเงินลีรา อ่อนค่าอย่างรุนแรงกว่า 115% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ
ทุนสำรองระหว่างประเทศก็ได้ลดลงไปเกินกว่าครึ่งหนึ่ง
จนเหลือน้อยที่สุด ในรอบ 18 ปี
จากตัวเลขที่เห็นคงพอบอกได้ว่า ประเทศตุรกี ไม่ได้อยู่ในภาวะปกติ
ซึ่งจริง ๆ แล้ว วิกฤติในลักษณะนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นกับตุรกีเป็นประเทศแรก
เพราะมันมักจะเกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนา ที่เศรษฐกิจกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว
อย่างเช่น อาร์เจนตินา บราซิล และแอฟริกาใต้ เมื่อปี 2018
ที่แม้บริบทในแต่ละประเทศจะต่างกัน แต่รูปแบบและสาเหตุมีความคล้ายคลึงกัน
จุดร่วมที่สำคัญของประเทศเหล่านี้ก็คือ “การใช้เงินเกินตัวของรัฐบาล”
หรือก็คือ งบประมาณที่ขาดดุลอย่างหนัก เพื่อต้องการเร่งให้เศรษฐกิจโตได้เร็วภายในระยะเวลาอันสั้น
เมื่อต้องการใช้เงินเยอะ จึงต้องตามมาด้วยการก่อหนี้มหาศาล
ที่นอกจากจะกู้ยืมจากภายในประเทศแล้ว ประเทศเหล่านี้ก็ยังกู้ยืมจากต่างประเทศด้วย
นั่นจึงทำให้หนี้สินส่วนใหญ่ เป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ
ซึ่งการกระตุ้นให้เศรษฐกิจโตเร็วภายในเวลาอันสั้นที่มาจากการก่อหนี้จำนวนมาก
มักเป็นการเติบโตที่คงอยู่ได้แค่ชั่วคราว และถ้าอยากให้เศรษฐกิจเติบโตเพิ่มขึ้นอีก
ก็ต้องก่อหนี้เพิ่มตามไปด้วย
และเมื่อเศรษฐกิจโตได้เร็ว แน่นอนว่าเงินเฟ้อก็จะเพิ่มขึ้นเร็วตามไปด้วย
ตรงนี้จะเป็นหน้าที่ของธนาคารกลาง ที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อควบคุมระดับเงินเฟ้อ
เพราะถ้าเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเร็วจนคุมไม่อยู่ ก็เท่ากับว่ามูลค่าของเงินจะยิ่งด้อยค่าเร็วขึ้น
และใครที่มีสกุลเงินนั้นอยู่ก็คงอยากขาย จนทำให้สกุลเงินนั้นอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว
เมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่น
โดยท้ายที่สุดแล้ว กลไกทั้งหมดนี้ ก็ส่งผลกลับไปที่ภาระหนี้สินของรัฐบาลเอง
เพราะเมื่อดอกเบี้ยในประเทศเพิ่มขึ้น ต้นทุนทางการเงินก็สูงขึ้น รวมถึงต้นทุนของหนี้ที่รัฐบาลกู้ยืมด้วย
และค่าเงินที่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ก็ทำให้หนี้ที่เป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ มีมูลค่ามากขึ้นทันที
ซึ่งมูลค่าหนี้สินของภาครัฐที่เพิ่มขึ้นนี้ ก็ยิ่งทำให้ความน่าเชื่อถือของประเทศนั้นลดลง
กลายเป็นปัจจัยเร่งให้สกุลเงินนั้นอ่อนค่าเร็วขึ้นไปอีก วนเวียนไปเหมือนเป็น “งูกินหาง”
เหตุการณ์ลักษณะนี้ที่เกิดขึ้น
ก็จะถูกนักลงทุนที่มองเห็นโอกาสในการทำกำไรเข้ามาร่วมโจมตีให้ค่าเงินประเทศนั้นอ่อนลงไปอีก
และในปี 2018 ประเทศที่ถูกโจมตีค่าเงินรุนแรงที่สุด ก็คืออาร์เจนตินาและตุรกี
โดยค่าเงินเปโซของอาร์เจนตินา อ่อนค่าลงกว่า 100% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ภายในเวลา 4 เดือน
ในขณะที่ค่าเงินลีราของตุรกี อ่อนค่าลงกว่า 80% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ภายในเวลา 5 เดือน
อย่างไรก็ตามทั้ง 2 ประเทศนี้ เลือกตอบสนองด้วยแนวทางที่ต่างกัน
สำหรับประเทศอาร์เจนตินา
เลือกที่จะยอมเจ็บ เพราะอยากให้จบ
โดยยอมเจ็บในที่นี้ก็คือการที่ธนาคารกลาง ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ที่จากเดิมก็สูงมากอยู่แล้ว
ให้สูงขึ้นไปอีกเพราะต้องการชะลอการอ่อนค่าของเงินเปโซให้ได้เร็วที่สุด
จึงได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจาก 28.75% ไปสูงสุดที่ 85.75% ภายในเวลา 1 ปี
จนสามารถทำให้ค่าเงินเปโซผันผวนน้อยลงได้
แต่ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่สูงขนาดนี้ ก็ต้องแลกมากับการที่รัฐบาลแบกรับภาระหนี้สินต่อไปไม่ไหว
ซึ่งทางออกเดียวที่เหลือ ก็คือการขอกู้เงินจาก IMF และเข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้
รวมทั้งใช้มาตรการรัดเข็มขัด นั่นคือรัฐบาลต้องลดการใช้จ่ายลง
เพื่อทำให้งบประมาณที่ขาดดุลมหาศาล กลับสู่ภาวะปกติ
แต่สำหรับประเทศตุรกี ก็ได้เลือกวิธีที่จะยื้อสถานการณ์และยอมเหนื่อยต่อ
ในปี 2018 ธนาคารกลางตุรกีได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจาก 8% ไปที่ 24%
แต่ประธานาธิบดีตุรกี Recep Tayyip Erdoğan กลับแสดงความไม่พอใจอย่างมาก
เพราะเขามีความเชื่อว่าอัตราดอกเบี้ยสูง เป็นต้นเหตุของเงินเฟ้อ ซึ่งสวนทางกับทฤษฎี หรือที่เรียกว่า “Unorthodox”
ผู้ว่าการธนาคารกลางตุรกีดังกล่าว จึงถูกไล่ออก
และล่าสุด เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ตุรกีก็ต้องเผชิญกับเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นอีกครั้งจากการอัดฉีดเงินเพื่อสู้กับโควิด 19
ธนาคารกลางจึงจำเป็นที่จะต้องปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็เหมือนกับการฉายหนังซ้ำนั่นคือ
ผู้ว่าการธนาคารกลางตุรกีคนใหม่ก็ถูกไล่ออกอีก..
เมื่อการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางตุรกีขัดกับความเชื่อของประธานาธิบดี
ธนาคารกลางตุรกีจึงต้องพึ่งพาอีกเครื่องมือหนึ่งแทนดอกเบี้ย นั่นก็คือ “ทุนสำรองระหว่างประเทศ”
โดยทุนสำรองระหว่างประเทศ จะถูกเก็บอยู่ในหลายรูปแบบ และส่วนใหญ่จะเป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ
ซึ่งปกติแล้ว ธนาคารกลางจะใช้เครื่องมือนี้ในการดูแลเสถียรภาพของค่าเงิน เมื่อยามจำเป็นเท่านั้น
สำหรับกลไกการนำไปใช้ก็คือ
ธนาคารกลางจะนำทุนสำรองที่อยู่ในรูปดอลลาร์สหรัฐนี้ ไปแลกซื้อเงินสกุลตัวเอง
เพื่อช่วยให้สกุลเงินของตัวเองแข็งค่าขึ้น เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ
แต่การที่ตุรกีขึ้นดอกเบี้ยได้อย่างจำกัด ทำให้เครื่องมืออย่างทุนสำรองระหว่างประเทศต้องรับบทหนัก
สะท้อนได้จากปริมาณทุนสำรองระหว่างประเทศ ที่ลดลงไปมากกว่าครึ่งหนึ่ง ภายในเวลา 3 ปี
และยังมีการประเมินว่า ปี 2020 เพียงปีเดียว ตุรกีใช้เงินกว่า 3 ล้านล้านบาท ในการแทรกแซงค่าเงิน
เพื่อประคองให้ลีราไม่อ่อนค่าอย่างรุนแรง
ซึ่งทำให้ในตอนนี้ ทั้งพรรคฝ่ายค้านและประชาชน
ต่างร่วมกันถามหาทุนสำรองระหว่างประเทศ
ที่หายไปกว่า 4 ล้านล้านบาท เพื่อใช้ในการพยุงค่าเงินตลอด 3 ปีที่ผ่านมา
สิ่งที่สำคัญก็คือ ต้องไม่ลืมว่าทุนสำรองระหว่างประเทศที่ตุรกีใช้ประคองสถานการณ์มาจนถึงตอนนี้
หากยังลดลงอย่างรวดเร็วต่อไป ก็อาจถึงวันที่ทุนสำรองเหลือน้อยมาก จนประเทศต้องยอมแพ้
คล้ายกับที่ประเทศไทยเคยเจอ เมื่อตอนวิกฤติต้มยำกุ้ง
ถึงตรงนี้ ก็คงต้องติดตามกันต่อไปว่า
เงินสำรองของตุรกีจะพอสู้กับวิกฤติค่าเงินได้หรือไม่
แต่ดูแล้วอนาคตต่อจากนี้ ประเทศตุรกีน่าจะเหนื่อยไม่น้อยเลย..
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
วิกฤติค่าเงินของตุรกี ทำให้ประชาชนบางส่วนเลือกที่จะซื้อสินทรัพย์ดิจิทัลมาเก็บไว้เพื่อรักษาความมั่งคั่ง ไม่ให้ลดลงจากเงินเฟ้อ
อย่างไรก็ตามในเดือนเมษายนที่ผ่านมา
ตลาด Exchange ซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีชื่อ Thodex อยู่ ๆ ก็ปิดตัวลง โดยผู้ก่อตั้งได้หนีออกนอกประเทศ พร้อมทิ้งให้ผู้ใช้งาน 3.9 แสนราย ไม่สามารถนำเงินออกจากระบบได้
เรียกได้ว่า คนตุรกี 3.9 แสนรายนี้ กำลังหนีเสือปะจระเข้ เลยทีเดียว..
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://www.bloomberg.com/news/articles/2021-04-21/erdogan-says-turkey-used-165-billion-of-reserves-in-two-years
-https://www.bloomberg.com/opinion/articles/2021-04-22/question-over-128-billion-in-foreign-exchange-reserves-rattles-turkey-s-erdogan
-https://edition.cnn.com/2021/03/22/economy/turkey-lira-erdogan-central-bank-intl-hnk/index.html
-https://money.cnn.com/2018/08/12/investing/turkish-lira-currency-crisis/index.html
-https://www.reuters.com/article/turkey-cenbank-goldmansachs-int-idUSKBN27L258
-https://www.reuters.com/article/turkey-cenbank-reserves-int-idUSKBN2BV1P6
-https://www.reuters.com/article/us-argentina-debt-idUSKBN20630Y
-https://tradingeconomics.com/turkey/foreign-exchange-reserves
-https://tradingeconomics.com/thailand/foreign-exchange-reserves
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.