5 เรื่องที่ รีด เฮสติงส์ เรียนรู้จากการเป็น CEO ของ Netflix

5 เรื่องที่ รีด เฮสติงส์ เรียนรู้จากการเป็น CEO ของ Netflix

7 มิ.ย. 2021
5 เรื่องที่ รีด เฮสติงส์ เรียนรู้จากการเป็น CEO ของ Netflix | THE BRIEFCASE
จาก Pain Point ในอดีตที่เคยถูกปรับจากการคืนวิดีโอภาพยนตร์ล่าช้า
สู่ผู้ปฏิวัติวงการบันเทิง ให้เข้าสู่ระบบวิดีโอสตรีมมิง
จนวันนี้ Netflix ได้กลายมาเป็นบริษัทที่มีมูลค่ากว่า 6.9 ล้านล้านบาท
ซึ่งผู้ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จนี้ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน
แต่คือ รีด เฮสติงส์ หนึ่งในผู้ก่อตั้งและ CEO ร่วมของ Netflix ในปัจจุบันนั่นเอง
แล้วเขาได้เรียนรู้อะไรบ้างจากการเป็น CEO ของ Netflix ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ?
THE BRIEFCASE จะสรุปให้ฟัง
1. No Rules Rules หรือ กฎของที่นี่คือการไม่มีกฎ
การที่บริษัทไม่มีนโยบายลาพักร้อน พนักงานสามารถลางานได้ตามที่ตัวเองต้องการ
ตามความหนักเบาของการทำงานในแต่ละทีม
หรือการที่บริษัทไม่มีนโยบายด้านค่าใช้จ่าย
แต่ยึดหลักการเดียวคือ “ใช้เงินให้เกิดประโยชน์กับ Netflix มากที่สุด”
เช่น ถ้าใช้เงินเยอะ แล้วสามารถอธิบายให้กับ CEO ฟัง ถึงเหตุผลในการใช้เงินได้เป็นอย่างดี
ก็สามารถใช้เงินในส่วนนี้ได้ แต่ถ้าใช้เงินเยอะแต่ไม่สามารถอธิบายเหตุผลได้ และไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อบริษัท ก็ไม่ควรใช้เงินก้อนนี้
ซึ่งหลังจากการทำนโยบายแบบนี้ออกไป รีด เฮสติงส์ ก็พบว่า พนักงานมีความสุข
มีความยืดหยุ่นในการทำงานและมีผลงานที่ดีและเร็วมากขึ้น
คำว่า No Rules Rules ยังถูกนำมาตั้งเป็นชื่อหนังสือเล่มล่าสุดที่เขาเขียนขึ้นมาเองอีกด้วย
2. การจะเป็นบริษัทระดับโลกได้ ต้องมีวัฒนธรรมองค์กรที่เป็นสากล
จากการที่ Netflix มีการขยายองค์กรไปทั่วโลก ซึ่งในแต่ละพื้นที่ก็มีวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน
โดยเฉพาะในเรื่องการให้ฟีดแบ็กซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เพื่อให้ทำงานร่วมกันได้ดีขึ้น
โดยการให้ฟีดแบ็กของ Netflix ได้ยึดหลักว่า “ต้องจริงใจและปรารถนาดีกับคนที่จะถูกฟีดแบ็กจริง ๆ”
ซึ่งผลงานของพนักงานจะดีขึ้นทันทีหากมีกระบวนการฟีดแบ็กที่ดี
โดย Netflix ใช้หลัก 4A ในการให้ฟีดแบ็ก ได้แก่
- Aim to Assist การให้ฟีดแบ็กอย่างจริงใจช่วยเหลือกันให้เป็นคนดีขึ้น เก่งขึ้น ไม่ใช่ให้ฟีดแบ็ก เพื่อการระบายอารมณ์
- Actionable Feedback การบอกเรื่องที่ควรปรับปรุงและเสนอวิธีการในการพัฒนาให้ดีขึ้น
- Appreciate พยายามทำให้ผู้รับฟังรู้สึกว่าตัวเองได้รับคำชม และประทับใจในสิ่งที่เราพูด เพราะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นว่าเขากำลังถูกพัฒนาให้เป็นคนที่เก่งขึ้นอยู่
- Accept or Discard ยอมรับหรือทิ้งไป ถ้าเรื่องที่ถูกฟีดแบ็กเป็นเรื่องจริงก็ให้ยอมรับและปรับปรุงตัว แต่ถ้าไม่ใช่เรื่องจริงก็ให้ปล่อยไปไม่ต้องเก็บมาใส่ใจ
3. กล้าที่จะเห็นต่าง และพาบริษัทก้าวไปข้างหน้าด้วยความจริงใจ
รีด เฮสติงส์ บอกว่าหนึ่งในการตัดสินใจที่ผิดพลาดที่สุดของเขา คือ Qwikster
ซึ่งในอดีตนั้น Netflix เคยทำธุรกิจให้เช่า DVD มาก่อน แต่เขาเห็นว่า
อนาคตของ Netflix ไม่ใช่การให้เช่า DVD อีกต่อไป แต่เป็นการให้บริการ Online Streaming
และเขาก็ไม่อยากให้ Netflix ต้องทำธุรกิจทั้ง 2 อย่างพร้อม ๆ กัน
จึงตัดสินใจแยกธุรกิจออกเป็น 2 บริษัท โดย Qwikster เป็นบริษัทสำหรับเช่า DVD โดยเฉพาะ
และ Netflix จะไปโฟกัสธุรกิจวิดีโอสตรีมมิงเพียงอย่างเดียว
ซึ่งการแยกออกเป็น 2 บริษัทนี้เอง ทำให้ต้องเก็บค่าสมาชิกแยกกัน
จึงทำให้ผู้บริโภคไม่พอใจ และมีลูกค้าจำนวนมากยกเลิกการเป็นสมาชิกของ Netflix
โดยรีด ก็ได้มาพบความจริงภายหลังว่า ทีมงานของเขาหลายคนไม่เห็นด้วยกับการทำ Qwikster และมองออกว่าไอเดียนี้มันไม่เวิร์กมาตั้งแต่ต้น แต่ไม่มีใครเลยที่จะกล้าออกมาพูดแสดงความเห็นที่ต่างออกไป
หลังจากเหตุการณ์เลวร้ายในครั้งนั้นเขาจึงให้หัวหน้าทีมคอยกระตุ้นให้พนักงานกล้าที่จะพูดความจริง และ กล้าที่จะไม่เห็นด้วยถ้าคิดว่านั่นไม่ใช่ไอเดียที่ดี
โดยเขากล่าวว่าถ้าไม่เห็นด้วยแต่ไม่ยอมพูดอะไร
แสดงว่าคุณไม่มีความจงรักภักดีต่อองค์กรและเลือกที่จะไม่ช่วยเหลือบริษัท
4. สร้างแรงบันดาลใจ ไม่ใช่ควบคุม
ในองค์กรที่มีแต่คนเก่ง หัวหน้าเพียงแค่กำหนดขอบเขตการทำงานกว้าง ๆ เท่านั้น
แล้วมาโฟกัสกับการสร้างแรงบันดาลใจให้กับพนักงาน กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์
หรือไอเดียเจ๋ง ๆ ที่ส่งผลดีกับบริษัทออกมา
เพราะคงไม่ใช่เรื่องที่ดีนัก ถ้ามีกรอบในการทำงานมากในบริษัทที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์
5. แชร์ข้อมูลระหว่างกัน
การทำงานที่ Netfilx พนักงานจะมีการเชื่อใจกันสูงมาก เพราะหากไม่ไว้ใจและไม่เชื่อใจกัน
การแชร์ข้อมูลก็จะไม่เกิดขึ้นเลย
โดย Netflix จะแชร์ข้อมูลที่ละเอียดอ่อนของบริษัทให้กับพนักงานรู้
ซึ่งข้อดีของการแชร์ข้อมูลนั้นก็คือ ทำให้พนักงานมีมุมมองในการตัดสินใจในการทำงานได้ดีขึ้น
และนี่ก็คือ 5 เรื่องที่ รีด เฮสติงส์ ได้เรียนรู้จากการเป็น CEO ของ Netflix มา 20 กว่าปี
ซึ่งก็มีทั้งสิ่งที่ดีและสิ่งที่เคยทำผิดพลาดในอดีต แต่เขาก็นำมาปรับปรุงและพัฒนา
จนทำให้ Netflix กลายมาเป็นผู้นำในโลกบริการสตรีมมิงอย่างทุกวันนี้..
References
-https://www.youtube.com/watch?v=BH-Dq50Cz8Q&t=80s
-https://variety.com/2020/digital/news/netflix-reed-hastings-book-five-takeaways-no-rules-rules-1234752550/
-https://www.huffpost.com/entry/qwikster-netflix-mistake_n_1003367
-https://anontawong.com/2020/11/24/netflix-ceo-mistake/
-หนังสือ No Rules Rules เขียนโดย รีด เฮสติงส์ และเอริน เมเยอร์
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.