สรุปเส้นทาง เว็บเบราว์เซอร์ จาก Netscape สู่ Google Chrome

สรุปเส้นทาง เว็บเบราว์เซอร์ จาก Netscape สู่ Google Chrome

10 ก.ย. 2021
สรุปเส้นทาง เว็บเบราว์เซอร์ จาก Netscape สู่ Google Chrome /โดย ลงทุนแมน
ถ้าพูดถึงการท่องโลกอินเทอร์เน็ต สิ่งที่เป็นเหมือนประตูบานแรกที่ทุกคนต้องเดินผ่าน ก็คือ “เว็บเบราว์เซอร์”
รู้ไหมว่า ความสำคัญของเว็บเบราว์เซอร์นั้น ได้นำไปสู่การต่อสู้เพื่อแย่งชิงฐานผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตอย่างดุเดือด ซึ่งเหตุการณ์ก็ยืดเยื้อมานานเกือบ 30 ปี และพลิกผันอยู่หลายครั้ง จนทำให้ผู้ชนะในศึกแรก ๆ กลับกลายเป็นผู้แพ้ในท้ายที่สุด
สงครามระหว่างผู้ให้บริการเว็บเบราว์เซอร์ มีเรื่องราวเป็นอย่างไร
แล้วตอนจบ ใครเป็นผู้ชนะ ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
จุดเริ่มต้นของมหากาพย์ ต้องย้อนกลับไปเมื่อปี 1993
เว็บเบราว์เซอร์หลายเจ้า ถูกคิดค้นขึ้นและนำมาใช้กันแพร่หลาย และถือเป็นประตูบานสำคัญ ที่ทำให้มนุษย์ได้รู้จักกับโลกออนไลน์
ในขณะนั้น เว็บเบราว์เซอร์ที่ได้รับความนิยมมากสุด คือ “Mosaic” ซึ่งพัฒนาโดยศูนย์การประยุกต์ใช้ซูเปอร์คอมพิวเตอร์แห่งชาติ ของสหรัฐอเมริกา
ต่อมา ก็มีหลายบริษัทขอซื้อลิขสิทธิ์ของ Mosaic ไปสร้างเป็นเว็บเบราว์เซอร์ของตัวเอง โดยหนึ่งในนั้น คือ บริษัท Netscape Communications Corporation ของคุณ Marc Andreessen ซึ่งปัจจุบันเป็นนักลงทุนชื่อดังของวงการ Venture Capital
เว็บเบราว์เซอร์ของ Netscape มีชื่อว่า “Netscape Navigator” ซึ่งได้รับความนิยมในทันที เพราะใช้งานง่าย และแสดงผลการค้นหาได้ดีกว่าเจ้าอื่น ทำให้บริษัทยึดครองส่วนแบ่งตลาดสูงถึง 80% ในช่วงปี 1995

ความสำเร็จดังกล่าว ทำให้ Netscape สามารถจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้ แม้เพิ่งก่อตั้งมาเพียงปีเดียว และยังถือเป็นการ IPO ที่มีมูลค่าสูงสุดของตลาดในเวลานั้นอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม การเติบโตของอุตสาหกรรมอินเทอร์เน็ต ก็ดึงดูดให้ผู้เล่นรายใหญ่อย่าง “Microsoft” เข้ามาสู่ธุรกิจเว็บเบราว์เซอร์ จนเกิดเป็นเหตุการณ์ที่เรียกว่า “สงครามเว็บเบราว์เซอร์ครั้งที่ 1”
หลังจาก Netscape เข้าตลาดหลักทรัพย์ได้ 15 วัน บริษัท Microsoft ก็เปิดตัวเว็บเบราว์เซอร์ ชื่อว่า “Internet Explorer”
เนื่องด้วย Microsoft เป็นบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ ที่มีเงินทุนจากการขายซอฟต์แวร์ จึงทำให้สามารถทุ่มทรัพยากรเพื่อพัฒนา Internet Explorer จนมีฟีเชอร์ก้าวตาม Netscape ทัน ภายในเวลาไม่นาน
และในปี 1997 ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของสงคราม เมื่อ Microsoft ตัดสินใจผูกโปรแกรม Internet Explorer ไว้เป็นเว็บเบราว์เซอร์เริ่มต้นของระบบปฏิบัติการ Windows แบบฟรี ๆ
หมายความว่า คนที่ซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Windows ไปใช้ จะกดเข้า Internet Explorer ได้ทันที ไม่ต้องเสียเวลาไปดาวน์โหลดหรือหาซื้อเว็บเบราว์เซอร์ใหม่
ซึ่งขณะนั้น Windows ครองส่วนแบ่งตลาดระบบปฏิบัติการคอมพิวเตอร์กว่า 90% ส่งผลให้การใช้งาน Internet Explorer เพิ่มขึ้นรวดเร็วมาก
จนในปี 2002 Netscape Navigator ก็มีส่วนแบ่งตลาดน้อยมาก
จากข้อมูลของ TheCounter.com
Internet Explorer ส่วนแบ่งตลาด 93.9%
Netscape Navigator ส่วนแบ่งตลาด 2.3%
บทสรุปของสงครามเว็บเบราว์เซอร์ครั้งที่ 1 ผลปรากฏว่า Microsoft เป็นผู้ชนะอย่างเด็ดขาด..
ส่วนผลการดำเนินงานของ Netscape ก็ถดถอยลง และตัดสินใจขายกิจการให้กับบริษัท America Online ในปี 1998 ก่อนที่จะหยุดให้บริการเว็บเบราว์เซอร์ ในเวลาต่อมา
ถึงแม้การต่อสู้ศึกนี้จบลงแล้ว แต่สงครามในสนามรบเว็บเบราว์เซอร์ ยังไม่ปิดฉากลงง่าย ๆ
พอไร้คู่แข่ง ดูเหมือนว่า Microsoft จะตายใจ และแทบไม่ได้พัฒนา Internet Explorer ต่อสักเท่าไร หลักฐานที่ชัดเจนคือ ระหว่างปี 2001-2006 มีการอัปเดตเบราว์เซอร์แค่เวอร์ชันเดียวเท่านั้น
แต่ความประมาทและความตายใจของ Microsoft นี่เอง ที่กลายเป็นช่องโหว่ขนาดใหญ่ ที่ทำให้เกิด “สงครามเว็บเบราว์เซอร์ ครั้งที่ 2”
เพราะหลังจาก Netscape พ่ายแพ้ พวกเขาก็ได้เปิดเผยข้อมูลโคดทิ้งไว้ ซึ่งต่อมา องค์กร Mozilla Foundation ได้นำเอาไปพัฒนาเป็นเว็บเบราว์เซอร์ตัวใหม่ ที่ชื่อว่า Mozilla Firefox หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า “Firefox”
Firefox ได้มุ่งเน้นพัฒนาบริการเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต ที่เริ่มเบื่อหน่ายกับประสิทธิภาพการทำงานของ Internet Explorer
จึงทำให้ Firefox สามารถแสดงผลของเว็บไซต์รุ่นใหม่ได้ดีกว่า รวมทั้งเพิ่มฟีเชอร์ลูกเล่นให้กับเบราว์เซอร์อีกมากมาย ส่งผลให้คนเริ่มสนใจลองดาวน์โหลด Firefox ไปใช้งานแทน Internet Explorer
ส่วนแบ่งตลาดเว็บเบราว์เซอร์ ในปี 2009 จากข้อมูลของ StatCounter
Internet Explorer ส่วนแบ่งตลาด 60.1%
Firefox ส่วนแบ่งตลาด 30.5%
จะเห็นได้ว่า Firefox แย่งชิงผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตไปจาก Internet Explorer พอสมควร ถึงขนาดที่หลายฝ่ายมองว่าอาจถึงขั้นแซงขึ้นเป็นเจ้าตลาด
แต่มันก็ไม่ทันได้เกิดขึ้น..
เพราะสงครามครั้งนี้ ยังมีตัวละครอื่นเข้าร่วมวงต่อสู้อีก
ซึ่งตัวละครใหม่ที่ว่า นั่นก็คือ “Google”
Google เป็นเจ้าตลาดเซิร์ชเอนจิน และมีผลิตภัณฑ์ออนไลน์อื่น ๆ มากมาย ซึ่งมีความต้องการจะเสริมความแข็งแกร่งให้กับระบบนิเวศบริษัทเพิ่มเติม จึงได้พัฒนาและเปิดตัวเว็บเบราว์เซอร์ ชื่อว่า “Google Chrome” ขึ้นมา และเริ่มเปิดให้ใช้งานในปี 2008
เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต จะสามารถใช้บริการทุกอย่างของ Google ผ่านเบราว์เซอร์ Google Chrome ได้อย่างสะดวกสบายและครบวงจรในที่เดียว
รวมทั้ง Google ยังมีความพร้อมด้านทรัพยากรและเงินทุน ที่สนับสนุนให้ทีมงานมีการอัปเดตฟีเชอร์ใหม่ ๆ ของเบราว์เซอร์ อยู่ตลอดเวลา จนรายอื่นเริ่มขยับตามได้ยาก
ด้วยเหตุนี้ ฐานผู้ใช้งาน Google Chrome จึงเติบโตแบบก้าวกระโดด และแซงหน้าขึ้นมาครองส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1 นับตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นมา

นอกจากนั้น ในยุคสมาร์ตโฟน ผู้เล่นอีกรายหนึ่งที่มาแรง คือ “Apple”
ในช่วงหลัง พฤติกรรมการใช้งานอินเทอร์เน็ต เปลี่ยนไปอยู่บนสมาร์ตโฟนและแท็บเล็ตมากขึ้น ซึ่ง Apple ถือเป็นผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
ส่งผลให้เว็บเบราว์เซอร์ที่มาพร้อมกับระบบปฏิบัติการ iOS ของตัวเครื่อง อย่าง “Safari” ถูกเปิดใช้งานเพิ่มขึ้นตามไปด้วยนั่นเอง จนสามารถก้าวขึ้นมามีส่วนแบ่งตลาดอันดับ 2 ตั้งแต่ช่วงปี 2015
แล้วในปัจจุบัน สถานการณ์ของสงครามนี้ เป็นอย่างไร ?
ส่วนแบ่งตลาดเว็บเบราว์เซอร์ เดือนพฤษภาคม ปี 2021 จากข้อมูลของ StatCounter
- Google Chrome ส่วนแบ่งตลาด 64.8%
- Safari ส่วนแบ่งตลาด 18.4%
- Firefox ส่วนแบ่งตลาด 3.3%
- Internet Explorer ส่วนแบ่งตลาด 0.6%
เราคงพอสรุปได้ว่า Google Chrome คือผู้คว้าชัยชนะ ของสงครามเว็บเบราว์เซอร์ ในตอนนี้
ในขณะที่ ผู้ยิ่งใหญ่ในอดีตอย่าง Internet Explorer ได้สูญเสียความสามารถในการแข่งขันไปแล้ว ซึ่งทำให้ Microsoft เตรียมยกเลิกโปรแกรมในเดือนมิถุนายน ปี 2022 และมุ่งพัฒนาเบราว์เซอร์รุ่นใหม่ ชื่อว่า “Microsoft Edge” ขึ้นมาแทน
นี่คงเป็นแง่คิดที่ดีว่า การเป็นผู้ชนะนั้นยากแล้ว แต่การรักษาตำแหน่งผู้ชนะอาจเป็นเรื่องที่ยากยิ่งกว่า
เพราะเมื่อไรที่เราหยุดพัฒนา ก็อาจพลิกมาเป็นผู้แพ้ในสักวัน จนไม่มีโอกาสแก้ตัวใหม่ ก็เป็นได้..
ปิดท้ายด้วยประเด็นที่หลายคนอาจสงสัยว่า
Google Chrome กับ Safari ที่ดูเหมือนเป็นคู่แข่งที่สมน้ำสมเนื้อกันที่สุดในตอนนี้ ความจริงแล้วเขาทั้งสอง เป็นพันธมิตรกันในบางส่วน
เพราะในทุก ๆ ปี Google ตกลงยอมจ่ายเงินมหาศาลให้กับ Apple เพื่อขอให้ Google เป็นเว็บไซต์ค้นหาเริ่มต้นบนเบราว์เซอร์ Safari
โดยในปี 2021 คาดว่าค่าใช้จ่ายในส่วนนี้จะอยู่ที่ประมาณ 4.9 แสนล้านบาท
ถ้าถามถึงเหตุผล ก็คงเป็นเพราะ Google ให้ความสำคัญกับการครองส่วนแบ่งตลาดเซิร์ชเอนจินมากกว่า เรื่องเบราว์เซอร์ เพราะตัวสร้างรายได้ให้ Google จะอยู่ที่เซิร์ชเอนจินเป็นหลัก
Google อยากได้แทรฟฟิกการค้นหาข้อมูลเบราว์เซอร์ Safari เพื่อปิดประตูไม่ให้ผู้เล่นรายอื่น เข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดเซิร์ชเอนจินไป ถึงแม้จะรู้ว่า ทำให้มีคนใช้งาน Safari เพิ่มมากขึ้นก็ตาม
ส่วนฝั่ง Apple คงเลือกรับเงินดีกว่า เพราะอย่างไร คนส่วนใหญ่ก็จะเข้า Safari แล้วไปค้นหาใน Google อยู่ดี
ซึ่งอาจพอตีความได้ว่า ตอนนี้ทั้งคู่เลือกที่จะอยู่ร่วมกันบนโลกออนไลน์ แบบเป็นพันธมิตรกัน มากกว่าทำสงคราม แล้วต้องมีใครสักคนบาดเจ็บหนัก..
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References:
-https://acodez.in/browser-wars/
-https://en.wikipedia.org/wiki/Browser_wars
-https://en.wikipedia.org/wiki/Usage_share_of_web_browsers
-https://gs.statcounter.com/browser-market-share#monthly-201201-202105
-https://www.reuters.com/technology/microsoft-unplug-internet-explorer-it-seeks-edge-browser-war-2021-05-20/
-https://9to5mac.com/2021/08/25/analysts-google-to-pay-apple-15-billion-to-remain-default-safari-search-engine-in-2021/
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.