สรุปเส้นทาง เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ โรงภาพยนตร์ใหญ่สุด ในประเทศไทย

สรุปเส้นทาง เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ โรงภาพยนตร์ใหญ่สุด ในประเทศไทย

8 ต.ค. 2021
สรุปเส้นทาง เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ โรงภาพยนตร์ใหญ่สุด ในประเทศไทย /โดย ลงทุนแมน
จากมาตรการคลายล็อกดาวน์ล่าสุด น่าจะทำให้คอหนังหลายคนต่างพากันดีใจ
เพราะว่ารัฐบาลได้อนุญาตให้โรงภาพยนตร์ สามารถกลับมาเปิดให้บริการได้แล้ว
หากพูดถึงธุรกิจโรงหนัง ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย คงไม่พ้น “เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์”
ที่ปัจจุบัน จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีมูลค่าบริษัทราว 2 หมื่นล้านบาท
แล้วก่อนที่จะกลายเป็นอาณาจักรโรงภาพยนตร์ เช่นทุกวันนี้
เมเจอร์ มีจุดเริ่มต้นอย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) หรือ MAJOR
ถูกก่อตั้งขึ้นโดย คุณวิชา พูลวรลักษณ์ ลูกชายของคุณจำเริญ พูลวรลักษณ์
หนึ่งในผู้ก่อตั้งโรงภาพยนตร์ชื่อดังในอดีต อย่าง ศรีตลาดพลู แมคเคนนา เพชรรามา
ถึงแม้ว่า เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ สาขาแรกจะเกิดขึ้นเมื่อปี 2538
แต่ถ้าพูดถึงจุดเริ่มต้นจริง ๆ แล้ว คงต้องย้อนกลับไปในช่วงรุ่นพ่อของคุณวิชา
ปี 2504 พี่น้องตระกูลพูลวรลักษณ์ 4 คนคือ คุณเจริญ คุณจำเริญ คุณเกษม และคุณจรัล ได้เริ่มทำธุรกิจโรงภาพยนตร์ในย่านชานเมืองด้วยกัน ภายใต้ บริษัท โก บราเดอร์ จำกัด โดยมีตัวตั้งตัวตีเป็น คุณเจริญ พี่คนโตของตระกูล
โดยพี่น้องทั้ง 4 คนร่วมเปิดโรงหนังศรีตลาดพลู เป็นที่แรก ในรูปแบบสแตนด์อโลน
หรือโรงภาพยนตร์เดี่ยวที่อาคารจะตั้งอยู่โดด ๆ และใช้เป็นโรงภาพยนตร์อย่างเดียวเท่านั้น
ซึ่งสมัยนั้นเอง โรงภาพยนตร์สแตนด์อโลนถือเป็นที่นิยมอย่างมาก เรียกได้ว่าเป็นสิ่งที่ทันสมัยมากในช่วงเวลานั้น และเป็นจุดนัดพบของกลุ่มคนรักหนังอีกด้วย
หลังจากโรงหนังศรีตลาดพลูประสบความสำเร็จแล้ว
พวกเขาก็เริ่มขยายโรงภาพยนตร์ไปสู่ในเมืองของกรุงเทพฯ
เช่น เมโทร, โคลีเซี่ยม, เพชรรามา, เซ็นจูรี่, แมคเคนนา, ฮอลิเดย์, คลองเตยรามา, แหลมทองรามา, เจ้าพระยา, คลองจั่นรามา, พัฒนาการรามา, ลาดพร้าวรามา, โชคชัย 4 รามา, กรุงเทพรามา, ทวีผลรามา, มหาชัยรามา, เพชรเกษมรามา, บางแครามา
จนในที่สุดสามารถขยายครอบคลุมทั่วกรุงเทพฯ และธนบุรี ซึ่งมีโรงภาพยนตร์ประมาณ 50 โรง
จากการขยายกิจการของพี่น้องตระกูลพูลวรลักษณ์ ก็ได้ทำให้พวกเขากลายเป็นเจ้าของโรงภาพยนตร์ถึง 50 โรงภายในเวลาอันรวดเร็ว
และที่น่าทึ่งกว่านั้นก็คือ บริษัทสามารถเติบโต โดยไม่ต้องกู้เงินจากธนาคารไหนเลย
แต่ในเวลาต่อมา โรงภาพยนตร์เดี่ยวแบบดั้งเดิมเริ่มซบเซาจากการเข้ามาของวิดีโอและมินิเธียเตอร์ หรือโรงภาพยนตร์ที่ต่อเติมในศูนย์การค้า
นั่นจึงทำให้พี่น้องตระกูลพูลวรลักษณ์ทั้ง 4 คน ได้ตัดสินใจแยกย้ายกันไปทำธุรกิจตามเส้นทางของตัวเอง
ฝั่งคุณเจริญ และลูกชายทั้ง 2 คนคือ คุณวิสูตร พูลวรลักษณ์ และคุณวิชัย พูลวรลักษณ์
ยังคงเลือกอยู่บนเส้นทางของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ต่อ แต่แยกสายธุรกิจกันไป
คุณวิสูตรเข้าสู่วงการการทำภาพยนตร์ โดยก่อตั้ง บริษัท ไท เอ็นเตอร์เทนเมนท์
หลายคนน่าจะคุ้นชื่อ เพราะเป็นบริษัทที่เคยร่วมทุนกับ จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ และ หับโห้หิ้น
ในการก่อตั้ง GTH ค่ายหนังในดวงใจของใครหลายคน
ในขณะที่ คุณวิชัยมาโฟกัสธุรกิจโรงภาพยนตร์ และได้ร่วมมือกับบริษัทต่างชาติที่เชี่ยวชาญด้านโรงภาพยนตร์ ได้แก่
- บริษัท วิลเลจ โรดโชว์ (ไทยแลนด์) พีทีวาย ลิมิเต็ด จากประเทศออสเตรเลีย
- บริษัท ฟอร์จูน วีล ลิมิเต็ด (กลุ่มโกลเด็น ฮาร์เวสต์) จากฮ่องกง
เพื่อเปิดโรงภาพยนตร์ ที่ชื่อว่า “อีจีวี เอ็นเตอร์เทนเมนท์” ซึ่งมีกลยุทธ์เปิดตามห้างสรรพสินค้า
โดยอีจีวีสาขาแรก ก็ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการที่ฟิวเจอร์พาร์ค บางแค และตามมาด้วย ซีคอนสแควร์ ศรีนครินทร์, ฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต และแฟชั่นไอส์แลนด์ รามอินทรา
สำหรับพี่น้องตระกูลพูลวรลักษณ์อีกคน หรือคุณจำเริญก็เป็นอีกหนึ่งคน ที่ยังเลือกทำธุรกิจโรงภาพยนตร์เช่นเดิม แต่ก็เริ่มลุยในธุรกิจอื่น ๆ เช่น ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งก็ได้ก่อตั้งบริษัท เวลแลนด์ ดีเวลล็อปเมนท์
โดยหลังจากคุณวิชาจบการศึกษาระดับปริญญาโท ก็เข้ามาช่วยดูแลธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
แต่ด้วยความที่คุณวิชา เติบโตมากับครอบครัวที่ทำโรงภาพยนตร์มาตั้งแต่เกิด มีความชอบและความเข้าใจในวงการระดับหนึ่ง
เขาจึงตัดสินใจกลับมาลุยกับธุรกิจโรงภาพยนตร์ต่อ โดยเขาได้รับโอกาสจากคุณจำเริญ ให้สร้างโรงภาพยนตร์บนที่ดิน ที่ห้างเวลโกปิ่นเกล้า ที่เคยเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้
ซึ่งในขณะนั้น ก็นับเป็นช่วงเวลาที่บริษัทต่างชาติเข้ามาทำโรงภาพยนตร์แบบมัลติเพล็กซ์พอดี
โดยโรงภาพยนตร์แบบนี้ส่วนใหญ่มักจะตั้งอยู่บนศูนย์การค้า เหมือนมินิเธียเตอร์
แต่จะแตกต่างตรงที่แบบมัลติเพล็กซ์มีการออกแบบมาเพื่อเป็นโรงภาพยนตร์โดยตรง
ไม่ใช่การดัดแปลงพื้นที่ห้าง ให้เป็นโรงภาพยนตร์
รวมถึงขนาดโรง จอฉายภาพ และการออกแบบติดตั้งระบบเสียงจะมีความเป็นมาตรฐานสากล
และด้วยการเข้ามารุกตลาดจากต่างชาติ บวกกับผู้คนสมัยนั้นชื่นชอบโรงภาพยนตร์แบบมัลติเพล็กซ์มากกว่า จึงทำให้โรงภาพยนตร์ของไทยดั้งเดิมหลายแห่ง ต้องพ่ายแพ้ และปิดตัวลงไป
มาถึงจุดนี้ เราก็เห็นได้แล้วว่าการทำโรงภาพยนตร์แบบสแตนด์อโลนที่เคยเป็นมา ไม่สามารถตอบโจทย์ได้อีกต่อไปแล้ว
คุณวิชาจึงคิดต่อว่า หากเขาลงทุนและลอกแบบความสำเร็จจากคู่แข่งในสมัยนั้น ก็อาจจะสู้ได้ยากเพราะเงินทุนและเทคโนโลยีที่มี ยังไม่เพียงพอสำหรับการแข่งขัน
คุณวิชาเลยนึกได้ว่า ผู้คนสมัยนั้นยังคงชอบความหวือหวาและความสะดวกสบายเช่นเดิม
เขาจึงเน้นใช้กลยุทธ์ทำเลที่ตั้ง และความยิ่งใหญ่อลังการเข้าสู้
เขาตัดสินใจเริ่มต้นจากการออกแบบโรงภาพยนตร์ใหม่ ให้มีคอนเซปต์เช่นเดียวกับโรงแรมระดับ 5 ดาว คือตัวอาคารต้องมีความหรูหรา มีเลานจ์ มีเซอร์วิสลูกค้าและมีการเพิ่มมาตรฐานความสะอาดและบริการเข้าไป
รวมถึงทำเป็นศูนย์การค้าแบบครบวงจร เพื่อให้ผู้คนสามารถใช้บริการได้ครบจบในที่เดียว
ในที่สุด ปี 2538 เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ โรงภาพยนตร์แบบมัลติเพล็กซ์
ก็เปิดให้บริการครั้งแรกที่สาขาปิ่นเกล้า และได้ผลตอบรับที่ดีจากผู้เข้ามาใช้บริการ
แม้ว่าเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ จะเริ่มต้นดี แต่ต้องมาสะดุดเมื่อเจอกับวิกฤติต้มยำกุ้ง ปี 2540
เนื่องจากธนาคารที่ปล่อยเงินกู้ให้บริษัท ล้มละลายลง บริษัทจึงขาดเงินทุนสำหรับขยายธุรกิจ
แต่บริษัทก็ยังคงเอาตัวรอดและผ่านมาได้ จนในที่สุดก็สามารถฟื้นตัว และได้ขยายสาขาเพิ่ม อย่างที่ สุขุมวิท เอกมัย และรัชโยธิน
จนกระทั่งในปี 2545 เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ก็เข้าตลาดหลักทรัพย์ได้สำเร็จ
บริษัทสามารถระดมเงินทุน จนขยายโรงภาพยนตร์จากที่เคยมี 50 จอเป็น 100 จอ ภายในเวลาปีเดียว ซึ่งตอนนั้นเอง คู่แข่งจากต่างชาติที่ทำธุรกิจโรงภาพยนตร์ต้องปิดตัวไปหลายราย
แต่อย่างไรก็ตาม เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ ยังต้องเจอกับการแข่งขันอยู่ดี
โดยคู่แข่งครั้งนี้ ไม่ใช่ใครอื่นใด แต่เป็นบริษัทของคนจากตระกูลเดียวกัน
ที่ชื่อว่า บริษัท อีจีวี เอ็นเตอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ในท้ายที่สุดแล้ว ทั้งสองบริษัทตัดสินใจจับมือควบรวมธุรกิจเข้าด้วยกัน ซึ่งนับว่า เป็นการตัดสินใจที่ถูก เพราะหลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้น ทำให้บริษัทมีความแข็งแกร่งอย่างมาก จากภาวะการแข่งขันที่ลดลง และมีฐานลูกค้าที่ใหญ่ขึ้น
ซึ่งก็ได้ส่งผลให้เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด และสามารถกระจายธุรกิจไปได้ทั่วประเทศ จนกลายเป็นเจ้าตลาดธุรกิจโรงภาพยนตร์ในประเทศไทยถึงทุกวันนี้ โดยมีส่วนแบ่งตลาดมากกว่า 70% ในประเทศไทย เลยทีเดียว
ต่อมา เมเจอร์ก็ยังได้เพิ่มรูปแบบการขยายสาขาในรูปแบบศูนย์การค้าไลฟ์สไตล์มอลล์
โดยบริษัทก็ได้เข้าไปเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัท สยามฟิวเจอร์ดีเวลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน)
หรือ SF เจ้าของห้าง เช่น เมกาซิตี้ บางนา และเอสพลานาด รัชดาภิเษก เพื่อสร้างความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างกัน ก่อนที่ในปีนี้จะมีข่าวว่า เครือเซ็นทรัลพัฒนา กำลังซื้อหุ้น SF ต่อจากเมเจอร์
นอกจากการขยายสาขาในประเทศไทยแล้ว เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์
ก็ได้เริ่มบุกเข้าตลาดเพื่อนบ้านเราด้วย เช่น ลาว และกัมพูชา
แล้วผลประกอบการของเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ ปัจจุบันเป็นอย่างไร ?
รายได้และกำไรของ บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน)
ปี 2561 รายได้ 10,074 ล้านบาท กำไร 1,284 ล้านบาท
ปี 2562 รายได้ 10,822 ล้านบาท กำไร 1,170 ล้านบาท
ปี 2563 รายได้ 3,936 ล้านบาท ขาดทุน 527 ล้านบาท
อย่างที่เรารู้กัน จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิดทั่วโลก
ส่งผลให้ทางฮอลลีวูดจำเป็นต้องเลื่อนฉายภาพยนตร์ออกไป โรงภาพยนตร์จึงไม่มีหนังเข้ามาฉาย
และบางช่วงเวลาถูกสั่งงดให้บริการ ยอดขายตั๋วและอาหารซึ่งเป็นสัดส่วนใหญ่ของรายได้ เลยลดลงไป
ทำให้ปี 2563 รายได้ลดลงจากปีก่อนถึง 65% และขาดทุนครั้งแรกตั้งแต่เข้าตลาดหลักทรัพย์
จากเรื่องราวทั้งหมดนี้ ก็น่าจะทำให้เราได้รู้จักกับบริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) หรือ MAJOR เพิ่มขึ้น ไม่มากก็น้อย
ซึ่งพอเรารู้ที่มาที่ไปว่ากว่า MAJOR จะก้าวขึ้นมาเป็นเจ้าของธุรกิจโรงภาพยนตร์ ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยนั้น ต้องผ่านอะไรมาบ้าง ซึ่งก็ต้องบอกว่ามีอุปสรรคมากมายให้ต้องฝ่าฟัน
และเส้นทางในอนาคตที่รออยู่ ก็ดูเหมือนว่าจะมีความท้าทายอยู่ไม่น้อยเลย..
หมายเหตุ: บทความนี้ไม่ได้ชี้นำให้ซื้อหุ้นตัวนี้ การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลให้รอบคอบก่อนตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-แบบฟอร์ม 56-1 ปี 2563, บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน)
-หนังสือบุรุษผู้ไม่ยอมก้มหัวให้กับโชคชะตา เจริญ พูลวรลักษณ์ เขียนโดยคุณถนอมศักดิ์ จิรายุสวัสดิ์
-https://workpointtoday.com/interview-major-cineplex/
-https://www.majorcineplex.com/news/thaifilm2000
-https://www.bangkokbiznews.com/news/913454
-https://thaia4.wordpress.com/2016/11/17/
-https://men.mthai.com/infocus/32976.html
-https://www.peoplecine.com/wboard/m_maintopic.php?GroupID=50&Begin=16&RBegin=78&ID=11322
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.