Meb แพลตฟอร์มขายอีบุ๊กของไทย ที่โตระเบิด

Meb แพลตฟอร์มขายอีบุ๊กของไทย ที่โตระเบิด

2 พ.ย. 2021
Meb แพลตฟอร์มขายอีบุ๊กของไทย ที่โตระเบิด /โดย ลงทุนแมน
แม้ปีที่ผ่านมาตลาดหนังสือจะซบเซาหนักจากสถานการณ์โควิด
จนมูลค่าตลาดหนังสือรวมลดลงเหลือ 12,000 ล้านบาท จากเดิมที่คาดการณ์ 18,000 ล้านบาท
แต่ผลประกอบการของเหล่าแพลตฟอร์มขายอีบุ๊ก กลับไม่ได้แย่ลงเลย
รายได้และกำไรของธุรกิจกลุ่มนี้ยังสร้างการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะ Meb แพลตฟอร์มขายอีบุ๊ก ที่ใหญ่สุดในประเทศไทย
ซึ่งปัจจุบันสามารถสร้างรายได้เกือบแตะ 1,000 ล้านบาท และมีกำไรสูงสุดในบรรดาธุรกิจขายหนังสือเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
Meb มีเรื่องราวน่าสนใจอย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
เรื่องราวของ Meb เริ่มเกิดขึ้นหลังจากคุณรวิวร มะหะสิทธิ์ จบวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ
แทนที่เขาจะเลือกเส้นทางเป็นวิศวกร กลับตัดสินใจเปิดสำนักพิมพ์เล็ก ๆ ของตัวเองขึ้นมา
เพราะหลงใหลในวรรณกรรมแนววิทยาศาสตร์
แต่ต่อมาคุณรวิวร ก็พบข้อจำกัดหลายอย่างของการทำหนังสือเล่ม
ตั้งแต่ การพิมพ์หนังสือออกมา ที่ต้องคิดอย่างหนักตั้งแต่แรกว่าจะขายได้หรือไม่
เพราะการผลิตหนังสือครั้งหนึ่ง จำเป็นต้องพิมพ์ทีละหลายพันเล่ม
และแม้ว่าจะเสร็จสิ้นกระบวนการพิมพ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
แต่ก็ยังเจอกับปัญหาต่อมาคือ การวางจำหน่ายหนังสือ
จากสาเหตุที่ร้านหนังสือ มีขนาดพื้นที่วางขายหนังสือจำกัด
ดังนั้นหากเล่มไหนที่ขายดี ก็จะถูกวางไว้เด่นและอยู่ในร้านได้นาน
ขณะที่หากเล่มไหนไม่ดัง ขายไม่ดี ก็จะถูกวางในจุดที่ไม่ดี และวางขายได้ไม่นาน
ด้วยความที่สำนักพิมพ์ของคุณรวิวรมีขนาดเล็ก และหนังสือส่วนมากเป็นเรื่องเฉพาะทาง
ส่งผลให้หลังจากวางจำหน่ายหนังสือไม่นาน สุดท้ายก็ถูกถอดออกจากแผงไป
จากเรื่องนี้บีบให้คุณรวิวรต้องคิดหากลยุทธ์ใหม่ ที่ทำให้ธุรกิจอยู่รอดต่อไปได้ในระยะยาว
และคำตอบที่ได้คือ การทำอีบุ๊ก นั่นเอง
คุณรวิวร และคุณกิตติพงษ์ แซ่ลิ้ม จึงได้ร่วมก่อตั้ง Meb ในปี 2554
ซึ่งต้องบอกว่าเป็นช่วงที่ดีสำหรับตลาดอีบุ๊กอย่างมาก
เพราะประจวบเหมาะกับหนึ่งปีก่อนหน้าที่ iPad เปิดตัวครั้งแรก
และสถานการณ์น้ำท่วม ที่คนรักหนังสือเจอปัญหาหลายอย่าง ทั้งจากหนังสือขึ้นราและขนย้ายลำบาก ปัจจัยเหล่านี้ทำให้คนเปิดใจในการเสพหนังสือประเภทอีบุ๊กง่ายขึ้น
อย่างไรก็ตามที่พูดมา นับว่าเป็นประโยชน์แค่ฝั่งผู้อ่านเท่านั้น
หาก Meb ไม่สามารถตอบโจทย์ฝั่งผู้เขียน หรือสำนักพิมพ์ได้ ธุรกิจก็ไปไม่รอดเช่นกัน
Meb จึงพยายามสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับพาร์ตเนอร์เหล่านี้
โดยจะไม่เพียงแค่ติดต่อนำหนังสือไปขายแล้วจบเท่านั้น
แต่เข้ามาช่วยดูแลแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการที่เหล่าพาร์ตเนอร์ขยับมาสู่ออนไลน์
และทำการตลาดให้ด้วย รวมถึงแบ่งสัดส่วนรายได้ที่โอเคกันทุกฝ่าย

นอกจากนี้ด้วยโมเดลของ Meb ที่จะแบ่งรายได้จากยอดขายที่เกิดขึ้นเท่านั้น
ซึ่งไม่มีค่าใช้จ่ายในการลงผลงานใด ๆ เลย
นั่นจึงทำให้นักเขียนและสำนักพิมพ์ตกลงที่จะเป็นพาร์ตเนอร์ต่อไป
ผลประกอบการของ Meb เลยค่อย ๆ เติบโตมาอย่างต่อเนื่อง
แต่สิ่งที่ทำให้ Meb เติบโตก้าวกระโดดจริง ๆ คือเหตุการณ์ต่อมา
เมื่อบริษัท ซีโอแอล จำกัด (มหาชน) เจ้าของ B2S และ OfficeMate ได้เข้าซื้อกิจการของ Meb ถึง 75% ด้วยมูลค่า 52.5 ล้านบาท
ด้วยการมีพาร์ตเนอร์เป็นซีโอแอล เจ้าของ B2S ร้านหนังสือที่ใหญ่อันดับต้นของประเทศ
ทำให้ Meb สามารถเจรจากับสำนักพิมพ์ต่าง ๆ ง่ายขึ้น และได้รับการโปรโมตเป็นที่กว้างขวาง
ผลประกอบการจึงเติบโตอย่างรวดเร็ว
ซึ่งนับว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกอย่างมากสำหรับ Meb เพราะก่อนหน้าซีโอแอล จะเข้ามาซื้อกิจการ ก็เคยมีนักลงทุนและธุรกิจหลายแห่งที่ต้องการลงทุนเช่นเดียวกัน
แต่สุดท้าย Meb ก็ปฏิเสธข้อเสนอเหล่านั้นไป จากการเห็นว่ารายอื่นเข้ามา จะลงเงินเท่านั้น แต่ไม่สามารถเสริมสร้างให้ธุรกิจของ Meb แข็งแกร่งขึ้น
เมื่อ Meb ประสบความสำเร็จในฐานะผู้จัดจำหน่ายหนังสือแล้ว
บริษัทก็หันมาสนใจธุรกิจต้นน้ำบ้าง หรือก็คือฝั่งของผู้ผลิตคอนเทนต์
ทำให้ปี 2560 บริษัทปล่อยบริการที่ 2 ออกมาคือ readAwrite
แพลตฟอร์มที่เป็นแหล่งให้นักเขียนได้เขียนและเผยแพร่งานสู่นักอ่านโดยตรง
ซึ่งสามารถกำหนดได้ว่า จะให้อ่านฟรีหรือเสียเงินก็ได้
ด้วยความที่ฟังก์ชันสร้างขึ้นเพื่อเอาใจนักเขียนอย่างมาก ทั้งระบบตรวจคำผิด ที่ช่วยคนไม่เก่งภาษาได้อย่างมาก ระบบจัดหน้าคอนเทนต์ที่สวยงาม ซ่อนคอมเมนต์ที่ไม่พึงประสงค์ และการเพิ่มยอดวิวที่ง่าย ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการให้กำลังใจกลุ่มคนเหล่านี้
นั่นทำให้ readAwrite สามารถดึงดูดนักเขียนเข้ามาสรรค์สร้างผลงานได้มากมาย
และกลายเป็นแพลตฟอร์มยอดฮิตสำหรับวัยรุ่นที่รักการอ่านในปัจจุบัน
ผลประกอบการที่ผ่านมาของ บริษัท เมพ คอร์ปอเรชั่น จำกัด
ปี 2561 รายได้ 314.5 ล้านบาท กำไร 62.5 ล้านบาท อัตรากำไร 19.9%
ปี 2562 รายได้ 545.8 ล้านบาท กำไร 82.6 ล้านบาท อัตรากำไร 15.1%
ปี 2563 รายได้ 937.2 ล้านบาท กำไร 166.0 ล้านบาท อัตรากำไร 17.7%
หากเทียบกับผลประกอบการของแพลตฟอร์มอีบุ๊กรายอื่นในประเทศไทย
บริษัท อุ๊คบี และอุ๊คบี ยู เจ้าของแอปพลิเคชัน Ookbee, Joylada และธัญวลัย
ปี 2563 รายได้ 507 ล้านบาท ขาดทุน 105 ล้านบาท
บริษัท เอ็นเอชเอ็น (ไทยแลนด์) เจ้าของ Comico ที่ทำธุรกิจการ์ตูนออนไลน์
ปี 2563 รายได้ 216 ล้านบาท กำไร 6 ล้านบาท
จากข้อมูลจะเห็นได้ว่า ปัจจุบัน Meb มีรายได้และกำไรสูงสุดในบรรดาแพลตฟอร์มอีบุ๊กไปจนถึงการ์ตูนออนไลน์ในประเทศไทย
แล้วถ้าเทียบกับผลประกอบการของร้านหนังสือจะเป็นอย่างไร ?
โดยเทียบก่อนและหลังสถานการณ์โควิด
บริษัท บีทูเอส จำกัด เจ้าของ B2S
ปี 2562 รายได้ 4,516 ล้านบาท กำไร 233 ล้านบาท
ปี 2563 รายได้ 3,287 ล้านบาท ขาดทุน 286 ล้านบาท
บริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน) เจ้าของ SE-ED
ปี 2562 รายได้ 3,028 ล้านบาท กำไร 12 ล้านบาท
ปี 2563 รายได้ 2,118 ล้านบาท ขาดทุน 33 ล้านบาท
บริษัท อมรินทร์ บุ๊ค เซ็นเตอร์ จำกัด เจ้าของนายอินทร์
ปี 2562 รายได้ 1,009 ล้านบาท กำไร 15 ล้านบาท
ปี 2563 รายได้ 743 ล้านบาท ขาดทุน 18 ล้านบาท
จากข้อมูลแม้ว่ารายได้ของ Meb จะน้อยกว่าร้านหนังสือเจ้าตลาดอย่าง B2S และ SE-ED
แต่หากมองกำไรจะเห็นว่า Meb ทำได้ดีกว่า SE-ED แล้ว และกำลังไล่ตาม B2S ในงบปี 2562 อย่างติด ๆ
เมื่อพูดมาถึงตรงนี้แล้ว บางคนอาจสงสัยว่าอีบุ๊กเถื่อนก็มี แต่ทำไม Meb ยังสามารถเติบโตต่อไปได้
ซึ่งทางผู้ก่อตั้งอย่างคุณรวิวรก็บอกว่า นอกจากการ์ตูนแล้ว อีบุ๊กเถื่อนประเภทอื่นยังมีไม่มาก
ดังนั้น Meb ยังสามารถสร้างระบบป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์ได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ
เขามองอีกว่า ทุกคนต้องการเป็นคนดี หรือสนับสนุนนักเขียนที่ตนชอบอยู่แล้ว
หากทำแพลตฟอร์มที่ใช้งานง่าย และสร้างระบบที่ป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์ไว้
คนก็พร้อมมาเสพงานอย่างถูกต้องเสมอ
และทั้งหมดนี้คือเรื่องราวของ Meb แพลตฟอร์มขายอีบุ๊ก ที่ประสบความสำเร็จมากสุดในไทย
Meb ทำให้เห็นว่า สิ่งที่ทำให้ธุรกิจเติบโตและแข็งแกร่ง คือการเห็นโอกาสและรู้จักการปรับตัว
รวมถึงการมีพาร์ตเนอร์ธุรกิจที่ดี ซึ่งหากขาดสิ่งเหล่านี้แล้ว ก็คงไม่มี Meb แพลตฟอร์มขายอีบุ๊ก ยอดขาย 900 ล้านบาทเช่นทุกวันนี้
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
ล่าสุดบริษัท รุ่งเรืองตลอดไป จำกัด (มหาชน) เข้าตลาดหลักทรัพย์ โดยใช้ชื่อย่อว่า GLORY ทำธุรกิจคล้ายกันกับ Meb โดยเป็นเจ้าของแพลตฟอร์มนิยายออนไลน์ชื่อ Kawebook
ซึ่งผลประกอบการ 4 ไตรมาสย้อนหลัง มีรายได้ 87.2 ล้านบาท กำไร 12.0 ล้านบาท
ปัจจุบันมีมูลค่าบริษัท 1,363.5 ล้านบาท หารกันแล้วก็ได้ P/E 113 เท่า ซึ่งถือว่าสูงมาก
และหาก Meb เข้าตลาดหลักทรัพย์และได้มูลค่าบริษัทที่ P/E เท่ากับ GLORY
บริษัท Meb จะมีมูลค่า 18,862 ล้านบาทเลยทีเดียว..
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://www.blognone.com/node/110591
-https://urbancreature.co/meb-e-book/?fbclid=IwAR3t98F3x9mAEsC4PnZN-0j_6WgnTfvduGzWcBdQbrGRIbo_BfSvoSD_Zk8
-https://www.dailynews.co.th/it/247926/
-https://www.combangweb.com/
-https://brandinside.asia/meb-more-than-ebook/
-https://www.set.or.th/set/companyhighlight.do?symbol=GLORY&ssoPageId=5&language=th&country=TH
-https://mgronline.com/business/detail/9640000030896
-กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.