กรณีศึกษา Intel และ AMD จากพันธมิตร สู่ คู่แข่งตลอดกาล

กรณีศึกษา Intel และ AMD จากพันธมิตร สู่ คู่แข่งตลอดกาล

21 พ.ย. 2021
กรณีศึกษา Intel และ AMD จากพันธมิตร สู่ คู่แข่งตลอดกาล /โดย ลงทุนแมน
รู้หรือไม่ว่า Intel และ AMD เจ้าตลาดหน่วยประมวลผลคอมพิวเตอร์ หรือ CPU เคยเป็นพันธมิตรกันมาก่อน โดยในช่วงแรกนั้น Intel ได้แบ่งปันเทคโนโลยีการผลิต CPU ให้กับ AMD และทั้งคู่ก็ได้ผลิต CPU ร่วมกันอยู่ระยะหนึ่ง
แต่สุดท้ายทั้ง 2 บริษัทก็ได้กลายเป็นคู่แข่งกันจนถึงปัจจุบัน และทั้งคู่ยังคงครอบครองส่วนแบ่งการตลาดผู้ผลิต CPU ของคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลรวมกัน เกือบทั้งโลก
แล้วอะไรกันที่ทำให้ความเป็นพันธมิตรของทั้งคู่ กลายมาเป็นคู่แข่ง ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
จริง ๆ แล้ว ผู้ก่อตั้งของ Intel และ AMD นั้น ต่างก็แยกตัวออกมาจากบริษัทเดียวกัน
นั่นก็คือ “Fairchild Semiconductor” บริษัทผู้บุกเบิกเทคโนโลยีแผงวงจรรวมและส่วนประกอบคอมพิวเตอร์
โดย Intel ก่อตั้งขึ้นในปี 1968 โดยวิศวกรของ Fairchild Semiconductor 2 คน
คือ Gordon Moore และ Robert Noyce
ในขณะที่อีกเพียงปีเดียวหลังจากนั้น AMD ก็ได้ถูกก่อตั้งขึ้น
โดยอดีตพนักงานและกลุ่มผู้บริหารของ Fairchild Semiconductor เช่นเดียวกัน
ในช่วงเริ่มแรก ก็ต้องบอกว่าทั้ง Intel และ AMD ยังไม่ได้เป็นผู้ผลิตหน่วยประมวลผลคอมพิวเตอร์แต่อย่างใด
จนกระทั่งในปี 1971 Intel ก็ได้คิดค้นหน่วยประมวลผลคอมพิวเตอร์ขึ้นได้สำเร็จ
ซึ่งในเวลาต่อมา เรารู้จักนวัตกรรมนี้ ในชื่อ “CPU”
แต่ ณ เวลานั้น ในตลาดยังคงมีแต่คอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ ไม่ได้มีคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลหรือโน้ตบุ๊ก จึงทำให้ CPU ของ Intel ถูกนำไปใช้กับเครื่องคิดเลข ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ล้ำสมัยแห่งยุค
แต่ในเวลาต่อมา Intel ก็ได้โฟกัสไปที่การผลิตและพัฒนา CPU ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ซึ่งก็เป็นช่วงเดียวกันกับที่คอมพิวเตอร์ขนาดเล็กทั้ง Altair Computer และ Apple I ได้ถูกจัดจำหน่ายในตลาด รวมไปถึง IBM ยักษ์ใหญ่แห่งอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ในเวลานั้น ได้เข้ามาลงสู่สนามคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กไล่ ๆ กัน
ซึ่งตอนนั้นเอง ที่เราได้เริ่มมีชื่อเรียกคอมพิวเตอร์ขนาดเล็ก
ซึ่งก็มีจุดเริ่มต้นมาจาก IBM ที่ได้เรียกมันว่า Personal Computer หรือ “PC”
แต่ด้วยความที่ยังไม่มั่นใจว่า PC จะประสบความสำเร็จหรือไม่
IBM จึงเลือกวิธีการจ้างผลิต แทนที่จะลงทุนผลิตเองในเริ่มแรก
จึงได้มีการติดต่อ Microsoft ให้มาเขียนระบบปฏิบัติการให้และออกมาเป็นระบบปฏิบัติการ DOS
ในขณะที่ หน่วยประมวลผล ก็ได้เลือกที่จะใช้ของ Intel ซึ่งเป็นผู้นำในตลาด
ในเวลานั้น IBM เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีตลาดอยู่ทั่วโลก แต่สำหรับ Intel
แม้จะเป็นผู้นำในตลาดหน่วยประมวลผล แต่ธุรกิจยังมีขนาดเล็กมาก
IBM จึงมีความกังวลว่ากำลังการผลิตของ Intel อาจจะไม่สามารถรองรับกับยอดขาย PC ของบริษัท
นั่นจึงทำให้ IBM ได้ตั้งเงื่อนไขว่า Intel จะต้องหาผู้ผลิตเพิ่มขึ้นมาอีกราย รวมถึงต้องให้สิทธิและเทคโนโลยีในการผลิต CPU ร่วมกันเพื่อส่งมอบให้ IBM
เมื่อเรื่องเป็นแบบนี้ Intel ที่ไม่อยากพลาดสัญญามูลค่ามหาศาลจาก IBM จึงต้องหาพาร์ตเนอร์เข้ามาร่วมผลิต
Intel จึงได้ยื่นข้อเสนอให้กับ AMD เนื่องจากมีเทคโนโลยีในการผลิตที่ใกล้เคียงกันและตัวผู้ก่อตั้งรู้จักกันมาตั้งแต่สมัยอยู่ Fairchild Semiconductor ทำให้ Intel ไว้วางใจ AMD มากกว่าบริษัทอื่นในอุตสาหกรรม
ซึ่งแน่นอนว่า AMD ก็ตอบตกลงและร่วมมือกับ Intel ในการผลิต CPU ให้กับคอมพิวเตอร์ของ IBM
หลังจากนั้นมา คอมพิวเตอร์ PC ของ IBM ประสบความสำเร็จอย่างมาก พร้อม ๆ กับการเติบโตของตลาดคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการเติบโตของ Intel และ AMD
ทำให้ในเวลาต่อมา Intel ก็ได้เติบโตและขยายธุรกิจจนมีกำลังการผลิตมากเพียงพอ
ที่จะรองรับความต้องการ CPU ของ IBM ได้ทั้งหมดโดยไม่ต้องพึ่งพา AMD แล้ว
แต่ในช่วงเดียวกันนั้นเอง AMD กลับเริ่มผลิต CPU และจัดจำหน่ายในราคาที่ถูกกว่า Intel ให้กับผู้ผลิตคอมพิวเตอร์รายอื่น ๆ อย่างเช่น Compaq ซึ่งนับเป็นการตัดราคาขาย CPU ของ Intel โดยตรง
Intel จึงมีความต้องการที่จะยกเลิกสัญญาเดิมเพื่อเป็นผู้ผลิตเพียงรายเดียวให้กับ IBM และยึดเอาสิทธิในเทคโนโลยีที่ตนเป็นผู้คิดค้นกลับคืนมาจาก AMD ทั้งหมด
พอเรื่องเป็นแบบนี้ AMD จึงคัดค้านการยกเลิกสัญญาและได้ฟ้องร้องต่อศาลเพื่อให้สิทธิคุ้มครองเนื่องจากกล่าวว่า Intel ละเมิดสัญญาและกรณีนี้เข้าข่ายว่า Intel จะเป็นผู้ผูกขาดเทคโนโลยี
บทสรุปความขัดแย้งในครั้งนั้น ศาลก็ได้ตัดสินเป็นประโยชน์ต่อ AMD เนื่องจากต้องการให้มีการแข่งขันกัน มากกว่าจะให้ Intel ผูกขาดตลาดแต่เพียงรายเดียว
และแม้ว่า Intel จะยื่นอุทธรณ์แล้ว แต่กระบวนการพิจารณาก็กินระยะเวลานาน ทำให้ในระหว่างนี้ AMD ก็ยังผลิต CPU ด้วยเทคโนโลยีที่ Intel เป็นผู้คิดค้นขึ้นต่อไปได้
ส่งผลให้ Intel ต้องพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต CPU ของตัวเองให้มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้นและจดสิทธิบัตรเทคโนโลยีใหม่ ด้วยการเพิ่มหน่วยความจำขนาดเล็กเข้าไปในระบบของ CPU หรือที่เรียกว่า Cache
และอีกเทคโนโลยีหนึ่งคือ Floating Point Unit หรือ FPU ซึ่งช่วยในการคำนวณตัวเลขที่ซับซ้อน
ทำให้ CPU ของ Intel สามารถใช้งานโปรแกรมทางวิศวกรรมที่ซับซ้อน หรือคำนวณภาพและเกมสามมิติ
และด้วยการจดสิทธิบัตรใหม่นี้เอง ทำให้ Intel ไม่ต้องแบ่งปันเทคโนโลยีการผลิต CPU รุ่นใหม่ให้กับ AMD เพราะคำสั่งศาลเดิมมีผลเฉพาะกับเทคโนโลยีรูปแบบเก่า แต่ไม่มีผลกับ CPU รุ่นใหม่ ที่จะมี Cache และ FPU ติดตั้งเข้าไปด้วย
หลังจากนั้น Intel ก็มีเทคโนโลยีอีกหลายตัว ที่ถูกเพิ่มเข้าไปใน CPU ทำให้ Intel นำหน้า AMD มาโดยตลอด
โดยเฉพาะการเปิดตัวสัญลักษณ์ “Intel Inside” ในปี 1991 ซึ่งเป็นสติกเกอร์ที่จะแปะติดอยู่บนเคสคอมพิวเตอร์หรือโน้ตบุ๊กทุกเครื่องที่ใช้หน่วยประมวลผลของ Intel
ซึ่งกลยุทธ์นี้มีจุดเริ่มต้นมาจาก Andrew Grove สมาชิกคนที่ 3 ที่ลาออกมาจาก Fairchild Semiconductor ที่ได้ไอเดียว่าเขาอยากจะสร้างการรับรู้ต่อแบรนด์ให้กับผู้คนทั่วไปได้รู้จัก Intel มากขึ้น
เพราะในอดีต ลูกค้าของ Intel มีแต่ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์รายใหญ่ในตลาด
หากทำให้ผู้บริโภครายย่อยรู้ว่าคอมพิวเตอร์ของพวกเขามี CPU ของ Intel เป็นส่วนประกอบ
ในระยะยาว มันก็จะสร้างความน่าเชื่อถือและการรับรู้ต่อแบรนด์ได้ ไม่มากก็น้อย
ซึ่งในช่วงนั้น ประสิทธิภาพของ Intel เหนือกว่า AMD อย่างเห็นได้ชัด การใส่ Intel Inside เข้าไปก็จะยิ่งทำให้คอมพิวเตอร์ดูมีประสิทธิภาพสูงขึ้นไปโดยปริยาย
ด้วยความสำเร็จของทั้งเทคโนโลยีและการสร้างแบรนด์ของ Intel บริษัทแห่งนี้ จึงกลายเป็นเจ้าตลาดหน่วยความจำคอมพิวเตอร์ ทำให้ Intel กินส่วนแบ่งในตลาดมากถึง 70% ถึง 80% มาโดยตลอด
และแม้ว่า AMD จะพยายามพัฒนามากแค่ไหน แต่ก็ดูเหมือนว่าจะตามหลัง Intel อยู่ตลอดเวลา
และมาถึงจุดวิกฤติของ AMD จากการเปิดตัว CPU ตระกูล AMD Bulldozer ในช่วงปี 2011
AMD Bulldozer เป็น CPU ที่มีการออกแบบระบบการทำงานร่วมกันภายในที่ผิดพลาด
ทำให้ CPU ใช้พลังงานมากกว่ารุ่นอื่น ๆ และปล่อยความร้อนออกมาปริมาณมาก ซึ่งเรื่องนี้ก็กลายเป็นชื่อเสียงในด้านแย่ ๆ ที่ติดตัว AMD มาโดยตลอด
ปัญหาการกินไฟและความร้อนสูงส่งผลโดยตรงต่อประสิทธิภาพของโน้ตบุ๊ก
ทำให้ผู้ผลิตโน้ตบุ๊กในตลาด ต่างพากันไปใช้ Intel
และ Intel ก็ได้อาศัยความผิดพลาดของ AMD ในการสร้างความได้เปรียบให้กับตัวเอง ด้วยการโปรโมตว่า CPU ของ Intel กินไฟน้อยกว่า และเย็นกว่า
ความผิดพลาดที่เกิดขึ้น ส่งผลให้ส่วนแบ่งตลาด CPU ของ AMD ที่
มีสัดส่วนประมาณ 25% ในปี 2011 ปรับตัวลดลงเหลือเพียง 18% ในปี 2016
AMD ต้องหันมาปรับปรุงเทคโนโลยีการผลิต CPU ของตัวเองใหม่เพื่อที่จะยังคงอยู่ในตลาด CPU ต่อไปได้ จนในปี 2017 AMD ก็ได้เปิดตัว CPU รุ่นใหม่ในตระกูล “Ryzen” ที่มาพร้อมกับสถาปัตยกรรมแบบใหม่ที่มีชื่อว่า Zen
AMD Ryzen ถือว่าเป็น CPU ที่มีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับ Intel และสามารถแก้ปัญหาเก่า ๆ ที่เกิดขึ้นจาก CPU ตระกูล Bulldozer ทั้งเรื่องการกินไฟและความร้อน
ประกอบกับเทคโนโลยีของ Intel ก็เริ่มไม่มีลูกเล่นใหม่ ๆ และการปรับลดขนาดทรานซิสเตอร์ของ Intel ที่มีการปรับลดลงมาและนำหน้า AMD มาโดยตลอด แต่กลับมาหยุดชะงักที่ 14 นาโนเมตร
ในขณะที่ AMD กลับสามารถปรับลดได้ถึง 7 นาโนเมตรได้ก่อน Intel
ซึ่งถึงแม้ว่าในแง่ของประสิทธิภาพการทำงานของ CPU จะไม่ได้แตกต่างกันมากนัก
แต่ในมุมของผู้บริโภคแล้ว ประเด็นนี้เป็นสัญญาณว่า CPU ของ AMD ไม่ได้ตามหลัง Intel อีกต่อไป..
ทำให้ในปัจจุบัน ส่วนแบ่งตลาด CPU ของ AMD ก็เพิ่มกลับมาอยู่ในระดับที่สูงถึง 40% ในระยะเวลาเพียงไม่กี่ปี
อย่างไรก็ตาม การแข่งขันของเจ้าแห่งชิปคอมพิวเตอร์ทั้ง 2 ราย ดูเหมือนจะยิ่งดุเดือดมากขึ้น
เมื่อ Intel ได้ปรับกลยุทธ์บริษัทใหม่ ทั้งการเปลี่ยนตัว CEO ของบริษัทในปี 2021
มีการเปลี่ยนจากผลิตชิปของตัวเองเท่านั้น ไปเป็นรับจ้างผลิตให้แบรนด์อื่นเหมือน TSMC ที่ผลิตให้ Apple
รวมถึงการรุกเข้าสู่ตลาดการ์ดจอ ซึ่งแต่เดิมมีเจ้าตลาดอยู่แล้วคือ NVIDIA และ AMD
ก็ไม่น่าเชื่อเหมือนกันว่าจากพันธมิตรทางธุรกิจของ Intel และ AMD ในวันนั้น
จะกลายมาเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ทั้ง 2 บริษัท ยังคงแข่งขันกันอย่างทุกวันนี้
และจากเมกะเทรนด์ที่กำลังจะมาอย่าง “Metaverse” ที่เกี่ยวข้องกับทั้งนวัตกรรมการประมวลผลและกราฟิกโดยตรง
เราก็น่าจะสรุปได้ว่า
ทั้ง Intel และ AMD จะเป็น 2 ตัวละครสำคัญในด้านการประมวลผลคอมพิวเตอร์
ทั้งในโลกจริง และโลกเสมือนที่กำลังจะใหญ่ขึ้น ในอนาคต..
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://www.extremeit.com/amd-cpu-history-1/
-https://www.extremeit.com/intel-brief-his-coffee-lake/
-https://www.investopedia.com/insights/why-amd-intels-only-competitor-intc-amd/#citation-4
-https://jolt.law.harvard.edu/digest/intel-and-the-x86-architecture-a-legal-perspective
-https://www.youtube.com/watch?v=e0r0QpzWITQ
-https://www.longtunman.com/30041
-https://www.longtunman.com/26273
-https://www.zunesis.com/a-history-of-the-semiconductor-market-amd-vs-intel/
-https://www.britannica.com/topic/Advanced-Micro-Devices-Inc
-https://www.modify.in.th/27045
-https://www.cpubenchmark.net/market_share.html
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.