ถ้าดอกเบี้ยขึ้น จะกระทบอะไร กับตลาดหุ้น

ถ้าดอกเบี้ยขึ้น จะกระทบอะไร กับตลาดหุ้น

7 ม.ค. 2022
ถ้าดอกเบี้ยขึ้น จะกระทบอะไร กับตลาดหุ้น /โดย ลงทุนแมน
สถานการณ์เศรษฐกิจโลกในตอนนี้ ต้องบอกว่าอยู่ในช่วงที่หลาย ๆ ประเทศกำลังฟื้นตัว
ซึ่งสิ่งที่ตามมาคือ อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูง จนธนาคารกลางหลายแห่งต้องเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อชะลอความร้อนแรงของเงินเฟ้อ
ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว เมื่ออัตราดอกเบี้ยปรับสูงขึ้น มักจะส่งผลเสียต่อตลาดหุ้น เนื่องจากผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนหลายแห่งมีแนวโน้มลดลง จากต้นทุนทางการเงินที่ปรับเพิ่มขึ้น
หรือในมุมของการคำนวณ Valuation ด้วยวิธีคิดลดกระแสเงินสดในอนาคตของบริษัท
หากอัตราดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้น อัตราคิดลดก็จะสูงขึ้นตาม
ซึ่งจะเป็นผลให้นักลงทุน ปรับลด Valuation ของบริษัทลงจากช่วงอัตราดอกเบี้ยต่ำ ๆ ได้
หลายคน โดยเฉพาะที่เป็นนักลงทุนในหุ้นจึงเริ่มกังวลว่า
การปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ย อาจจะทำให้หุ้นที่ตัวเองถือนั้นมูลค่าลดลง
แต่รู้ไหมว่า.. หลายครั้งเมื่ออัตราดอกเบี้ยขึ้น ราคาหุ้นก็ไม่ได้ลงเสมอไป
ทำไม ดอกเบี้ยขึ้น หุ้นไม่จำเป็นต้องลง ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 2 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
มาดูกันว่า อัตราเงินเฟ้อล่าสุดในเดือนพฤศจิกายน ของกลุ่มประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ ๆ
- สหรัฐอเมริกา อัตราเงินเฟ้อ 6.8% สูงสุดในรอบ 39 ปี
- สหราชอาณาจักร อัตราเงินเฟ้อ 5.1% สูงสุดในรอบ 10 ปี
- สหภาพยุโรป อัตราเงินเฟ้อ 4.9% สูงสุดในรอบ 25 ปี
แล้วการที่เงินเฟ้อทั่วโลกเร่งตัวสูงขึ้นนั้นเกิดจากอะไร ?
ถ้าจะอธิบายเป็นภาพรวมก็ต้องบอกว่าเกิดมาจาก 2 สาเหตุหลัก คือ
1) ความต้องการซื้อสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น (Demand-pull Inflation)
ความต้องการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่อัดอั้นมานานในช่วงล็อกดาวน์ อันเนื่องมาจากโควิด 19
เมื่อรวมกับการที่หลายประเทศอัดฉีดงบประมาณหนัก ๆ แจกจ่ายเงินให้แก่ผู้บริโภคเพื่อนำมาจับจ่ายใช้สอย สำหรับกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็ทำให้แรงซื้อของผู้บริโภค เพิ่มขึ้นอย่างมากช่วงที่ผ่านมา
2) ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น (Cost-push Inflation)
หนึ่งในต้นทุนการผลิตที่สำคัญของหลายอุตสาหกรรม คือ ต้นทุนด้านพลังงาน
ซึ่งนับจากต้นปีจนถึงวันนี้ ราคาพลังงานโดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบ Brent และ WTI ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่า 40%
ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่ ประเทศผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่พยายามจำกัดปริมาณการผลิต และความต้องการน้ำมันก็เพิ่มสูงขึ้นจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว

ยังไม่รวมถึง การที่โควิด 19 ส่งผลทำให้การขนส่งต่าง ๆ ต้องประสบปัญหา
อย่างกรณี ต้นทุนการขนส่งสินค้าทางเรือที่สูงขึ้นจากค่าระวางเรือที่พุ่งขึ้น จนทำให้ราคาสินค้าต่าง ๆ โดยเฉพาะวัตถุดิบและสินค้านำเข้าจากต่างประเทศปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งสถานการณ์ต่าง ๆ ที่ว่ามานี้ จึงทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกเร่งตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
ในทางเศรษฐศาสตร์นั้น การเร่งตัวของเงินเฟ้อที่เร็วเกินไปจะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจ เนื่องจาก
- ทำให้อำนาจซื้อหรือเงินที่อยู่ในมือของประชาชนมีมูลค่าน้อยลงอย่างมาก
- ทำให้ธุรกิจวางแผนการผลิตยาก เพราะต้นทุนสินค้าอาจเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
- ทำให้ผู้บริโภคหรือประชาชนวางแผนการบริโภคและการออมได้ยากมากขึ้น จึงทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจมีความผันผวน
ดังนั้น หลายธนาคารกลางจึงมักใช้ “ยาแรง” เพื่อตัดไฟแต่ต้นลม
ซึ่งยาแรงที่ว่าก็คือ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจ และฉุดเงินเฟ้อให้ชะลอลง
ซึ่งการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย คือการส่งสัญญาณให้อัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงิน ไม่ว่าจะเป็นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ เพิ่มขึ้นตามไปด้วย
เมื่ออัตราดอกเบี้ยเงินฝากเพิ่มสูงขึ้น ก็จูงใจให้คนนำเงินไปฝากมากกว่าที่จะใช้จ่าย ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่เพิ่มขึ้น ก็ทำให้คนขาดแรงจูงใจที่จะไปกู้เงินเพื่อมาใช้จ่ายหรือบริโภค
อีกด้านหนึ่ง เศรษฐกิจที่ชะลอความร้อนแรงลงจากการขึ้นดอกเบี้ย ก็ทำให้หลายบริษัทอาจค้าขายได้ลำบาก จนส่งผลทำให้รายได้และกำไรของบริษัทลดลง
เมื่อรวมกับการที่บริษัทไหนมีเงินกู้ยืมมาก ๆ หรือมีแผนจะกู้เงินในอนาคต จะทำให้ต้นทุนทางการเงินสูงขึ้น และก็จะมากระทบกับกำไรของบริษัทเช่นกัน
และในมุมของการคำนวณ Valuation ด้วยวิธีคิดลดกระแสเงินสดในอนาคตของบริษัท
หากอัตราดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้น อัตราคิดลดก็จะสูงขึ้นตาม
ซึ่งจะเป็นผลให้นักลงทุน ปรับลด Valuation ของบริษัทลงจากช่วงอัตราดอกเบี้ยต่ำ ๆ ได้
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ คือรากฐานสำคัญของแนวคิดที่ว่า
ทำไมเมื่ออัตราดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้น ราคาหุ้นมักจะปรับตัวลดลงนั่นเอง
แต่ถ้าเรามาดูสถิติที่เกิดขึ้นในอดีต หลายครั้งที่อัตราดอกเบี้ยปรับตัวขึ้น ดัชนีราคาหุ้นก็ไม่ได้ปรับตัวลดลงเสมอไป
ยกตัวอย่างเช่น
ต้นปี 1994 อัตราดอกเบี้ย FED เท่ากับ 3.35% ดัชนี S&P 500 เท่ากับ 470 จุด
ต้นปี 2001 อัตราดอกเบี้ย FED เท่ากับ 6.00% ดัชนี S&P 500 เท่ากับ 1,300 จุด
กลางปี 2003 อัตราดอกเบี้ย FED เท่ากับ 1.00% ดัชนี S&P 500 เท่ากับ 970 จุด
กลางปี 2006 อัตราดอกเบี้ย FED เท่ากับ 5.25% ดัชนี S&P 500 เท่ากับ 1,250 จุด

ปลายปี 2008 อัตราดอกเบี้ย FED เท่ากับ 0.25% ดัชนี S&P 500 เท่ากับ 890 จุด
ปลายปี 2018 อัตราดอกเบี้ย FED เท่ากับ 2.50% ดัชนี S&P 500 เท่ากับ 2,480 จุด
Eric Swanson ศาสตราจารย์ด้านการเงินแห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย บอกว่า
สาเหตุที่เป็นแบบนี้ เนื่องจากตลาดหุ้นมักจะให้ผลตอบแทนที่ดีเมื่อเศรษฐกิจกำลังปรับตัวดีขึ้น จึงไม่น่าแปลกใจ ที่ผลตอบแทนโดยเฉลี่ยของตลาดหุ้นจะทำได้ดี แม้ว่าจะอยู่ในช่วงที่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
หรือในทางกลับกัน ตลาดหุ้นสามารถให้ผลตอบแทนที่แย่ได้ แม้ในช่วงที่มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ย
เพราะมันเป็นช่วงเวลาที่เศรษฐกิจกำลังอยู่ในภาวะชะลอตัว หรือตกต่ำจนส่งผลกระทบต่อกำไรของหลายบริษัทในตลาดหุ้น
พูดง่าย ๆ ก็คือ การจะมองทิศทางของตลาด มันยังมีอีกหลายปัจจัยที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้น นอกเหนือไปจาก ทิศทางการเคลื่อนไหวของอัตราดอกเบี้ย ไม่ว่าจะเป็น
- กำไรของบริษัทจดทะเบียน
- สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ
- ความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ
- สถานการณ์พิเศษ เช่น การเกิดโรคระบาด หรือภัยอันตรายใด ๆ ที่ส่งผลต่อการทำธุรกิจของบริษัทต่าง ๆ
นอกจากนี้ ก็ไม่ใช่ว่าทุกธุรกิจจะได้รับผลกระทบเชิงลบ
เพราะธุรกิจบางอย่างอาจได้ประโยชน์เมื่อดอกเบี้ยขึ้น
ยกตัวอย่างเช่น
- ธุรกิจธนาคารพาณิชย์
พอดอกเบี้ยนโยบายปรับขึ้น ธนาคารก็ปล่อยกู้ด้วยอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นได้
ในขณะที่การปรับขึ้นดอกเบี้ยของเงินฝากนั้น มักเพิ่มขึ้นในขนาดที่น้อยกว่า หรือช้ากว่าการปรับเพิ่มของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (Net Interest Margin) นั้นกว้างขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อกำไรของธนาคารพาณิชย์นั่นเอง
- ธุรกิจประกันชีวิต
การปรับขึ้นของดอกเบี้ย ทำให้ตราสารหนี้รุ่นใหม่ ๆ ที่ออกมานั้นมีอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น
ซึ่งถามว่ามันเกี่ยวอะไรกับธุรกิจประกัน ?
ก็เพราะสำหรับธุรกิจประกันชีวิตนั้น เมื่อบริษัทประกันได้รับเงินเบี้ยประกันจากลูกค้ามา จะมีบางส่วนที่บริษัทเอาไปลงทุนในตราสารหนี้ และยังรวมถึง เงินที่บริษัทประกันนำไปลงทุนใหม่ หรือ Reinvest ซึ่งพออัตราดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้น ก็จะทำให้บริษัทประกันได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนที่สูงขึ้นนั่นเอง
ถ้าเราอ่านมาถึงตรงนี้ ก็น่าจะพอเข้าใจแล้วว่า
การปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ย
มันไม่จำเป็นต้องทำให้หุ้นทุกบริษัทมีความน่าสนใจ หรือมูลค่าลดน้อยลง เสมอไป..
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 2 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References:
-https://www.cbc.ca/news/business/us-inflation-1.6280794
-https://www.aa.com.tr/en/europe/euro-area-inflation-hits-25-year-high/2434755
-https://www.reuters.com/world/uk/uk-inflation-jumps-10-year-high-51-2021-12-15/
-https://www.bot.or.th/Thai/ResearchAndPublications/articles/Pages/Article_20Nov2021.aspx
-https://www.investopedia.com/terms/d/discounting.asp
-https://www.marketwatch.com/story/why-a-fed-rate-hike-could-be-just-the-medicine-stocks-need-to-keep-this-bull-market-going-11635955739
-https://www.thebalance.com/fed-funds-rate-history-highs-lows-3306135
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.