ผู้ก่อตั้ง Grab จากหลานชายคนขับแท็กซี่ สู่อาณาจักรดิลิเวอรี 7 แสนล้าน

ผู้ก่อตั้ง Grab จากหลานชายคนขับแท็กซี่ สู่อาณาจักรดิลิเวอรี 7 แสนล้าน

31 ม.ค. 2022
ผู้ก่อตั้ง Grab จากหลานชายคนขับแท็กซี่ สู่อาณาจักรดิลิเวอรี 7 แสนล้าน /โดย ลงทุนแมน
“สั่ง Grab สิ” หนึ่งในคำพูดที่แสนธรรมดาประจำมื้อเที่ยงของใครหลายคนในปัจจุบัน
ทั้ง ๆ ที่หากเราพูดประโยคเดียวกันนี้ เมื่อ 7 หรือ 8 ปีก่อน
คำคำนี้ ยังเป็นเพียงคำธรรมดาที่คนไทยแทบไม่ได้ใช้กันเลยในชีวิตประจำวัน
“Grab” ได้กลายมาเป็น Generic Name หรือคำสามัญ เป็นสัญลักษณ์ของการสั่งดิลิเวอรีไปแล้ว
ไม่ว่าจะเป็นการสั่งอาหาร ก็จะมี GrabFood
บริการสั่งซื้อของจากซูเปอร์มาร์เก็ต ก็จะมี GrabMart
รวมถึงบริการเรียกรถ ก็จะเป็น GrabCar และ GrabTaxi
หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่า Grab เกิดขึ้นมาจากความพยายาม
ที่จะแก้ไขปัญหารถแท็กซี่ในประเทศมาเลเซีย
แต่ปัจจุบัน Grab ได้ก้าวขึ้นมาเป็นบริษัท ที่มีมูลค่าสูงถึง 7 แสนล้านบาท
แล้วใครกัน ที่เป็นผู้ก่อตั้ง บริษัทแห่งนี้ ?
วันนี้ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 2 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
เรื่องราวของ Grab เริ่มต้นมาจากชายที่มีชื่อว่าคุณ Anthony Tan
เขาเกิดที่กัวลาลัมเปอร์ เมืองหลวงของประเทศมาเลเซีย ในปี 1982 หรือราว 40 ปีก่อน
ซึ่งตั้งแต่เกิด ชีวิตของเด็กคนนี้ ก็วนเวียนอยู่กับคำว่า “แท็กซี่” ตลอดเวลา
เริ่มตั้งแต่รุ่นคุณปู่ หรือคุณ Tan Yuet Foh ซึ่งมีอาชีพเป็นคนขับแท็กซี่
หลังจากคุณ Tan Yuet Foh ขับแท็กซี่หาเลี้ยงชีพได้สักระยะหนึ่ง เขาก็ได้ก่อตั้ง “Tan Chong Motor Holdings Berhad” เพื่อทำธุรกิจตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ในประเทศมาเลเซีย
หลังจากนั้น ก็ได้มีการขยายกิจการ ทั้งนำเข้าชิ้นส่วนของเครื่องยนต์ ไปจนถึงรับจ้างผลิตชิ้นส่วนของเครื่องยนต์ โดยประธานบริษัทในปัจจุบันก็คือคุณ Tan Heng Chew คุณพ่อของคุณ Anthony Tan
ในวัยเด็กพ่อกับแม่ของเขามักเล่าเรื่องของคุณปู่ให้ฟังอยู่เสมอว่า คุณปู่ของเขาเป็นคนที่หากตั้งใจทำอะไรแล้ว ก็จะไม่ล้มเลิกความตั้งใจนั้นง่าย ๆ
ครั้งหนึ่งในช่วงที่ปู่ของเขากำลังเริ่มก่อตั้งบริษัท
ปู่ของเขาเคยไปยืนรอนานถึง 14 ชั่วโมง ที่หน้าบริษัท Datsun
บริษัทผลิตและพัฒนารถยนต์สัญชาติญี่ปุ่น เพียงเพื่อขอซื้อรถยนต์ Datsun มาจำหน่ายเพียง 2 คัน
ซึ่งเรื่องราวนี้ก็ได้สร้างความประทับใจให้กับคุณ Anthony Tan ตั้งแต่เด็กจนถึงทุกวันนี้
หลังจากคุณ Anthony Tan จบการศึกษาในระดับปริญญาตรี สาขา Economics and Public Policy จากมหาวิทยาลัย Chicago
เขาได้กลับมาทำงานที่บริษัทของครอบครัวเพื่อเก็บประสบการณ์ทำงาน
โดยภายหลังจากทำงานได้ประมาณ 5 ปี เขาก็ได้ตัดสินใจ
กลับไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัย Harvard ในสาขา MBA
และที่มหาวิทยาลัยนี้เอง ที่เรียกได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของ Grab
ในระหว่างที่เขาใช้ชีวิตอยู่ที่ Harvard นั้น
เขามักจะได้ฟังเพื่อน ๆ ของเขาบ่นถึงปัญหารถแท็กซี่ที่บ้านเกิดของเขา
ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาเรื่องของความปลอดภัย การโดนโก่งราคา หรือการเรียกรถที่ยากแสนยาก
โดยเฉพาะเพื่อนสนิทของเขา คุณ Tan Hooi Ling ที่ต้องแกล้งทำเป็นคุยโทรศัพท์กับแม่ทุกวัน
ระหว่างนั่งแท็กซี่กลับบ้านตอนกลางคืน เพื่อความปลอดภัยส่วนตัว..
ด้วยความที่คุณ Anthony Tan เอง คุ้นเคยกับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ รถแท็กซี่อยู่แล้ว
ในปี 2011 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของการเรียน
เขาและคุณ Tan Hooi Ling จึงตัดสินใจอย่างจริงจังที่จะแก้ปัญหา “แท็กซี่” ในมาเลเซีย
ซึ่งในช่วงเวลานั้น เป็นช่วงที่การใช้งานอินเทอร์เน็ตและสมาร์ตโฟนในมาเลเซียกำลังเติบโต
หากเราลองมาดูภาพรวมการใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศมาเลเซีย ปี 2011 จะพบว่า
- จำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตอยู่ที่ 16.72 ล้านคน คิดเป็น 58.38% ของประชากรในตอนนั้น
- จำนวนผู้ใช้งานสมาร์ตโฟนอยู่ที่ 6.15 ล้านคน คิดเป็น 21.46% ของประชากรในตอนนั้น
แม้จำนวนผู้ใช้งานสมาร์ตโฟน ณ ขณะนั้นยังไม่มากนัก
แต่ก็มีอัตราการเติบโตที่สูงถึง 96% หรือเกือบเป็นเท่าตัว เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
เมื่อเห็นถึงแนวโน้มและการเติบโตนี้
ทั้งคุณ Anthony Tan และคุณ Tan Hooi Ling ตัดสินใจที่จะสร้างตัวกลาง
ระหว่างคนขับแท็กซี่กับผู้โดยสาร โดยสร้างเป็นแอปพลิเคชันบนสมาร์ตโฟน
และแม้ว่าในตอนแรก ไอเดียนี้จะถูกมองว่าไม่สามารถใช้งานได้จริงจากอาจารย์ที่ปรึกษาในมหาวิทยาลัย
แต่ทั้งคู่ก็ยังเชื่อว่ามีความเป็นไปได้และได้นำไอเดียนี้ไปเข้าแข่งขัน Harvard Business School New Venture Competition ประจำปี 2011 จนสามารถชนะและได้เงินรางวัลมาประมาณ 820,000 บาท
หลังจากสามารถชนะการแข่งขัน ซึ่งเป็นช่วงที่เขาจบการศึกษาพอดี
เขาได้กลับมาทำงานที่บริษัท Tan Chong Motor Holdings Berhad
ในตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายซัปพลายเชนและการตลาด
ทันทีที่กลับมาถึงบ้านเกิดของเขา เขาก็ได้เริ่มต้นธุรกิจตามที่เขาตั้งใจไว้
โดยเริ่มจากสร้างแอปพลิเคชันเรียกรถแท็กซี่ที่มีชื่อว่า “MyTeksi” ขึ้นมา
แต่เรื่องกลับไม่ง่ายอย่างที่เขาคิด เนื่องจากในตอนนั้นบริการเรียกรถผ่านแอปพลิเคชันบนสมาร์ตโฟนยังเป็นเรื่องที่ใหม่มาก แม้แต่ Uber เอง ก็ยังเพิ่งเริ่มให้บริการได้เพียง 3 ปี
ด้วยความที่เป็นเรื่องใหม่นี่เอง ทำให้เหล่าบริษัทที่ให้บริการแท็กซี่
รวมถึงคนขับเอง ไม่เข้าใจและไม่สนใจที่จะเข้าร่วมกับ MyTeksi
แต่ข่าวร้ายยังไม่หมดเพียงเท่านี้ เมื่อคุณ Tan Hooi Ling เพื่อนที่ร่วมก่อตั้งบริษัทกับเขา
ต้องกลับไปทำงานที่บริษัท McKinsey & Company เพื่อใช้ทุนการศึกษา
ทำให้ตอนนั้นเหลือแค่คุณ Anthony Tan เพียงลำพัง
มาถึงจุดนี้ หากเป็นคนอื่นที่กำลังอยู่จุดเดียวกับเขา
อาจยอมแพ้และเลือกทำงานที่บริษัทของคุณปู่ต่อไป
ซึ่งก็เรียกได้ว่าเป็นเส้นทางที่สบายและแทบไม่ต้องดิ้นรนอะไรมาก
แต่ด้วยความตั้งใจและสิ่งที่คุณปู่เคยสอนเขามาตั้งแต่เด็กว่าไม่ให้ยอมแพ้อะไรง่าย ๆ
คุณ Anthony Tan ตัดสินใจที่จะลาออกจากบริษัทของครอบครัว
เพื่อหันมาทุ่มเทให้กับ MyTeksi อย่างเต็มที่แทน
การตัดสินใจในครั้งนี้ทำให้คุณพ่อของเขาไม่พอใจเป็นอย่างมาก
จนถึงขั้นบอกกับคุณ Anthony Tan ว่าจะไม่ให้เงินทุนสนับสนุนสำหรับ MyTeksi ของเขา
ทำให้เขาต้องมองหาเงินทุนเริ่มต้น ซึ่งก็มีทั้งจากเงินรางวัล 820,000 บาท
บวกกับเงินส่วนตัว และเงินทุนบางส่วนที่ได้มาจากคุณแม่ของเขา
โดยในช่วงแรก เวลาส่วนใหญ่ของเขาได้หมดไปกับการเข้าไปพูดคุยกับเหล่าบริษัท
ที่ให้บริการแท็กซี่ เพื่อโน้มน้าวให้เห็นถึงข้อดีของแอปพลิเคชัน MyTeksi
ประกอบกับการใช้งานแอปพลิเคชันบนสมาร์ตโฟน ก็ได้เริ่มเติบโตขึ้นด้วย
ทำให้หลังจากนั้น MyTeksi ก็เริ่มมีผู้ใช้งานมากขึ้น จนยอดดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
เพิ่มมากขึ้นถึง 400,000 ครั้ง ภายในระยะเวลาไม่กี่เดือน
จากนั้นในปี 2013 หลังจากที่ผู้ใช้งานในประเทศมาเลเซียเริ่มมีมากขึ้นแล้ว
เขาจึงได้มองไปยังการบุกตลาดต่างประเทศ โดยเริ่มจากประเทศใกล้เคียงอย่าง สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ รวมถึงประเทศไทยด้วย
พร้อมกับทำการเปลี่ยนชื่อบริษัทจากคำว่า Teksi ซึ่งหมายถึง แท็กซี่ ในภาษามาเลเซียให้มีความเป็นสากลมากขึ้น จนท้ายที่สุดก็ได้กลายมาเป็นคำว่า “GrabTaxi”
ในกลางปี 2013 GrabTaxi มียอดดาวน์โหลดแอปพลิเคชันกว่า 1.2 ล้านดาวน์โหลด
โดยเฉลี่ยแล้ว ทุก ๆ 8 วินาทีจะมีคนกดเรียกรถ 1 ครั้ง หรือคิดเป็น 10,800 ครั้งต่อวัน
จากการที่เริ่มบุกตลาดต่างประเทศ ทำให้คุณ Anthony Tan ต้องเดินทางไปหลายประเทศ รวมถึงสิงคโปร์
และที่นี่เอง ที่ทำให้เขาได้มีโอกาสพบกับคุณ Jixun Foo ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ GGV Capital
บริษัท Venture Capital สัญชาติสิงคโปร์ ที่เน้นการลงทุนในบริษัทสตาร์ตอัปตั้งแต่ช่วงเริ่มต้น
ซึ่งผลงานการลงทุนที่ผ่านมามีทั้ง Xpeng, DiDi และผลงานที่โดดเด่นที่สุดของเขาคือ สามารถสร้างผลตอบแทนได้กว่า 1,200 เท่าจากการลงทุนใน Baidu เซิร์ชเอนจินยักษ์ใหญ่ของประเทศจีน
ซึ่งเมื่อคุณ Jixun Foo ได้พูดคุยกับคุณ Anthony Tan ไม่นาน เขาก็ได้เห็นถึงศักยภาพของคุณ Anthony Tan
ทำให้เขาตัดสินใจนำเงินมาลงทุนใน GrabTaxi เป็นจำนวน 496 ล้านบาท
แม้อาจจะไม่ใช่เม็ดเงินจำนวนมาก ที่จะสามารถทำให้บริษัทเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด
แต่ผลจากการที่สามารถระดมทุนได้ในครั้งนี้ ถือเป็นจุดที่ได้สร้างความเชื่อมั่นในบริษัท
ให้กับเหล่า VC รายอื่น ๆ รวมไปถึงบริษัทจัดการลงทุนอีกมากมาย
จนทำให้มี VC และบริษัทเหล่านั้นได้เข้ามาลงทุนเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็น Tiger Global Management
รวมไปถึงการลงทุนครั้งใหญ่ มูลค่ามากถึง 8,260 ล้านบาท จาก SoftBank Group ของมหาเศรษฐีชาวญี่ปุ่นอย่างคุณ Masayoshi Son
ในช่วงที่ GrabTaxi สามารถระดมทุนมาได้ เป็นช่วงเดียวกับที่คุณ Tan Hooi Ling
ได้ใช้ทุนการศึกษาจนครบ เธอจึงได้กลับมาทำงานที่ GrabTaxi ในตำแหน่ง COO
ซึ่งการกลับมาของคุณ Tan Hooi Ling พร้อมกับเงินทุนในมือจำนวนมหาศาล ทำให้ GrabTaxi สามารถเติบโตอย่างก้าวกระโดด
กระโดดในระดับที่เพียง 1 ปีหลังจากนั้น GrabTaxi ได้สามารถรุกเข้าสู่ธุรกิจบริการอื่น ๆ เพิ่มเติมอีกมากมาย เช่น GrabBike, GrabCar, GrabExpress และได้บุกเข้าตลาดเวียดนามและอินโดนีเซีย
จนในปี 2016 คุณ Anthony Tan ได้ทำการเปลี่ยนชื่อบริษัทอีกหนึ่งครั้ง เป็น Grab Holdings Inc.
หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า “Grab” เนื่องจากในตอนนี้ Grab ได้มีบริการเพิ่มเติมอีกมากมาย
ไม่ใช่เพียงบริการเรียกรถแท็กซี่เหมือนเดิมอีกต่อไป
ปัจจุบัน Grab ให้บริการหลากหลาย โดยจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก ๆ ด้วยกัน
- Delivery ตัวอย่างบริการเช่น GrabFood และ GrabMart
- Mobility ตัวอย่างบริการเช่น GrabTaxi และ GrabCar
- Financial Services ตัวอย่างบริการเช่น GrabPay รวมถึง GrabFinance บริการปล่อยสินเชื่อในบางประเทศ
โดย Grab เปิดให้บริการทั้งหมด 8 ประเทศ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ได้แก่ มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์, เวียดนาม, อินโดนีเซีย, พม่า, กัมพูชา และไทย
แล้วเราเคยสงสัยไหมว่าในประเทศไทย
Grab มีส่วนแบ่งการตลาดดิลิเวอรี มากขนาดไหน ?
หากเราลองมาดูตัวเลขส่วนแบ่งการตลาดของ Food Delivery จะพบว่าในปี 2020
- Grab มีส่วนแบ่งการตลาด 50%
- Foodpanda มีส่วนแบ่งการตลาด 23%
- LINE MAN มีส่วนแบ่งการตลาด 20%
- Gojek มีส่วนแบ่งการตลาด 7%
จากตัวเลขก็อาจจะเป็นการตอบคำถามได้ว่า Grab ครองส่วนแบ่งแอปพลิเคชันส่งอาหารเป็นครึ่งหนึ่งของทั้งหมด
นั่นอาจเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ว่า ทำไมทุกวันนี้คำว่า “Grab” จึงกลายมาเป็นคำติดปากที่ใครหลาย ๆ คนใช้กันเป็นประจำ
โดยในช่วงปลายปีที่ผ่านมา Grab ก็ได้จดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้สำเร็จ
ซึ่งทางบริษัทก็ได้รายงานผลประกอบการ 9 เดือน ปี 2021
รายได้ 18,278 ล้านบาท ขาดทุน 81,145 ล้านบาท
ในขณะที่ปัจจุบัน Grab มีมูลค่าอยู่ราว 7 แสนล้านบาท ซึ่งทั้งหมดที่เล่ามานั้น เกิดขึ้นภายในระยะเวลาเพียง 10 ปี..
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
รู้หรือไม่ว่า ?
ผู้ก่อตั้งของ Grab ซึ่งก็คือคุณ Anthony Tan และคู่แข่งคนสำคัญของ Grab ในอินโดนีเซียชื่อ Gojek ซึ่งมีผู้ก่อตั้งคือคุณ Nadiem Makarim
โดยทั้งคู่เคยเป็นเพื่อนร่วมชั้นเรียนกันในสมัยที่เรียน Harvard Business School นั่นเอง..
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 2 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://wiki.sg/index.php?title=Anthony_Tan_(CEO_of_Grab)&mobileaction=toggle_view_mobile
-https://www.forbes.com/profile/anthony-tan/?sh=563b0f7e485c
-https://en.wikipedia.org/wiki/Grab_(company)
-https://www.tanchonggroup.com
-https://www.blockdit.com/posts/610abea3ff28790746a10662
-https://www.digitalnewsasia.com/sizzle-fizzle/myteksi-launches-as-grabtaxi-in-bangkok-and-singapore
-https://apacentrepreneur.com/anthony-tan-a-man-with-a-mission-to-drive-southeast-asia-forward/
-https://www.statista.com/statistics/975058/internet-penetration-rate-in-malaysia/
-https://www.statista.com/statistics/494587/smartphone-users-in-malaysia/
-https://www.cnbc.com/2014/12/03/softbank-invests-250m-in-southeast-asian-taxi-hailing-app-grabtaxi.html
-https://www.statista.com/statistics/1247775/thailand-leading-food-delivery-services-by-market-share/
-https://www.forbes.com/profile/jixun-foo/?sh=541e2f4a3dc4
-https://www.techinasia.com/grab-ggv-relationship
-https://en.wikipedia.org/wiki/GGV_Capital
-https://app.dealroom.co/companies/grab
-https://www.grab.com/sg/locations/
-Grab Quarterly Report Q1,Q2,Q3 (https://investors.grab.com/financials-and-filings/financial-results-center)
Tag: grab
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.