สรุปตำนาน รถแทรกเตอร์ ยันม่าร์

สรุปตำนาน รถแทรกเตอร์ ยันม่าร์

5 เม.ย. 2022
สรุปตำนาน รถแทรกเตอร์ ยันม่าร์ /โดย ลงทุนแมน
หลายคนอาจรู้จัก ยันม่าร์ ในฐานะแบรนด์รถแทรกเตอร์
แต่เรื่องที่หลายคนอาจยังไม่รู้กันคือ ชื่อของแบรนด์และบริษัท ยันม่าร์
ไม่ได้เกี่ยวข้องกับผู้ก่อตั้งบริษัทอย่างคุณ Magokichi Yamaoka แต่อย่างใด
โดยแท้จริงแล้ว ยันม่าร์ เป็นชื่อของแมลงปอสายพันธุ์หนึ่ง
แล้วเรื่องราวธุรกิจรถแทรกเตอร์ ชื่อแมลงปอนี้ มีที่มาอย่างไร ?
วันนี้ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 2 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
เรื่องราวของ ยันม่าร์ เริ่มต้นมาจากชายชาวญี่ปุ่น ชื่อว่าคุณ Magokichi Yamaoka
คุณ​ Magokichi Yamaoka เกิดเมื่อปี ค.ศ. 1888 ในครอบครัวที่มีอาชีพเป็นชาวนา
โดยคุณ Yamaoka นั้น เป็นลูกชายคนที่ 9 จากพี่น้องทั้งหมด 10 คน
หลังจากที่จบการศึกษาในระดับประถมศึกษา เขาและพี่น้องอีก 9 คน
ได้กลับมาที่บ้านเพื่อช่วยงานของครอบครัว ซึ่งก็คือการทำนา
แต่แล้วในปี ค.ศ. 1903 ในวันที่คุณ Yamaoka มีอายุได้ 15 ปี
เขาก็เริ่มมีความคิดที่ว่า เขาไม่อยากมีชีวิตที่จะต้องตื่นขึ้นมาทำนาไปวัน ๆ
บวกกับในช่วงเวลานั้น ซึ่งเป็นช่วงเวลาหลังจากที่ประเทศญี่ปุ่น
เพิ่งผ่านการปฏิรูปครั้งใหญ่ หรือที่เรียกกันว่า “ปฏิรูปเมจิ”
จากการปฏิรูป ก็ได้ส่งผลให้ประเทศญี่ปุ่น เกิดการเปลี่ยนแปลงในหลากหลายด้าน
ไม่ว่าจะเป็นการยกระดับระบบขนส่ง และเกิดการย้ายเมืองหลวงจากเกียวโต สู่โตเกียว
ยุคนั้น รัฐบาลมีการผลักดันให้หลายเมืองในญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศแห่งอุตสาหกรรม
โดยเริ่มจากเมืองใหญ่อย่าง โตเกียว, ฮิโรชิมะ, นางาซากิ รวมไปถึงโอซากะ
ซึ่งก็ส่งผลให้เมืองเหล่านั้น เกิดการเปลี่ยนแปลงไป
โดยเฉพาะ โอซากะ ที่ในเวลาต่อมา ได้กลายเป็นหนึ่งในเมืองที่เปรียบเสมือนศูนย์กลางแห่งอุตสาหกรรม
ซึ่งเรื่องดังกล่าว ก็ได้ทำให้คุณ Yamaoka ตัดสินใจมุ่งหน้าสู่ โอซากะ
แต่ก็แน่นอนว่า เด็กหนุ่มที่เติบโตมากับการทำนา และจบการศึกษาเพียงระดับประถมศึกษา ย่อมไม่ได้มีความรู้ความสามารถในด้านอื่นมากนัก
เพื่อที่จะหาว่าตัวเขานั้นเหมาะกับงานประเภทใด ทำให้ในช่วงแรกที่มาถึงโอซากะ คุณ Yamaoka จึงได้ลองทำงานอยู่หลายที่ เช่น เป็นตัวแทนจำหน่ายผ้าฝ้าย, ฝึกงานที่บริษัทประปา, ขายสบู่ ไปจนถึงทำงานที่ร้านถักนิตติง
หลังจากลองผิดลองถูก เปลี่ยนงานไปมา นานถึง 2 ปี
ในที่สุดเขาก็มีโอกาส ได้เข้าทำงานที่บริษัท “Osaka Gas”
ในเวลานั้น บริษัทแห่งนี้ ทำธุรกิจจัดส่งก๊าซ ครอบคลุมมากถึง 3,350 ครัวเรือน
สำหรับงานของคุณ Yamaoka ที่นี่ ก็คือการรับผิดชอบหน่วยซ่อมบำรุงเครื่องยนต์ก๊าซ
และที่ Osaka Gas นี่เอง ที่ทำให้เขาได้รู้จักกับคุณ Sentaro Okoshi เพื่อนร่วมงานของเขา
หลังจากทำงานได้ไม่นาน คุณ Yamaoka ก็เริ่มเข้าใจกลไกการทำงานของเครื่องยนต์
โดยเฉพาะเครื่องยนต์ที่เกี่ยวกับก๊าซ
ทำให้หลังจากที่เข้าทำงานที่ Osaka Gas ได้เพียงปีเดียว
คุณ Yamaoka จึงตัดสินใจลาออก เพื่อมาก่อตั้งบริษัท “Yamao Gas Shokai”
โดยบริษัทของเขาจะมีสินค้าและบริการตั้งแต่ขายท่อยาง, รับติดตั้งเครื่องยนต์และอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับระบบเครื่องยนต์ก๊าซ
ในขณะที่คุณ Sentaro Okoshi เพื่อนร่วมงานของเขา ก็ได้ออกจากบริษัท เพื่อไปเปิดโรงหล่อเหล็ก
ภายหลังจากก่อตั้งบริษัทได้เพียง 1 ปี เหตุการณ์ที่เป็นเหมือนจุดเปลี่ยนแรกของคุณ Yamaoka ก็มาถึง
เมื่อเขาเริ่มนำเครื่องยนต์ก๊าซรุ่นเก่าที่ยังมีสภาพดี มาซ่อมและปรับปรุงให้เหมือนเป็นเครื่องใหม่
แล้วนำกลับไปขายอีกครั้ง
เนื่องจากเป็นเครื่องยนต์เก่าที่มีสภาพดีอยู่แล้ว ทำให้มีต้นทุนในการผลิตที่ต่ำ
จึงทำให้บริษัทของคุณ Yamaoka สามารถตั้งราคาขายได้ต่ำกว่าคู่แข่ง
จนส่งผลให้บริษัทมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด
จนในปี ค.ศ. 1912 คุณ Yamaoka ในวัย 24 ปี
จึงได้ทำการเปลี่ยนแนวทางของบริษัท จากการที่เน้นขายอะไหล่
มาเป็นการนำเครื่องยนต์ก๊าซเก่า มาซ่อมแล้วปรับปรุงให้ใช้งานได้
พร้อมกับเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น “Yamaoka Hatsudoki Kosakusho”
หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 จบลงในปี ค.ศ. 1918 เศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่น ก็เข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างหนัก
ส่งผลกระทบไปยังหลายธุรกิจ แน่นอนว่ารวมถึงธุรกิจเครื่องยนต์ก๊าซของคุณ Yamaoka ด้วย
จนเวลาผ่านไป 2 ปี เศรษฐกิจของญี่ปุ่น ก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะฟื้นกลับมาได้ คุณ Yamaoka จึงเริ่มที่จะมองหาธุรกิจใหม่
เขาได้นึกย้อนกลับไปถึงคุณ Sentaro Okoshi เพื่อนร่วมงานเก่าของเขา ที่ลาออกไปเปิดธุรกิจโรงหล่อเหล็ก
และที่ต้องนึกถึงเพื่อนเก่าคนนี้ ก็เนื่องมาจากบ่อยครั้งที่คุณ Sentaro Okoshi มักจะเดินทางมาซื้อเครื่องยนต์ก๊าซเก่าจากเขา ทั้ง ๆ ที่ธุรกิจโรงหล่อเหล็ก ไม่น่าจะได้ใช้ประโยชน์จากเครื่องยนต์ก๊าซเลย
คุณ Yamaoka จึงตัดสินใจเดินทางไปยังเมืองมารุกาเมะ เพื่อตามหาคุณ Sentaro Okoshi
เป็นระยะทางกว่า 200 กิโลเมตรจากโอซากะ สู่เมืองมารุกาเมะ ในที่สุดเขาก็ตามหาเพื่อนของเขาจนเจอ
เมื่อได้พบกับคุณ Sentaro Okoshi เขาก็รู้คำตอบของการที่เพื่อนของเขา มักเดินทางมาซื้อเครื่องยนต์ในทันที
โดยคุณ Sentaro Okoshi นำเครื่องยนต์ก๊าซ มาดัดแปลงให้กลายเป็นเครื่องยนต์สำหรับ “เครื่องสีข้าว”
ที่ใช้พลังงานจากน้ำมัน จากนั้นก็นำเครื่องสีข้าวไปขายให้กับชาวนา
ซึ่งแน่นอนว่าก็ขายดี จนชนิดที่เรียกได้ว่าผลิตแทบไม่ทัน
เนื่องจากอุตสาหกรรมการเกษตรของญี่ปุ่นในตอนนั้น
กำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากแรงงานคนมาสู่เครื่องจักร
เรื่องนี้ก็ได้ทำให้คุณ Yamaoka เกิดไอเดีย และเริ่มหันหัวเรือของบริษัทเข้าสู่อุตสาหกรรมการเกษตร
โดยนำเครื่องยนต์มาดัดแปลงให้มีขนาดเล็กและมีน้ำหนักเบาลง ให้สามารถเคลื่อนย้ายได้สะดวกขึ้น
ด้วยประสบการณ์ตั้งแต่เด็ก และเกิดในครอบครัวชาวนา ทำให้เขารู้ว่าด้วยเครื่องยนต์ขนาดใหญ่
น้ำหนักกว่า 560 กิโลกรัม ไม่ได้เหมาะกับครอบครัวชาวนาทุกครัวเรือน
ในระยะเวลาเพียง 3 เดือน หลังจากกลับมาที่โอซากะ
คุณ Yamaoka ก็สามารถดัดแปลงให้เครื่องยนต์มีขนาดเล็กลง
และมีน้ำหนักเบาลง จาก 560 กิโลกรัม เหลือเพียง 110 กิโลกรัม หรือเหลือเพียง 1 ใน 5 จากเมื่อก่อน
นอกจากนี้ เขายังได้ตั้งชื่อแบรนด์ของเครื่องยนต์นี้ โดยใช้ชื่อแบรนด์ว่า “Yanmar”
เพื่อให้ชื่อของแบรนด์สอดคล้องกับแนวทาง การทำธุรกิจที่กำลังจะมุ่งสู่อุตสาหกรรมการเกษตร
หลายคนอาจมีคำถามว่า แล้วชื่อ Yanmar มันเกี่ยวกับการเกษตรอย่างไร ?
คำตอบคือ คำว่า Yanmar นั้นมาจากชื่อของแมลงปอ
ซึ่งเปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของระบบนิเวศที่ดี
โดยแมลงปอสายพันธุ์ Anotogaster sieboldii หรือ “Oniyanma” ในภาษาญี่ปุ่น
เป็นแมลงปอที่มีขนาดใหญ่ จนได้รับฉายาว่า ราชาแห่งแมลงปอ
ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้คุณ Yamaoka ตัดสินใจนำคำว่า Yanmar มาใช้เป็นชื่อของแบรนด์ จนถึงทุกวันนี้
หลังจากนั้นบริษัทก็ได้นำเครื่องยนต์น้ำมัน ต่อยอดไปขยายกิจการให้หลากหลายขึ้น
ยกตัวอย่างก็เช่น
เครื่องยนต์สำหรับเครื่องสีข้าว
เครื่องยนต์สำหรับปั๊มสูบน้ำจากคลองสู่พื้นที่ทางการเกษตร
เครื่องยนต์สำหรับเรือตกปลา โดยใช้ชื่อว่า Yanmar Ford
เมื่อสินค้าเริ่มมีความหลากหลาย คุณ Yamaoka ก็ได้เริ่มบุกตลาดต่างประเทศ
โดยมีทั้งการส่งออกไปยังประเทศใกล้เคียงอย่าง เกาหลีใต้, ไต้หวัน และจีน
นอกจากนี้ยังได้ไปตั้งโรงงานการผลิตในประเทศฟิลิปปินส์
เหมือนเรื่องราวกำลังไปได้ด้วยดี
แต่แล้วก็เกิดเหตุการณ์ที่ทำให้บริษัทต้องสะดุดอีกครั้ง
เมื่อในช่วงปี ค.ศ. 1930 เกิดวิกฤติ The Great Depression ขึ้น
บวกกับเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในตอนนั้นที่มีความเปราะบาง จากนโยบายการคงภาวะเงินฝืดอยู่แล้ว
ทำให้เศรษฐกิจของญี่ปุ่นเข้าสู่ภาวะถดถอยอีกครั้ง ราคาของสินค้าเกษตร ลดลงไปกว่า 40%
ซึ่งแน่นอนว่า ส่งผลกระทบมาถึงธุรกิจของคุณ Yamaoka เพราะเขามีกลุ่มลูกค้าเป็นเกษตรกร
เหตุการณ์ในครั้งนี้เอง ที่ทำให้คุณ Yamaoka เริ่มมีความคิดที่จะสร้างเครื่องยนต์ที่ทำให้ต้นทุนการผลิตของเหล่าเกษตรกรลดลง
ซึ่งในช่วงเวลาเดียวกัน ก็เป็นช่วงเวลาที่เครื่องยนต์ดีเซลจากฝั่งเยอรมนีเริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้น
นับตั้งแต่คุณ Rudolf Diesel สามารถคิดค้นเครื่องยนต์ดีเซลได้ในช่วงทศวรรษ 1890s
จนในทศวรรษ 1930s เครื่องยนต์ดีเซล ก็เริ่มถูกนำมาใช้เป็นเครื่องยนต์สำหรับรถยนต์ทั่วไป
นอกจากนี้ น้ำมันดีเซลยังถือเป็นน้ำมันที่ไม่ได้มีคุณภาพสูงมาก ซึ่งก็ส่งผลให้ราคาของน้ำมันดีเซล
ที่เปรียบเสมือนต้นทุนของผู้ใช้เครื่องยนต์นั้นลดลงเหลือเพียง 1 ใน 4 ของน้ำมันชนิดอื่นเลยทีเดียว
แน่นอนว่า เมื่อคุณ Yamaoka ได้รู้เรื่องเข้า
เขาก็ไม่รอช้าที่จะเริ่มศึกษาเกี่ยวกับเครื่องยนต์ดีเซล
และก็เป็นอีกครั้งที่เขาพบว่าเครื่องยนต์ดีเซลในตอนนั้นยังคงมีขนาดใหญ่เกินไป
ทำให้เขาต้องการดัดแปลง เจ้าเครื่องยนต์ดีเซลให้มีขนาดเล็กลง
หลังจากใช้เวลานานถึง 1 ปี กับอีก 5 เดือน ซึ่งตอนนั้นคือปี ค.ศ. 1933
ในที่สุดคุณ Yamaoka ก็สามารถสร้างเครื่องยนต์ดีเซล ที่มีขนาดเล็กลงได้สำเร็จ
โดยใช้ชื่อรุ่นว่า “HB Model”
และรู้หรือไม่ว่า HB Model เครื่องนี้ ยังถือเป็นเครื่องยนต์ดีเซลขนาดเล็กเครื่องแรกของโลกอีกด้วย
ซึ่งคุณ Yamaoka ก็ไม่ได้หยุดเพียงเท่านี้
แต่ยังคงพัฒนาเครื่องยนต์ดีเซลที่มีขนาดเล็กลงและมีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่างรุ่น S-model และ K1
จนในปี ค.ศ. 1955 คุณ Yamaoka ได้รับรางวัลเหรียญทอง จากทางสมาคมนักประดิษฐ์ของประเทศเยอรมนี ประเทศที่เป็นเหมือนจุดเริ่มต้นของเครื่องยนต์ดีเซลเลยทีเดียว
โดยคุณ Yamaoka ถือเป็นคนแรกของโลก ที่ไม่ใช่ชาวเยอรมันที่ได้รับรางวัลนี้
ซึ่งเรื่องนี้ก็ได้สร้างชื่อเสียงให้กับบริษัท Yamaoka Hatsudoki Kosakusho จนเริ่มเป็นที่รู้จักจากทั่วโลก
จนในปี ค.ศ. 1962 คุณ Magokichi Yamaoka ในวัย 73 ปี ก็ได้เสียชีวิตลง
ซึ่งหลังจากที่คุณ Yamaoka เสียชีวิตไปได้ 5 ปี หรือในปี ค.ศ. 1967
ทางบริษัทก็ได้พัฒนารถแทรกเตอร์ จนสามารถนำออกสู่ตลาดได้สำเร็จ โดยใช้ชื่อรุ่นว่า Model YM273
และด้วยความสำเร็จของแบรนด์ Yanmar ซึ่งกลายเป็นที่จดจำของลูกค้า
ในปี ค.ศ. 2002 บริษัท Yamaoka Hatsudoki Kosakusho
จึงได้ทำการเปลี่ยนชื่อมาเป็น Yanmar Company Limited และใช้ชื่อนี้นับตั้งแต่นั้นมา
ในส่วนของประเทศไทยนั้น Yanmar
ได้เริ่มเข้ามาจัดตั้งบริษัท ยันม่าร์ เอส.พี. จำกัด ในปี ค.ศ. 1978
โดยเริ่มจากการจำหน่ายเครื่องยนต์ดีเซลขนาดเล็ก
จนในปัจจุบันได้ดำเนินธุรกิจประกอบและจัดจำหน่าย
- เครื่องจักรกลการเกษตร เช่น รถแทรกเตอร์, รถดำนา, รถเกี่ยวนวดข้าว, รถตัดอ้อย
- เครื่องจักรและอุปกรณ์เกี่ยวกับการก่อสร้าง เช่น รถขุดขนาดเล็ก
นอกจากนี้ยังมีบริษัทในเครือที่ให้บริการสินเชื่อด้านการเกษตร
คือบริษัท ยันม่าร์ แคบปิตอล (ไทยแลนด์) จำกัด
ปัจจุบัน บริษัท Yanmar Company Limited กลายมาเป็นบริษัทที่มีผลิตภัณฑ์มากมาย
ซึ่งเราอาจแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ ๆ ด้วยกัน
- Land ประกอบไปด้วยผลิตภัณฑ์ในกลุ่มการเกษตร
เช่น รถแทรกเตอร์, รถเกี่ยวนวดข้าว รวมไปถึงเครื่องยนต์ดีเซล
- Sea ประกอบไปด้วยเรือขนาดเล็ก เช่น เรือตกปลา,
เครื่องยนต์สำหรับเรือขนาดเล็ก และเครื่องยนต์สำหรับเรือขนาดใหญ่ เช่น เรือบรรทุกสินค้า
- City ประกอบไปด้วยรถขุดดินขนาดเล็ก หรือที่เราเรียกกันว่ารถแบ็กโฮ
โดยในปี 2021 ที่ผ่านมา บริษัทมีรายได้ 215,000 ล้านบาท กำไร 5,418 ล้านบาท
แล้วเรื่องราวของคุณ Yamaoka ได้ให้ข้อคิดอะไรกับเรา
จากเรื่องราวนี้เราจะเห็นว่า ตัวผู้ก่อตั้งบริษัทอย่างคุณ Yamaoka นั้น อาจแตกต่างจากผู้ก่อตั้งบริษัทระดับโลกที่เรารู้จักกันในทุกวันนี้ ที่มักคิดค้นสิ่งประดิษฐ์หรือนวัตกรรมใหม่ ๆ เป็นของตัวเอง เช่น เฟซบุ๊ก หรือแอปเปิล
แต่ความสำเร็จของคุณ Yamaoka เกิดขึ้นจากการนำสิ่งประดิษฐ์ที่มีมาก่อนแล้ว
มาดัดแปลงและต่อยอดให้เหมาะสมกับการใช้งาน ในอุตสาหกรรมที่เขารู้จักและคุ้นเคยเป็นอย่างดี
อย่างเช่นที่เขานำเครื่องยนต์น้ำมันขนาดใหญ่
มาดัดแปลงให้กลายเป็นเครื่องยนต์ขนาดเล็ก
แล้วนำไปต่อยอดสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ
ไม่ว่าจะเป็นเครื่องยนต์ของเครื่องสีข้าว หรือเครื่องยนต์ของเรือตกปลา
เราอาจสรุปเป็นข้อคิดสั้น ๆ ได้ว่า
บางครั้งการนำสิ่งที่มีอยู่ มาปรับใช้ให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า
โดยที่มันสามารถแก้ปัญหาให้พวกเขาได้จริง มันก็คือสิ่งที่สามารถทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จได้เช่นกัน..
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 2 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://www.yanmar.com/global/about/history/comics/
-https://www.yanmar.com/media/global/2016/history/100years_of_yanmar.pdf
-https://en.wikipedia.org/wiki/Osaka_Gas
-http://www.fundinguniverse.com/company-histories/osaka-gas-company-ltd-history/
-https://en.wikipedia.org/wiki/Gas_engine
-https://www.grips.ac.jp/teacher/oono/hp/lecture_J/lec09.htm
-https://www.yanmar-museum.jp/reserve/update/pdf.php?id=427&no=1
-https://www.yanmar.com/global/about/business/
-https://www.tractordata.com/farm-tractors/tractor-brands/yanmar/yanmar-tractors.html
-https://dieselnet.com/tech/diesel_history.php
-https://www.yanmartractor.com/about/our-history/
-https://www.ryt9.com/s/prg/3173301
-https://en.wikipedia.org/wiki/Yanmar
-Yanmar Company Limited Financial Statement 2021
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.