กรณีศึกษา ความผิดพลาด 4 แสนล้านบาท ของ Nike

กรณีศึกษา ความผิดพลาด 4 แสนล้านบาท ของ Nike

28 พ.ค. 2022
กรณีศึกษา ความผิดพลาด 4 แสนล้านบาท ของ Nike /โดย ลงทุนแมน
ปัจจุบัน Nike มีมูลค่าบริษัท 5.8 ล้านล้านบาท นับเป็นเจ้าของธุรกิจกีฬา ที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลก
แถมยังมีมูลค่ามากกว่าธุรกิจกีฬาอันดับที่ 2 อย่าง Adidas มากเป็น 5 เท่า
แม้เราจะรู้กันดีว่า Nike ประสบความสำเร็จในหลายด้าน
แต่บริษัทก็เคยทำเรื่องผิดพลาดมาบ้างเหมือนกัน
หนึ่งในนั้น ก็คือ การต่อสัญญากับสตีเฟน เคอร์รี
มือปืนหรือตัวทำแต้มระยะไกล ที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์บาสเกตบอล NBA
โดยในรอบหลายปีที่ผ่านมา เขาเป็นนักบาสเกตบอล ที่สร้างรายได้มากที่สุด
เป็นอันดับ 2 ของโลก เป็นรองเพียงเลอบรอน เจมส์ เท่านั้น
ปัจจุบัน เคอร์รีได้กลายมาเป็นพรีเซนเตอร์ให้กับ Under Armour
โดยมีการประเมินกันว่า เขาได้สร้างรายได้ให้กับบริษัท รวม ๆ กันแล้ว สูงกว่า 4.8 แสนล้านบาท
แล้ว Nike ผิดพลาดอะไร
เคอร์รีถึงไม่ต่อสัญญา และไปอยู่กับ Under Armour ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 2 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ย้อนกลับไปในปี 2013 หรือราว 9 ปีก่อน
ขณะนั้น สตีเฟน เคอร์รี เพิ่งเข้ามาเล่นบาสเกตบอลใน NBA ได้เพียง 4 ปี
และเขาก็ได้เป็นพรีเซนเตอร์ให้กับ Nike ตั้งแต่ตอนนั้น
แม้ว่าเคอร์รีจะมีฟอร์มการเล่นที่โดดเด่น แต่ในเรื่องของชื่อเสียงส่วนตัวนั้น
เขายังเป็นรองซูเปอร์สตาร์ชั้นนำ อย่างเลอบรอน เจมส์ และเควิน ดูแรนต์ อยู่มาก
ทีนี้มาดูในด้านของ Under Armour กันบ้าง
จริง ๆ แล้ว บริษัทแห่งนี้ได้เฝ้ารอ และเฝ้าติดตาม สตีเฟน เคอร์รี มาตั้งแต่สมัยเล่นอยู่ในลีกระดับมหาวิทยาลัย
แต่ด้วยความที่ชื่อชั้นของ Under Armour ยังคงไม่เทียบเท่ากับแบรนด์รายใหญ่ในตลาด
จึงไม่แปลกอะไรเลย ที่ดาวรุ่งอย่างเคอร์รี จะเลือกเซ็นสัญญากับ Nike
คำถามที่ตามมาก็คือ
แล้ว Under Armour ไปชิงเคอร์รีมาได้อย่างไร ?
สิ่งที่ Under Armour ทำได้ ก็เพียงแค่รอให้สัญญาของทั้งคู่สิ้นสุดลง แต่พวกเขาก็ไม่ได้รออยู่เฉย ๆ และรู้ตัวดีว่า การที่จะเข้าไปแย่งพรีเซนเตอร์มาจากแบรนด์กีฬาอันดับ 1 ของโลกนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย
Under Armour จึงต้องเริ่มจากการทำให้ เคอร์รีเห็นถึงความใส่ใจ และความจริงใจของแบรนด์ก่อน
ด้วยการเซ็นสัญญากับเพื่อนร่วมทีมของเคอร์รี ที่มีชื่อว่า “Kent Bazemore”
โดยเขาคนนี้ ก็เป็นอีกหนึ่งผู้เล่นหน้าใหม่ ที่ยังมีโอกาสเล่นเป็นตัวจริงน้อย
แต่ Under Armour ก็ได้ให้การดูแลกับ Bazemore เป็นอย่างดี
ในชนิดที่ว่า ดีกว่าที่เคอร์รีได้รับจาก Nike เสียอีก
นั่นจึงทำให้ในวันที่สัญญาระหว่างเคอร์รีกับ Nike ใกล้จะหมดลงในปี 2013
Under Armour ก็ได้กลายเป็นอีกแบรนด์ที่เคอร์รี จดจำไปเรียบร้อยแล้ว
แต่การจดจำและนึกถึงได้ ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น
เพราะอีกสาเหตุสำคัญ ที่ทำให้เคอร์รีไม่ต่อสัญญากับ Nike
ก็ต้องบอกว่าเป็นเพราะตัวของ Nike เอง
เพราะเมื่อถึงวันเจรจาเรื่องการต่ออายุสัญญา
Nike กลับเต็มไปด้วยความผิดพลาดระหว่างการพูดคุยกัน ไม่ว่าจะเป็น
- ตัวแทนจาก Nike ออกเสียงชื่อของสตีเฟน เคอร์รี ผิด
จาก สเตฟ-เฟ่น เป็น สเตฟ-ฟ่อน โดยบริษัทก็ไม่ได้มีการแก้ไขหรือขอโทษแต่อย่างใด
- ในสไลด์พรีเซนต์ กลับปรากฏชื่อของ เควิน ดูแรนต์ นักบาสเกตบอลชื่อดังอีกคน แทนที่จะเป็นชื่อของเคอร์รี คู่สัญญาที่กำลังพูดคุยกัน นี่จึงเปรียบเสมือนกับการนำงานที่เคยทำไว้ มาแก้ไขแค่บางจุด และนำมาใช้ต่อ
ทั้งสองเรื่องนี้เอง ที่สะท้อนให้เห็นว่าทีมงานของ Nike ไม่เตรียมตัวและทำการบ้านมาก่อน
ซึ่งมันก็ได้สร้างความไม่พอใจให้กับเคอร์รีและคุณพ่อของเขา ซึ่งเป็นบุคคลที่มีผลต่อการตัดสินใจของเขาเป็นอย่างมาก
นอกจากความผิดพลาดดังกล่าวแล้ว ในข้อตกลงของสัญญา ชื่อของเคอร์รียังไม่ถูกจัดให้เป็นดาวเด่นของ Nike เลย ผิดกับข้อเสนอของ Under Armour ที่ตั้งใจจะดันให้เคอร์รี ขึ้นมาเป็นตัวแทนของแบรนด์
อีกทั้ง Nike ยังไม่ตอบรับเงื่อนไขของเคอร์รี ที่ต้องการให้สนับสนุนค่ายฝึกบาสเกตบอลสำหรับเยาวชน ที่เขาต้องการจัดขึ้น เนื่องจากตัวเขาเองก็เคยได้เข้าร่วมแคมป์เมื่อสมัยยังเด็ก ซึ่ง Nike กลับให้สิทธิ์ดังกล่าวกับนักกีฬาคนอื่นแทน
อย่างไรก็ตาม ด้วยความผูกพันที่มีมาตั้งแต่เด็กและชื่อเสียงของ Nike ในวงการกีฬา
เคอร์รีจึงยังเก็บ Nike ไว้เป็นตัวเลือกของเขา แม้ว่าทั้งตัวของเขาเองและครอบครัว จะรู้สึกไม่พอใจ Nike แค่ไหนก็ตาม
แต่ด้วยความผิดพลาดของ Nike ก็ได้ทำให้เคอร์รีเปิดโอกาสให้กับ Under Armour เข้ามาเป็นตัวเลือกของ เขาด้วยอีกหนึ่งราย
จนถึงบทสรุปสุดท้าย ด้วยความที่มันเป็นการตัดสินใจที่ยาก
เคอร์รีจึงใช้วิธีนำรองเท้าจากทั้ง 3 แบรนด์ คือ Nike, Adidas และ Under Armour
มาวางเอาไว้ และให้ลูกสาวของเขาเป็นคนเลือก
ซึ่งลูกสาวของเขาก็หยิบรองเท้าของ Under Armour และยื่นให้กับเขา..
ทำให้ในที่สุด เคอร์รีก็ได้ตัดสินใจเซ็นสัญญากับ Under Armour
โดยสัญญาของ Under Armour ที่เสนอให้เขาคือ 138 ล้านบาทต่อปี
แม้จะเป็นมูลค่าที่ดูแพงสำหรับบริษัท แต่ก็ต้องบอกว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุดของบริษัท
โดยที่บอกว่าคุ้มค่า ก็เพราะไม่นานหลังจากนั้น ฟอร์มการเล่นของเคอร์รี ก็ได้เข้ามายกระดับเกมบาสเกตบอลไปสู่ยุคใหม่ รวมถึงตัวของเขาเอง ก็ได้รับการขนานนามว่าเป็นมือปืนที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์บาสเกตบอล NBA
สะท้อนให้เห็นจากการคว้าแชมป์ NBA ได้ถึง 3 สมัย ภายในระยะเวลาเพียง 4 ปี
พร้อมกวาดรางวัลและทำลายสถิติทั้งส่วนตัวและร่วมกับสโมสรอีกมากมาย
ด้วยชื่อเสียงของเขาที่เพิ่มมากขึ้น จนก้าวขึ้นมาเป็นนักบาสเกตบอลระดับโลก ก็ได้กลายเป็นส่วนสำคัญที่ผลักดันให้ยอดขายอุปกรณ์กีฬาของ Under Armour โดยเฉพาะรองเท้าบาสเกตบอลซิกเนเชอร์ที่ชื่อว่าเคอร์รี ขายดีแบบถล่มทลาย
หากเรามาดูผลประกอบการของ Under Armour ในปี 2012 ซึ่งเป็นปี
ก่อนที่จะได้เคอร์รีเข้ามาร่วมงาน เทียบกับในปี 2015 ซึ่งเป็นปีที่เคอร์รีได้แชมป์ NBA เป็นสมัยแรก และได้เข้ามาเป็นพรีเซนเตอร์ของบริษัทแล้ว
ปี 2012 รายได้ 63,136 ล้านบาท กำไร 4,438 ล้านบาท
ปี 2015 รายได้ 136,353 ล้านบาท กำไร 8,120 ล้านบาท
รายได้เติบโต 116%
กำไรเติบโต 83%
โดยเฉพาะยอดขายรองเท้าของ Under Armour ที่มีรองเท้าซิกเนเชอร์ของเคอร์รีเป็นรุ่นเรือธง
ปี 2012 รองเท้าของ Under Armour มียอดขาย 8,223 ล้านบาท
ปี 2015 มียอดขายรวม 23,328 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 184%
โดยในปี 2016 Morgan Stanley ได้มีการประเมินว่าตั้งแต่ Under Armour นำสตีเฟน เคอร์รี
เข้ามาเป็นพรีเซนเตอร์ เขาได้สร้างรายได้เข้าบริษัทรวมกัน มูลค่าสูงกว่า 4.8 แสนล้านบาท เลยทีเดียว
ปัจจุบัน สัญญาที่เคอร์รีได้จาก Under Armour ก็ปรับเพิ่มจาก 138 ล้านบาทต่อปี เป็น 688 ล้านบาทต่อปี
โดยในปีที่ผ่านมา เคอร์รีกลายเป็นนักกีฬาที่มีรายได้มากที่สุดเป็นอันดับ 5 ของโลก จากการจัดอันดับโดย Forbes
เรื่องราวในครั้งนี้ ก็เป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษาที่น่าสนใจ
แม้ว่าทุกวันนี้ Nike จะยังคงเป็นยักษ์ใหญ่เบอร์หนึ่งในวงการกีฬา
แต่จะเห็นได้ว่าระหว่างทาง Nike ก็ได้สร้างความผิดพลาดเหมือนกัน
อย่างในกรณีของการปล่อยให้เคอร์รีหลุดมือไป
จนกลายเป็นการสร้างคู่แข่งในธุรกิจรองเท้าบาสเกตบอลที่ชื่อว่า Under Armour ขึ้นมา
ในวันเจรจาต่อสัญญา หาก Nike ใส่ใจและให้ความสำคัญกับผู้ที่นั่งอยู่ตรงหน้าพวกเขา มากกว่านี้
Under Armour คงไม่ได้กลายมาเป็นตัวเลือกของเคอร์รี
แต่ดูเหมือนว่าผู้เปลี่ยนเส้นทางของ Under Armour มูลค่า 4.8 แสนล้านบาท จะไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นผู้ตัดสินใจครั้งสุดท้าย ซึ่งก็คือ ลูกสาวของเคอร์รี นั่นเอง..
╔═══════════╗
หนังสือ BRANDING THE NATION หนังสือที่เล่าถึงการสร้างแบรนด์ของแต่ละประเทศที่ทำให้ แต่ละประเทศเป็นแบบทุกวันนี้
เช่น ทำไมเยอรมนีเป็นประเทศแห่งรถยนต์ ทำไมฝรั่งเศสเป็นประเทศแห่งแบรนด์หรู
สั่งซื้อเลยที่
Lazada : https://www.lazada.co.th/products/i3719091419.html
Shopee : https://shopee.co.th/ลงทุนแมน-หนังสือ-BRANDING-THE-NATION-สร้างแบรนด์-แทนประเทศ-i.116732911.17558974952
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://www.forbes.com/sites/jonyoushaei/2020/09/03/how-under-armour-stole-steph-curry-from-nike/?sh=72c8863f6d8f
-https://www.forbes.com/sites/brettknight/2022/05/11/the-worlds-10-highest-paid-athletes-2022/?sh=31cbf8611f6c
-https://www.longtunman.com/34063
-https://www.longtunman.com/23403
-https://www.longtunman.com/1892
-https://underarmourinc.gcs-web.com/static-files/3e0be062-a08e-4355-abad-481e560fa836
-https://underarmourinc.gcs-web.com/static-files/4f141906-99bf-46e4-b103-76c8f3fe6c6c
-https://underarmourinc.gcs-web.com/static-files/57b70adf-cb2c-498c-a95b-b099b6a7d8f9
-https://www.businessinsider.com/steph-curry-worth-14-billion-to-under-armour-2016-3
-https://mainstand.co.th/511
-https://companiesmarketcap.com/under-armour/marketcap/
-https://www.republicworld.com/sports-news/basketball-news/steph-curry-could-become-first-player-in-nba-history-to-sign-200-dollars-million-contract-twice.html
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.