สรุปความรู้ หน้าที่แบงก์ชาติ ค่าเงิน เงินเฟ้อ ฉบับสมบูรณ์

สรุปความรู้ หน้าที่แบงก์ชาติ ค่าเงิน เงินเฟ้อ ฉบับสมบูรณ์

15 ก.ค. 2022
สรุปความรู้ หน้าที่แบงก์ชาติ ค่าเงิน เงินเฟ้อ ฉบับสมบูรณ์ /โดย ลงทุนแมน
ทำไมอัตราแลกเปลี่ยนของแต่ละประเทศผันผวนต่างกัน
ใครเป็นคนกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเหล่านั้น
แล้วธนาคารกลางมีบทบาทอย่างไรในอัตราแลกเปลี่ยนนั้น
ตอนนี้บางประเทศค่าเงินอ่อนลงมาก
แต่รู้หรือไม่ว่ายังมีบางประเทศ ที่ค่าเงินไม่เปลี่ยนแปลงเลย เนื่องจากพวกเขาตรึงค่าเงินของตัวเองไว้กับดอลลาร์สหรัฐ
การปล่อยค่าเงินให้ลอยตัว หรือตรึงค่าเงิน
แบบไหนดีกว่ากัน ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
เริ่มจากคำถามที่ว่าธนาคารกลางของแต่ละประเทศมีไว้เพื่ออะไร มีเป้าหมายอะไร ?
คำตอบของเป้าหมายสูงสุดนั้น แต่ละธนาคารก็จะคาดหวังไว้ว่าประเทศจะมีการเติบโตของเศรษฐกิจที่ดี หรือมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ซึ่งก็วัดได้จาก GDP หรือ อัตราการว่างงาน หรือ เสถียรภาพด้านราคาสินค้าในประเทศ
แต่การที่จะทำให้ถึงเป้าหมายสูงสุดได้นั้น ธนาคารกลางของแต่ละประเทศจะมีการกำหนดเป้าหมายขั้นกลางด้านนโยบายการเงิน หรือที่เรียกว่า Intermediate Policy Target ตัวอย่างเช่น
- เป้าหมายด้านค่าเงิน (Exchange Rate Targeting)
- เป้าหมายด้านปริมาณเงิน (Monetary Aggregates Targeting)
- เป้าหมายด้านเงินเฟ้อ (Inflation Targeting)
ซึ่งการจะเลือกเป้าหมายแบบไหน ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศ
โดยวิธีปฏิบัติของธนาคารกลางก็จะเริ่มจากการปรับอัตราดอกเบี้ยให้ขึ้นหรือลง เพื่อให้ไปถึงตามเป้าหมายขั้นกลางที่กำหนดไว้
เช่น ถ้าเลือก Inflation Targeting ธนาคารก็จะขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อลดอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบเป้าหมาย โดยธนาคารกลางหวังผลว่าเมื่อเงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมายแล้ว ก็จะส่งผลให้เศรษฐกิจไปถึงเป้าหมายสูงสุดที่ทำให้เศรษฐกิจเติบโต และมีเสถียรภาพ
แต่รู้หรือไม่ว่าในช่วงแรกเริ่มนั้น ธนาคารกลางในหลายประเทศ ไม่ได้มีเป้าหมายด้านเงินเฟ้อ (Inflation Targeting) แต่ชอบที่จะเลือกเป้าหมายเป็นอัตราแลกเปลี่ยน หรือ Exchange Rate Targeting เป็นหลัก
ซึ่ง Exchange Rate Targeting ทำได้หลายวิธี เช่น
1. Fixed หรือ Pegged ตรึงค่าเงินกับสกุลเงินที่อ้างอิงเป็นค่าเดียว (ประเทศไทยใช้วิธีนี้ก่อนเกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง)
2. Managed Fixed บริหารค่าเงินกับสกุลเงินที่อ้างอิง โดยทำให้ค่าเงินอยู่ในกรอบที่กำหนด
3. Managed Float ปล่อยให้ค่าเงินลอยตัว โดยมีธนาคารกลางคอยแทรกแซงเพื่อให้มีเสถียรภาพ
ประเทศที่เหมาะสำหรับการเลือกตรึงค่าเงิน จะเป็นประเทศที่มีการกู้เงินต่างประเทศเป็นจำนวนมาก มีการส่งออกมาก หรือเป็นเมืองท่า ทั้งนี้ก็เพื่อให้ง่ายต่อการบริหารจัดการ และลดความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนที่จะมากระทบกับเศรษฐกิจ
แต่การจะเลือกตรึงค่าเงิน ประเทศนั้นก็จะต้องมีวินัยในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยให้สอดคล้องกับค่าเงินที่อ้างอิง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหา Impossible Trinity (หากสงสัยว่าคืออะไร ลองค้นหาคำนี้ในเว็บไซต์ลงทุนแมน)
รวมถึงประเทศนั้นต้องมีเงินทุนสำรองจำนวนมากที่จะสร้างความน่าเชื่อถือในการแลกเปลี่ยนสกุลเงิน ถ้าประเทศนั้นไม่มีวินัย ก็อาจเป็นช่องโหว่ในการถูกโจมตีค่าเงินได้
ดังนั้น การใช้เป้าหมายขั้นกลางเป็น Exchange Rate Targeting มันอาจไม่เหมาะสมสำหรับบางประเทศที่ไม่มีวินัย และไม่โปร่งใส ซึ่งประเทศที่ประสบปัญหานี้ในอดีต ก็อย่างเช่น ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตอนก่อนเกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง หรือประเทศเวเนซุเอลาตอนที่รัฐใช้นโยบายประชานิยม หรือกรีซที่ก่อหนี้เกินตัวเมื่อใช้สกุลเงินยูโร
ดังนั้น Exchange Rate Targeting มีความเสี่ยงที่จะทำให้ไม่บรรลุเป้าหมายทางการเงินขั้นสูงสุดที่อยากให้เศรษฐกิจเติบโต ก็เพราะว่าประเทศต้องใช้เงินจำนวนมากไปพยุงอัตราแลกเปลี่ยนให้คงที่
ดังนั้นหลังเกิดวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 1997 ธนาคารกลางในหลายประเทศ จึงเปลี่ยนเป้าหมายขั้นกลางจาก Exchange Rate Targeting มาเป็น Inflation Targeting หรือเป้าหมายด้านเงินเฟ้อแทน เพราะมันมีความโปร่งใสมากกว่า ช่วยทำให้ไปถึงเป้าหมายสูงสุดได้เหมาะสมกว่า
และที่สำคัญยังช่วยให้ธนาคารกลางมีอิสรภาพในการดำเนินนโยบายการเงินได้มากกว่าด้วย
โดยประเทศที่นำ Inflation Targeting มาใช้เป็นประเทศแรก ๆ ก็คือ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ และตอนหลัง ประเทศไทยก็เปลี่ยนมาใช้ Inflation Targeting เช่นเดียวกัน
และนั่นก็เป็นสาเหตุว่าทำไมปัจจุบัน ในหลายประเทศรวมถึงประเทศไทย ถึงให้ความสำคัญกับอัตราเงินเฟ้อมากเป็นพิเศษ และสำคัญกว่าอัตราแลกเปลี่ยนเสียอีก..
สำหรับบางประเทศที่ยังคงตรึงค่าเงินของตัวเองไว้กับดอลลาร์สหรัฐ
ข้อมูลจาก IMF ระบุว่าจาก 192 ประเทศทั่วโลก
มี 38 ประเทศ ที่ใช้นโยบายการเงินที่สอดคล้องไปกับดอลลาร์สหรัฐ
โดยจะเป็นประเทศที่ทำการค้ากับสหรัฐอเมริกา หรือมีรายได้ในรูปของดอลลาร์สหรัฐเป็นหลัก เช่น
- ประเทศที่พึ่งพาการท่องเที่ยวในแถบทะเลแคริบเบียน อย่างเช่น บาฮามาส,​ บาร์เบโดส
- ประเทศค้าน้ำมันในตะวันออกกลาง อย่างเช่น ซาอุดีอาระเบีย,​​ กาตาร์, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่ต่างก็มีรายได้ในรูปแบบของดอลลาร์สหรัฐทั้งนั้น
- เขตบริหารพิเศษฮ่องกง ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ตรึงดอลลาร์ฮ่องกงไว้กับดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากเป็นหนึ่งในศูนย์กลางทางการเงินและเศรษฐกิจของโลก
สาเหตุที่หลายประเทศเลือกตรึงค่าเงินกับดอลลาร์สหรัฐ ก็เพราะว่าธุรกรรมทางการเงินมากกว่า 40% ของโลกอยู่ในรูปของดอลลาร์สหรัฐ
นอกจากดอลลาร์สหรัฐแล้ว ยูโรก็เป็นอีกหนึ่งสกุลเงินที่มีถึง 25 ประเทศ ไม่รวมประเทศในสหภาพยุโรปเลือกที่จะใช้นโยบายการเงินที่สอดคล้องไปกับสกุลเงินยูโร
สำหรับประเทศไทยปัจจุบัน ถึงแม้ว่าจะใช้เป้าหมาย Inflation Targeting หรือเงินเฟ้อเป็นหลัก แต่เป้าหมายสูงสุดของธนาคารแห่งประเทศไทยจะมี 3 ด้านคือ เสถียรภาพด้านราคา เศรษฐกิจเติบโต และเสถียรภาพของระบบการเงิน ทำให้ในด้านอัตราแลกเปลี่ยน ประเทศไทยยังคงใช้ Managed Float หรือปล่อยให้เงินลอยตัวแบบมีการจัดการ ควบคู่กันกับ Inflation Targeting
ซึ่งหมายความว่า ค่าเงินบาทจะถูกปล่อยและกำหนดโดยกลไกตลาด แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะเข้ามาดูแลในกรณีที่ค่าเงินบาทแข็งค่า หรืออ่อนค่าเร็วเกินไปในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ เพื่อให้ระบบการเงินมีเสถียรภาพ
ดังนั้นสรุปแล้ว การเลือกเป้าหมายทางการเงิน ของธนาคารกลางจะเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ซึ่งมันจะกำหนดทิศทางของเศรษฐกิจในแต่ละประเทศว่าจะเดินไปทางไหน และมันจะส่งผลต่อประชาชนทุกคนของประเทศในที่สุด นั่นเอง..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-​​https://www.investopedia.com/terms/c/currency-peg.asp#:~:text=A%20currency%20peg%20is%20a,exchange%20rates%20for%20business%20planning.
-https://www.thebalance.com/what-is-a-peg-to-the-dollar-3305925
-https://www.elibrary.imf.org/view/books/012/29310-9781513556567-en/29310-9781513556567-en-book.xml?code=imf.org
-https://www.investopedia.com/articles/forex/030616/why-chinese-yuan-pegged.asp#:~:text=The%20Chinese%20yuan%20has%20had,to%20those%20of%20other%20nations
-https://www.bot.or.th/Thai/MonetaryPolicy/MonetPolicyKnowledge/Pages/Framework.aspx
-https://www.bot.or.th/Thai/FinancialMarkets/ForeignExchangeMarket/Pages/default.aspx
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.