จีน สหรัฐ ไต้หวัน ความท้าทาย ของเศรษฐกิจโลก

จีน สหรัฐ ไต้หวัน ความท้าทาย ของเศรษฐกิจโลก

6 ส.ค. 2022
จีน สหรัฐ ไต้หวัน ความท้าทาย ของเศรษฐกิจโลก /โดย ลงทุนแมน
ประเด็นที่หลายคนกำลังจับตามองในเวลานี้
คงหนีไม่พ้นความสัมพันธ์ ระหว่างจีน สหรัฐอเมริกา และไต้หวัน
เพราะความขัดแย้งระหว่างจีนกับไต้หวัน ที่มีสหรัฐอเมริกาอยู่ข้าง ๆ นั้น
ดูเหมือนจะไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจโลกเท่าไรนัก
ต้นตอของเรื่องนี้ เริ่มขึ้นตั้งแต่เมื่อไร
แล้วความขัดแย้งในครั้งนี้ จะนำไปสู่ความท้าทายต่อเศรษฐกิจโลก อะไรบ้าง ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ก่อนอื่นต้องบอกว่าในอดีตนั้น
ไต้หวันเคยเป็นส่วนหนึ่งของจีน มานานกว่า 200 ปี
ช่วงราชวงศ์ชิง หรือที่หลายคนอาจคุ้นหูกันในชื่อ ราชวงศ์แมนจู
จนกระทั่งในปี 1895 ได้เกิดสงครามระหว่างจีนกับญี่ปุ่นขึ้น และจีนเป็นฝ่ายพ่ายแพ้
ราชวงศ์ชิง จึงต้องยอมยกเกาะไต้หวันให้แก่จักรวรรดิญี่ปุ่น
ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ไต้หวันจึงอยู่ภายใต้การปกครองของญี่ปุ่น เป็นเวลาหลายทศวรรษ
เวลาผ่านมาจนกระทั่งญี่ปุ่น พ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2
ทำให้ต้องเข้าทำสนธิสัญญาสันติภาพซานฟรานซิสโก
ซึ่งภายใต้สนธิสัญญาดังกล่าว ญี่ปุ่นต้องสละอำนาจอธิปไตยเหนือเกาะไต้หวันอย่างเป็นทางการ
แต่ประเด็นมันอยู่ตรงที่สนธิสัญญาฉบับนี้ กลับไม่ได้ระบุว่า ไต้หวันเป็นดินแดนของประเทศใด
จึงทำให้สถานะของไต้หวันคลุมเครือ ตั้งแต่นั้นมา
โดยในปี 1980 เติ้ง เสี่ยวผิง ผู้นำสูงสุดของสาธารณรัฐประชาชนจีนในขณะนั้น
เสนอแนวคิดที่ชื่อว่า “One country, two systems” หรือหนึ่งประเทศ สองระบบ
เพื่อรวมเขตปกครองพิเศษอื่น ๆ เช่น ฮ่องกง มาเก๊า และไต้หวัน เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของจีน
ภายใต้แนวคิดนี้ จีนเสนอว่า ถ้ากลับมารวมประเทศกับจีน
ทั้งหมดก็จะสามารถมีระบบเศรษฐกิจ และการเมืองแบบทุนนิยมได้
สามารถมีระบบการเมือง กฎหมาย เศรษฐกิจ และการเงินเป็นของตนเองได้ และสามารถมีสิทธิบางอย่างระหว่างประเทศได้ด้วย แต่อย่างไรเสีย บางอย่างก็ต้องถูกควบคุมดูแลจากจีน

ไต้หวันปฏิเสธข้อเสนอนี้ เนื่องจากชาวไต้หวันจำนวนมาก ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว
แถมยังรู้สึกว่าในทางปฏิบัติแล้ว พวกเขาคือชาติที่แยกตัวออกไปจากจีนมาโดยตลอด
อย่างไรก็ตาม สำหรับจีนนั้น มองว่าไต้หวันเป็นมณฑล ที่เพียงแค่แยกตัวออกไปของจีน
ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ในอนาคตก็ต้องกลับมาเป็นส่วนหนึ่งของจีนอีกครั้งอยู่ดี
ด้วยการที่สหรัฐอเมริกาต้องการสนับสนุน ฝ่ายที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ทำให้สหรัฐอเมริกามีการผ่านกฎหมายความสัมพันธ์กับไต้หวัน ที่ชื่อว่า “Taiwan Relations Act” ซึ่งเป็นการรับประกันการสนับสนุนไต้หวัน
โดยกฎหมายฉบับนี้ บัญญัติว่าสหรัฐอเมริกาจะให้ความช่วยเหลือแก่ไต้หวัน ในการป้องกันตัวเอง รวมไปถึงมีการขายอาวุธให้แก่ไต้หวันด้วย
รู้ไหมว่าตั้งแต่ปี 2019 งบประมาณที่ไต้หวันนำเข้าอาวุธจากสหรัฐอเมริกานั้น มีมูลค่าสูงกว่า 511,200 ล้านบาท
การให้ความช่วยเหลือแก่ไต้หวันของสหรัฐอเมริกานั้น ทำให้จีนเคยออกมาพูดว่า เป็นการบุกรุกที่ไม่ได้รับอนุญาต ในเรื่องภายในของจีน..
แน่นอนว่าความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนนั้น
ย่อมไม่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโลก
ปัจจุบันไต้หวัน มีมูลค่า GDP อยู่ที่ 23 ล้านล้านบาท ซึ่งถือว่าน้อยมาก เมื่อเทียบกับจีน
แต่ความสำคัญของไต้หวัน ที่หลายประเทศไม่ควรมองข้ามเลย
ก็คือ การเป็นโรงงานผู้ผลิตชิป หรือเซมิคอนดักเตอร์ของโลก
ไต้หวันมีบริษัท Taiwan Semiconductor Manufacturing Company หรือ TSMC
ผู้ผลิตชิปที่ไม่เพียงแต่มีเทคโนโลยีการผลิตที่ล้ำหน้าที่สุดในโลก
TSMC ยังเป็นบริษัทที่มีส่วนแบ่งการตลาดชิปเซตทั้งหมดบนโลก มากถึง 54%
หรือเรียกได้ว่า ชิปเกินกว่าครึ่งหนึ่งของโลก ถูกผลิตขึ้นจากบริษัทแห่งนี้
ซึ่งชิป ถือเป็นอุปกรณ์ที่เป็นหัวใจสำคัญ ของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ มากมาย
ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ตโฟน คอมพิวเตอร์ เครื่องเล่นเกม ทีวี และวิทยุ
รวมไปถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อีกหลายอย่าง ในหลายอุตสาหกรรม
โดยการขาดแคลนของชิป จะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่ผลิตภัณฑ์ ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีแทบทั้งหมด
ตัดกลับมาที่ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน
การที่ แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐอเมริกา เดินทางมาเยือนไต้หวันนั้น
ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 25 ปี ที่มีเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐอเมริกาเดินทางมาเยือน
ซึ่งได้สร้างความไม่พอใจให้กับจีนเป็นอย่างมาก ถึงขนาดที่ทำให้จีนมีการซ้อมรบทางการทหาร
เรื่องนี้ทำให้ มาร์ก หลิว ประธาน TSMC บอกว่า หากเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้โรงงานผลิตชิปของ TSMC ไม่สามารถปฏิบัติงานได้ และไม่สามารถผลิตชิปเซตส่งไปขายให้แก่ลูกค้าได้นั้น
เรื่องนี้จะไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อ TSMC
แต่ยังส่งผลกระทบไปอีกหลายบริษัท และหลายอุตสาหกรรม แม้กระทั่งเศรษฐกิจในหลายประเทศอีกด้วย

ต้องบอกว่า เรื่องนี้กำลังเกิดขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจโลกกำลังเปราะบาง
ท่ามกลางการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย และเงินเฟ้อที่ทรงตัวในระดับสูง
ทำให้ความขัดแย้งในรอบนี้ ดูน่ากังวลใจไม่แพ้สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน
ไม่เพียงแต่ขนาดเศรษฐกิจของจีน ที่ใหญ่กว่ารัสเซีย กว่า 10 เท่า
แต่จีนยังมีความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกที่ซับซ้อนกว่ารัสเซียหลายเท่า
ก็ต้องติดตามกันต่อไปว่าเรื่องราวระหว่างจีน สหรัฐอเมริกา และไต้หวัน จะเป็นอย่างไร
ถ้าสุดท้ายแล้ว ประเด็นความขัดแย้งนี้
นำไปสู่สงครามจริง ๆ ไม่ว่าจะในรูปแบบใด
ก็คงไม่ใช่ผลดีต่อเศรษฐกิจทั้งจีน สหรัฐอเมริกา และไต้หวัน รวมทั้งอีกหลายประเทศในโลก เช่นกัน..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://www.statista.com/statistics/867223/worldwide-semiconductor-foundries-by-market-share
-https://en.wikipedia.org/wiki/TSMC
-https://companiesmarketcap.com/tsmc/marketcap/
-https://en.wikipedia.org/wiki/History_of_Taiwan
-https://en.wikipedia.org/wiki/Treaty_of_San_Francisco
-https://www.bbc.com/thai/international-58773045
-https://en.wikipedia.org/wiki/One_country,_two_systems
-https://en.wikipedia.org/wiki/Taiwan_Relations_Act
-https://www.defensenews.com/pentagon/2022/04/14/pandemic-delays-spark-14-billion-backlog-of-us-defense-transfers-to-taiwan/
-https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_countries_by_GDP_(nominal)
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.