ธุรกิจ “พาคนหนี” ในญี่ปุ่น ที่เกิดขึ้นเพราะ ครอบครัวไม่ใช่เซฟโซน

ธุรกิจ “พาคนหนี” ในญี่ปุ่น ที่เกิดขึ้นเพราะ ครอบครัวไม่ใช่เซฟโซน

6 ส.ค. 2022
รู้หรือไม่ว่า ประเทศญี่ปุ่นมีบุคคลหายสาบสูญ สูงถึง 80,000 กว่าคน ในแต่ละปี
ซึ่งผู้คนในจำนวนหนึ่ง ไม่ได้หายไปเพราะถูกลักพาตัว ฆาตกรรม หรือภัยพิบัติแต่อย่างใด
แต่พวกเขากลับเลือกที่จะ หายตัวไปเอง..
กลุ่มคนเหล่านี้ถูกเรียกว่า Jouhatsu หรือในภาษาญี่ปุ่น แปลว่า ระเหย
ซึ่งอีกความหมายหนึ่งคือ กลุ่มคนที่จงใจหายตัวไป เพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่
ทำไมชาวญี่ปุ่นจำนวนหนึ่ง ถึงเลือกหนีหายตัวไปจากครอบครัวของตัวเอง
และจากปรากฏการณ์นี้ ส่งผลให้เกิดธุรกิจอะไร ?
BrandCase จะเล่าเรื่องนี้ให้ฟัง แบบเข้าใจง่าย ๆ
ปกติแล้ว การที่คนเราต้องการย้ายถิ่นฐาน มักจะเป็นเรื่องที่ดีเสมอ เช่น เข้ามหาวิทยาลัย ได้งานใหม่ หรือการแต่งงานก็ตาม
แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อย ที่ต้องการย้ายถิ่นฐาน เพื่อหลีกหนีเรื่องที่น่าเศร้า ไม่ว่าจะเป็นเพราะ การตกงาน ครอบครัวที่มีการใช้ความรุนแรง หรือการมีหนี้สินท่วมตัว
อย่างไรก็ดี การที่คนเราจะหายตัวไป แบบไม่ให้ใครสามารถตามตัวได้ ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นกัน เพราะมีสารพัดอย่างที่ต้องจัดการ
เมื่อเรื่องเป็นแบบนี้ ทำให้เกิดธุรกิจสีเทา ๆ ที่เรียกว่า “Night Moving” หรือธุรกิจ “พาคนหลบหนี” ขึ้นมา
ซึ่งธุรกิจนี้จะช่วยลูกค้าตั้งแต่
- จัดหาที่พักใหม่ที่คนอื่นสามารถพบเจอได้ยาก
- พาคนหลบหนี
- ขนย้ายของ
ไปจนถึงลบหลักฐานการหลบหนี ที่สามารถใช้ตามหาตัวของลูกค้าได้
ตัวอย่างบริษัทหนึ่งที่ทำธุรกิจนี้ ชื่อว่า Yonigeya TS Corporation มีสาขาทั้งหมด 22 แห่ง กระจายอยู่ทั่วประเทศญี่ปุ่น โดยบริษัทสามารถคิดค่าบริการในแต่ละครั้ง ได้ถึงหลักหมื่น ไปจนถึงหลักแสนบาท
โดย CEO ของบริษัทบอกว่า พวกเขาช่วยพาคนหนี มากกว่า 150 คนต่อปี..
เมื่อมาถึงตรงนี้แล้ว หลายคนอาจสงสัยว่า ทำไมธุรกิจ Night Moving ถึงมีความโดดเด่นในประเทศญี่ปุ่น มากกว่าประเทศอื่น ๆ ก็ต้องบอกว่ามีเหตุผลหลัก 2 อย่างดังนี้
1. สังคมญี่ปุ่นมีความกดดันสูง และมีแนวคิดว่าทุกคนต้องประสบความสำเร็จ
ทำให้หลายคนที่กดดัน หรือล้มเหลวในชีวิตบางส่วน ต้องการเลือกใช้บริการนี้
เช่น ชายหนุ่มคนหนึ่งที่หายตัวไปนานถึง 20 ปี เพียงเพราะวัยเด็กกลัวการสอบตก แล้วทำให้พ่อแม่ผิดหวัง
หรือลูกชายของอีกครอบครัวหนึ่ง ที่หายไปหลังจากสมัครงานไปหลายแห่ง แล้วไม่มีใครรับเข้าทำงาน
2. ญี่ปุ่นให้สิทธิ์ในความเป็นส่วนตัวสูง
แม้ครอบครัวจะอยากตามหาคนหายมากขนาดไหนก็ตาม แต่กฎหมายของญี่ปุ่นจะไม่ให้สิทธิ์แก่ครอบครัว หรือคนอื่นใดในการติดตามธุรกรรมผ่าน ATM รวมถึงการใช้กล้องวงจรปิดเป็นเบาะแส
มีเพียงแค่ 2 กรณีเท่านั้น ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะสามารถเข้ามาแทรกแซงได้
นั่นคือ ผู้ที่หายตัวไปนั้น ถูกสงสัยว่าก่ออาชญากรรม หรือมีหลักฐานว่าเสียชีวิต จากการฆ่าตัวตายเท่านั้น
และแม้ว่าจะมีนักสืบเอกชน ที่คนทั่วไปสามารถจ้าง เพื่อตามหาคนหายได้
แต่ก็มีค่าบริการที่สูงอยู่ดี โดยมีราคาค่าบริการที่ราว ๆ 18,000 บาทต่อวัน
ทำให้การตามหาคนหายในญี่ปุ่น กลายเป็นเรื่องที่ทำได้ค่อนข้างยาก
อย่างไรก็ดี สุดท้ายแล้วหลายครอบครัว ก็ไม่ได้แจ้งความ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจตามหาคนหาย
เพราะพวกเขาก็รู้สึกละอายใจ ที่เป็นหนึ่งในสาเหตุเช่นกัน
เมื่อเรื่องเป็นแบบนี้ คนญี่ปุ่นบางกลุ่มจึงตัดสินใจ ที่จะเลือกใช้บริการของ Night Moving เพื่อตัดขาดกับชีวิตเก่า และได้เริ่มต้นชีวิตใหม่
อย่างไรก็ดี ทางเลือกที่ดีกว่าการสนับสนุนธุรกิจเหล่านี้ คือ การที่ภาครัฐควรให้ความสำคัญ หรือมีมาตรการช่วยเหลือผู้คนเหล่านี้ ไม่ว่าจะในทางตรงหรือทางอ้อม
เช่น หากมีการทำร้ายร่างกายกันในครอบครัว ก็ควรออกกฎหมายที่คุมเข้มกว่าเดิม
หรือการมีหนี้สินครัวเรือนในจำนวนมาก ๆ จะมีการบรรเทาหนี้อย่างไร
ที่สำคัญคือ สถาบันครอบครัวเอง ก็ควรเติมเต็มความอบอุ่นซึ่งกันและกัน
ไม่เอาแต่มองแค่เรื่องความสำเร็จ จนสร้างความกดดันมากเกินไป
เพราะมันอาจทำให้บางคน อยากหนีจากชีวิตที่ไม่ใช่เซฟโซน ไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ ที่อื่น..
References
-https://www.statista.com/statistics/1035046/japan-missing-person-cases-number/
-https://www.unilad.com/life/japanese-night-moving-companies-help-people-vanish-without-a-trace
-https://www.trillmag.com/65757/read/interesting/night-movers-are-helping-people-all-over-japan-vanish-heres-why/
-https://nypost.com/2016/12/10/the-chilling-stories-behind-japans-evaporating-people/
-https://www.bbc.com/worklife/article/20200903-the-companies-that-help-people-vanish
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.