กรณีศึกษา Apple จากทำโรงงานเอง สู่การจ้างคนอื่น ผลิตสินค้าให้ทั้งหมด

กรณีศึกษา Apple จากทำโรงงานเอง สู่การจ้างคนอื่น ผลิตสินค้าให้ทั้งหมด

7 ส.ค. 2022
กรณีศึกษา Apple จากทำโรงงานเอง สู่การจ้างคนอื่น ผลิตสินค้าให้ทั้งหมด | BrandCase
233 ล้านเครื่อง คือจำนวน iPhone ที่ผลิตได้ในปี 2021
ซึ่งในจำนวนนี้ Apple มีหน้าที่เป็นเพียงแค่ผู้ดีไซน์เท่านั้น
ส่วนหน้าที่ในการผลิต จะถูกส่งต่อไปผลิตตามบริษัทที่ Apple จ้างให้ผลิตอีกทีหนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในประเทศจีน
เวลาเราพลิกไปดูด้านหลังกล่องของ iPhone
เราก็จะเห็นคำว่า “Designed by Apple in California”
แต่ประกอบขึ้นในจีน เสียเป็นส่วนใหญ่
ทำไม Apple ถึงทำแบบนี้ ? BrandCase วิเคราะห์เคสนี้ให้อ่านกันแบบง่าย ๆ
ย้อนกลับไปเมื่อปี 1984 หรือเมื่อ 38 ปีก่อน สตีฟ จอบส์ ได้เปิดตัวคอมพิวเตอร์ Macintosh ที่เป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลรุ่นแรก ๆ ของ Apple
ในตอนนั้น Apple ก่อตั้งโรงงานขึ้นที่เมือง Fremont ทางตอนเหนือของซิลิคอนแวลลีย์ โดยตั้งใจให้เป็นโรงงานสำหรับผลิตเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล Macintosh
สตีฟ จอบส์ ต้องการให้โรงงานสามารถผลิตได้ครั้งละมาก ๆ หรือก็คือ Mass Production
แต่อย่างไรก็ตาม ความต้องการของคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลในตอนนั้น ยังไม่มากขนาดที่จะผลิตครั้งละเยอะ ๆ จนทำให้ต้นทุนลดลงมาก ๆ ได้
นอกจากนี้ โรงงานของ Apple ยังมีปัญหาภายในเกี่ยวกับการผลิต
ไม่ว่าจะเป็น การผลิตไม่ได้ตามเป้าหมาย ปัญหาด้านคุณภาพ และปัญหาเกี่ยวกับสินค้าคงคลัง
ซึ่ง Apple เองก็ไม่สามารถรับมือกับปัญหาเหล่านี้ได้ จึงทำให้โรงงานต้องปิดตัวลงไปในปี 1992 และเป็นเหตุให้บริษัทต้องประสบกับปัญหาด้านการเงินในเวลาต่อมา
ต่อมาในปี 1997 ทิม คุก ที่เคยเป็นกำลังหลักของ Compaq บริษัทคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล ที่ใหญ่ที่สุดในโลกขณะนั้น ก็ถูก สตีฟ จอบส์ ชวนให้เข้ามาร่วมงานที่บริษัท Apple
และทิม คุก ได้นำหลักการ “Just In Time” มาใช้ เหมือนกับตอนที่เขาทำงานอยู่ที่บริษัท Compaq
โดยเปลี่ยนจากการผลิตเพียงเพื่อสต็อกของ ไปเป็นการผลิตตามคำสั่งซื้อจากลูกค้าแทน โดยให้ผู้ผลิตชิ้นส่วน ผลิตสินค้าออกมาให้พอดี ตามคำสั่งซื้อจากลูกค้า และนำมาส่งให้ทันเวลา
ซึ่งด้วยระบบการคำนวณ และการคาดการณ์ของ Apple ตอนนั้น
ก็สามารถนำวัตถุดิบไปผลิตสินค้า และส่งออกไปหาลูกค้าได้ทันที โดยไม่มีสินค้าค้างสต็อก
ในช่วงเวลาเดียวกันนี้เอง ความต้องการใช้คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลเริ่มมีมากขึ้น จนโรงงานของ Apple เริ่มไม่สามารถผลิตสินค้าในปริมาณมากได้ทันเวลา
ซึ่งถ้าตัดสินใจสร้างโรงงานขนาดใหญ่ขึ้นมา เพื่อรองรับปริมาณการผลิตที่มากขึ้น ก็ต้องสูญเสียงบประมาณมหาศาลไปกับการลงทุน ซึ่งก็จะส่งผลต่อสภาพคล่องของบริษัท
Apple จึงเลือกที่จะไปจ้างผลิตแทน โดยเริ่มมองหาซัปพลายเออร์ ที่พร้อมผลิตสินค้าในปริมาณมาก ๆ ได้ พร้อมทั้งลดจำนวนโกดัง และโรงงานผลิตสินค้าของ Apple ลงทั่วโลก
ในช่วงเวลานั้น ก็มีบริษัท Foxconn บริษัทสัญชาติไต้หวัน ที่รับจ้างผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งกำลังเติบโต และขยายฐานการผลิตไปทั่วโลก
บริษัท Apple จึงตัดสินใจจ้าง Foxconn เพื่อผลิต iMac คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลในปี 2000
โดยตั้งโรงงานผลิต iMac ที่สาธารณรัฐเช็ก ในทวีปยุโรป เพื่อเจาะตลาดกลุ่มผู้ใช้งานในประเทศตะวันตก
ต่อมา Apple ก็ได้จ้างบริษัท Foxconn ที่ตั้งโรงงานอยู่ในประเทศจีน ให้เป็นผู้ผลิต iPhone, iPad และ MacBook
ซึ่งสาเหตุหลักที่ต้องเลือกประเทศจีน เป็นฐานการผลิตสินค้าให้กับ Apple นั่นก็เพราะว่า
ประการที่ 1: มีแรงงานที่มีฝีมือ และค่าแรงที่ยังไม่สูงมาก
จากการที่เมืองเซินเจิ้นของจีน ถูกประกาศให้เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรม ตั้งแต่ปี 1979 ทำให้เมืองนี้มีความล้ำหน้าในเรื่องการศึกษา และเทคโนโลยีต่าง ๆ มากกว่าเมืองอื่น ๆ ในประเทศจีน
ทำให้การตั้งโรงงานที่นี่ สามารถจ้างแรงงานฝีมือ ที่มีความรู้และทักษะทางวิชาชีพต่าง ๆ ได้เป็นจำนวนมาก
ตั้งแต่วิศวกร ช่าง ไปจนถึงพนักงาน ด้วยค่าแรงที่ถูกกว่าประเทศอื่น
ประการที่ 2: ระบบห่วงโซ่อุปทานที่มีความพร้อม
ในช่วงหลังจากปี 2003 เป็นต้นมา ประเทศจีนได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำด้านการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์
จึงทำให้ที่นี่ กลายเป็นแหล่งรวมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ที่ครบครัน
โดยในปี 2021 มีซัปพลายเออร์ในจีน ที่ผลิตอุปกรณ์ให้กับ Apple มากกว่า 360 แห่ง ซึ่งคิดเป็น 46% ของซัปพลายเออร์ที่ผลิตชิ้นส่วนให้กับ Apple ทั้งหมด
ประการที่ 3: รองรับตลาดเอเชีย
การตั้งโรงงานที่ประเทศจีน เป็นเหมือนศูนย์กลางโลจิสติกส์ ที่สามารถขนส่งสินค้าทั้งในประเทศจีนเอง และประเทศอื่นได้ โดยเฉพาะประเทศในทวีปเอเชีย ทำให้ต้นทุนด้านการขนส่งนั้นถูกลง
ซึ่งในปี 2021 รายได้ของบริษัท Apple กว่า 1 ใน 3 เป็นรายได้ที่มาจากภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
จวบจนถึงปัจจุบัน บริษัท Apple เป็นเพียงผู้วิจัย พัฒนา และขายสินค้า
ส่วนในด้านการผลิตสินค้า ก็จะจ้างผู้ผลิตที่มีความชำนาญในแต่ละเทคโนโลยี มาผลิตชิ้นส่วนให้กับ Apple
เช่น การจ้างบริษัท Sony เพื่อผลิตเซนเซอร์กล้อง
จ้างบริษัท Samsung และบริษัท LG ผลิตหน้าจอ OLED
และจ้างบริษัท Foxconn ประเทศจีน เป็นฐานการประกอบชิ้นส่วนของ Apple
เนื่องด้วยห่วงโซ่โรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในเอเชีย จะสามารถลดต้นทุนได้มาก
ทั้งในเรื่องของต้นทุนสินค้าจากซัปพลายเออร์ที่ราคาถูก
ลดปัญหาสินค้าคงคลัง ต้นทุนค่าแรง และค่าขนส่ง
ซึ่งถือว่าเป็นการทำ Lean ในแบบฉบับของ Apple ที่แทบจะไม่ได้ผลิตสินค้าด้วยตัวเองเลย
นอกจากนี้ หลังจากที่ ทิม คุก มารับช่วงต่อจาก สตีฟ จอบส์ เขาได้สร้างภาพลักษณ์ ให้สินค้าของ Apple ดูดี หรูหรา และมีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น
พร้อม ๆ กับการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพ ให้กับสินค้าที่ออกมาใหม่ ให้มีความรวดเร็ว และใช้งานได้อย่างหลากหลายมากขึ้น
ทำให้สินค้าที่ออกมาใหม่ ไม่ว่าจะเป็น iPhone, iPad หรือ MacBook รุ่นใหม่ สามารถขายได้ในราคาที่แพงขึ้น
ในขณะที่เขาเองก็ได้พยายามร่วมมือกับโรงงาน Foxconn และโรงงานผู้ผลิตชิ้นส่วนรายอื่น ๆ เพื่อลดต้นทุนการผลิตที่โรงงานอยู่ตลอดเวลา
ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ทำให้ผลประกอบการของ Apple เติบโตขึ้นได้เรื่อยมา แถมยังมีอัตรากำไรสุทธิที่สูงขึ้นอีกด้วย
โดยจะเห็นได้จากกำไรสุทธิ และอัตรากำไรสุทธิในแต่ละช่วงเวลา
ปี 2005 มีกำไรสุทธิ 48,000 ล้านบาท คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิ 9.6%
ปี 2013 มีกำไรสุทธิ 1,346,000 ล้านบาท คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิ 21.7%
ปี 2021 มีกำไรสุทธิ 3,440,000 ล้านบาท คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิ 25.9%
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
ปัจจุบันสินค้า iPhone กว่าครึ่งหนึ่ง ถูกผลิตที่โรงงาน Foxconn ในเมืองเจิ้งโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน
ซึ่งโรงงานแห่งนี้ มีพนักงานกว่า 350,000 คน และสามารถผลิต iPhone ได้ 500,000 เครื่องต่อวัน..
References
- https://www.apple.com/leadership/tim-cook/
- https://www.thomasnet.com/insights/apple-supply-chain/
- https://www.lean.org/the-lean-post/articles/how-lean-is-apple/
- https://www.ejet.com/apple-manufacturer-in-china/
-https://www.mercurynews.com/2018/12/17/steve-jobs-wanted-to-build-apple-computers-in-fremont-why-didnt-it-work-out/
- https://www.tbsnews.net/feature/panorama/how-tim-made-apple-his-own-125734
- https://appleinsider.com/articles/22/03/01/apple-raised-iphone-production-to-855m-in-q4-2021
- https://www.businessinsider.com/apple-iphone-factory-foxconn-china-photos-tour-2018-5
- https://www.statista.com/statistics/267728/apples-net-income-since-2005/
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.