การปรับค่าแรงขั้นต่ำ มีข้อดีข้อเสียอะไรบ้าง ?

การปรับค่าแรงขั้นต่ำ มีข้อดีข้อเสียอะไรบ้าง ?

15 ส.ค. 2022
การปรับค่าแรงขั้นต่ำ มีข้อดีข้อเสียอะไรบ้าง ? /โดย ลงทุนแมน
ในช่วงเวลาที่ข้าวของมีราคาแพง แต่ค่าแรงนั้นไม่เพียงพอกับรายจ่ายที่เพิ่มขึ้น
หนึ่งในเรื่องที่ถูกพูดถึงเป็นอย่างมากในช่วงนี้ ต้องมีเรื่องของการปรับค่าแรงขั้นต่ำ รวมอยู่ด้วย
วันนี้ค่าแรงขั้นต่ำของไทย เป็นอย่างไร
แล้วการปรับค่าแรงดังกล่าว มีข้อดี ข้อเสีย อะไรบ้าง ?
ลงทุนแมนจะสรุปให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ทุกวันนี้ค่าแรงขั้นต่ำของไทยนั้น อยู่ในช่วงระหว่าง 313 ถึง 336 บาทต่อวัน
ซึ่งอัตรานี้ประกาศใช้มาตั้งแต่ปี 2563 หรือเมื่อ 2 ปีที่แล้ว
ซึ่งก็ต้องบอกว่าอัตราค่าแรงขั้นต่ำของไทยนั้น จะแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่
เนื่องจากแต่ละจังหวัดมีสภาพเศรษฐกิจ สังคม ขนาดอุตสาหกรรม และความจำเป็นต่างกัน ในการใช้แรงงานที่แตกต่างกันออกไป
โดยปัจจุบัน 3 จังหวัดที่มีค่าแรงขั้นต่ำสูงสุดของประเทศไทย คือ
- ชลบุรี ค่าแรงขั้นต่ำ 336 บาทต่อวัน
- ภูเก็ต ค่าแรงขั้นต่ำ 336 บาทต่อวัน
- ระยอง ค่าแรงขั้นต่ำ 335 บาทต่อวัน
ในขณะที่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเมืองหลวงนั้น มีอัตราค่าแรงขั้นต่ำในปัจจุบัน อยู่ที่ 331 บาทต่อวัน
และ 3 จังหวัดที่มีค่าแรงขั้นต่ำน้อยที่สุดก็คือ นราธิวาส ปัตตานี และยะลา โดยมีอัตราค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 313 บาทต่อวัน
อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่ประเทศไทยเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้นอย่างมาก จากราคาวัตถุดิบพื้นฐานที่แพงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นราคาพลังงานและอาหาร จึงทำให้แรงงานจำนวนมาก กำลังเผชิญกับภาวะค่าครองชีพสูง
จึงมีข้อเรียกร้องจากฝั่งลูกจ้าง ให้มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา
โดยการปรับค่าแรงขั้นต่ำนั้น ปัจจุบันผู้ที่มีอำนาจในการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำคือ “คณะกรรมการค่าจ้าง”
ซึ่งมีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง และผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง
ที่ถูกแต่งตั้งมาเป็นคณะกรรมการ เพื่อมารับหน้าที่พิจารณาเสนอ และกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ
แล้วคณะกรรมการเหล่านี้ มีเกณฑ์ในการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ อะไรบ้าง ?
สำหรับสิ่งที่ใช้ในการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ เช่น
- ค่าครองชีพ
- ราคาสินค้าและบริการ
- ความสามารถของธุรกิจ
- ผลิตภาพแรงงาน
- สภาพเศรษฐกิจและสังคม
ปัจจุบัน มีการคาดการณ์กันว่า ค่าจ้างขั้นต่ำ มีโอกาสปรับขึ้นจากเดิมราว 5 ถึง 8%
นั่นหมายความว่าค่าแรงขั้นต่ำ จะปรับขึ้นไปอยู่ในช่วงระหว่าง 329 ถึง 363 บาทต่อวัน
ทีนี้เรามาดูกันว่า หากมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแล้ว
มันจะมีผลดี และผลเสีย กระทบกับใครบ้าง ?
เริ่มที่ข้อดีกันก่อน
- ช่วยให้แรงงานมีฐานะความเป็นอยู่โดยรวมดีขึ้น เนื่องจากมีเงินมาจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น
โดยเฉพาะในช่วงที่ภาระค่าครองชีพสูงขึ้น
- การจับจ่ายใช้สอยที่สูงขึ้น ทำให้รัฐบาลมีโอกาสที่จะจัดเก็บภาษีได้มากขึ้น
ในด้านของผลกระทบด้านลบ
- ต้นทุนรายจ่ายของธุรกิจ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานจำนวนมาก จะได้รับผลกระทบ
- ทำให้เศรษฐกิจเผชิญกับความเสี่ยงที่เงินเฟ้ออาจจะเพิ่มขึ้น
รู้ไหมว่า นับตั้งแต่ปี 2555 จนถึงปัจจุบันเป็นต้นมา
ประเทศไทยมีการปรับค่าแรงขั้นต่ำทั้งหมด 4 ครั้ง ในรอบ 10 ปี
โดยค่าแรงขั้นต่ำในปี 2555 เท่ากับ 222 ถึง 300 บาทต่อวัน
ในขณะที่ปัจจุบันอยู่ที่ 313 ถึง 336 บาทต่อวัน
ทั้งนี้ ถ้ามีการปรับค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้น 5 ถึง 8% อย่างที่กำลังมีการพูดถึงกันอยู่นั้น
แน่นอนว่าอุตสาหกรรมที่ยิ่งมีการใช้แรงงานมากเท่าไร
ก็มีโอกาสที่จะได้รับผลกระทบจากค่าแรงที่เพิ่มมากขึ้นเท่านั้น
ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่า
ปัจจุบันประเทศไทย มีผู้มีงานทำ จำนวน 38.7 ล้านคน
โดยเมื่อแบ่งจำนวนตามอุตสาหกรรม จะพบว่า 3 อุตสาหกรรม ที่มีจำนวนแรงงานมากที่สุด คือ
1. เกษตรกรรม จำนวนแรงงาน 11.4 ล้านคน
2. ธุรกิจค้าส่งและค้าปลีก จำนวนแรงงาน 6.7 ล้านคน
3. การผลิต จำนวนแรงงาน 6.3 ล้านคน

อุตสาหกรรมเหล่านี้ จะได้รับผลกระทบมากกว่าอุตสาหกรรมอื่น เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่เน้นการใช้แรงงานมากกว่าอุตสาหกรรมอื่น ๆ
อย่างไรก็ตาม ค่าแรงที่ปรับขึ้น ย่อมหมายถึงกำลังซื้อที่เพิ่มสูงขึ้น
ก็ย่อมส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น ธุรกิจเช่าซื้อที่มีฐานลูกค้าเป็นผู้ที่รับค่าจ้างขั้นต่ำ
ก็ทำให้ลูกหนี้มีความสามารถในการชำระหนี้ หรือก่อหนี้เพิ่มมากขึ้น
แม้แต่ธุรกิจค้าปลีกเอง ที่แม้ว่าจะมีการใช้แรงงานเยอะ แต่กำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น ก็อาจส่งผลดีต่อยอดขาย จนอาจกลบผลกระทบจากค่าแรงที่ปรับขึ้นได้ เช่นกัน
อีกประเด็นที่หลายคนกังวลก็คือ การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ จะส่งผลต่อภาพรวมของการจ้างงาน และการลงทุน โดยเฉพาะบริษัทต่างชาติ ที่อาจจะย้ายฐานการผลิต หนีไปยังประเทศที่มีต้นทุนค่าแรงต่ำกว่า
ก็ต้องบอกว่า ต้นทุนค่าแรงนั้นถือเป็นปัจจัยสำคัญ ในการตัดสินใจลงทุนของผู้ประกอบการ แต่อาจไม่ใช่ทั้งหมด
เพราะการที่จะบอกว่าค่าแรงของเรานั้นถูกหรือแพง ธุรกิจก็ต้องเทียบกับผลิตภาพแรงงาน หรือความสามารถในการทำงาน เพื่อสร้างสินค้าและบริการนั้น ๆ ออกมาด้วย
โดยผลิตภาพแรงงาน เกิดจากการที่แรงงานมีทักษะ ความรู้ และความสามารถในการทำงานที่มีประสิทธิภาพ เช่น มีทักษะการใช้ภาษาต่างประเทศ มีทักษะในการทำงานกับเทคโนโลยีและเครื่องจักรกลที่มากขึ้น ทำให้สามารถผลิตสินค้าและบริการนั้น ด้วยต้นทุนที่ลดลง
ซึ่งการพัฒนาทักษะ ความรู้ ความสามารถ และผลิตภาพแรงงาน ถือเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายแรงงาน ฝ่ายผู้ประกอบการ รวมไปถึงหน่วยงานภาครัฐ ที่ต้องสนับสนุนในเรื่องดังกล่าว เพื่อให้ทุกฝ่ายสามารถมีจุดสมดุลของเรื่องการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำได้อย่างเหมาะสม นั่นเอง..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://www.mol.go.th/
-https://www.mol.go.th/wp-content/uploads/sites/2/2021/03/1
-https://tdri.or.th/2013/01/labour300/
-http://www.nso.go.th/sites/2014/DocLib13
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.