CP Retailink จากแผนกซ่อมบำรุง สู่ธุรกิจพันล้านของซีพี

CP Retailink จากแผนกซ่อมบำรุง สู่ธุรกิจพันล้านของซีพี

12 ก.ย. 2022
CP Retailink จากแผนกซ่อมบำรุง สู่ธุรกิจพันล้านของซีพี /โดย ลงทุนแมน
รู้หรือไม่ว่า CPALL เจ้าของร้านสะดวกซื้อเซเว่น อีเลฟเว่น มีธุรกิจซ่อมบำรุงและจัดจำหน่ายอุปกรณ์ในร้านค้าปลีกของตัวเอง
โดยบริษัทนั้น มีชื่อว่า “CP Retailink” คอยทำธุรกิจบริการซ่อมบำรุง
และจัดจำหน่ายอุปกรณ์ แถมยังเป็นเจ้าของแบรนด์กาแฟมวลชน อีกด้วย
CP Retailink ก่อตั้งบริษัทในปี 2542 หรือเมื่อ 23 ปีก่อน
แต่ปัจจุบัน กลายมาเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้ หลายพันล้านบาทต่อปี
ทั้ง ๆ ที่มีจุดเริ่มต้นมาจากการเป็นเพียงแผนกซ่อมบำรุงในบริษัท เท่านั้น
แล้วเส้นทางของ CP Retailink เป็นอย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ย้อนกลับไปในช่วงปี 2531 ซึ่งเป็นปีที่บริษัท ซี.พี. เซเว่นอีเลฟเว่น จำกัด (มหาชน)
หรือชื่อในปัจจุบันคือ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL
ได้รับสิทธิ์ในการเปิดร้านสะดวกซื้อ “เซเว่น อีเลฟเว่น” จากประเทศสหรัฐอเมริกา
CP Retailink ยังเป็นเพียงแผนกซ่อมบำรุง ให้กับร้านสะดวกซื้อเหล่านี้เท่านั้น
แต่ต่อมา ในปี 2542 จึงได้แยกตัวออกมา เพื่อจัดตั้งเป็นบริษัท
ภายใต้ชื่อ บริษัท รีเทลลิงค์ (ไทยแลนด์) จำกัด
ทำธุรกิจเกี่ยวกับการขาย และซ่อมบำรุงอุปกรณ์ให้กับร้านต่าง ๆ
โดยในตอนนั้น มีทุนจดทะเบียนเพียง 20 ล้านบาท
และมีบริษัทแม่อย่าง CPALL ถือหุ้นจำนวน 99.99%
จากตรงนี้ ก็ดูเหมือนว่า CP Retailink จะเป็นเพียงบริษัทเล็ก ๆ ในเครือ CP เท่านั้น
แต่หากไปดูผลประกอบการย้อนหลัง
ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา จะพบว่า
ปี 2562 รายได้ 7,578 ล้านบาท กำไร 608 ล้านบาท
ปี 2563 รายได้ 7,783 ล้านบาท กำไร 1,126 ล้านบาท
ปี 2564 รายได้ 5,275 ล้านบาท กำไร 320 ล้านบาท
จะเห็นได้ว่า บริษัทนี้มีรายได้หลักพันล้านบาท
แม้คิดเป็นรายได้ให้กับเครือ CP เพียง 1% เท่านั้น
แต่ก็นับว่าเติบโตขึ้นมาก เมื่อเทียบกับก่อนหน้านี้ ที่เป็นเพียงแผนกซ่อมบำรุงในบริษัท
คำถามก็คือ แล้วทำไม CP Retailink ถึงมีรายได้มากขนาดนี้ ?
ก็ต้องบอกว่าบริษัทนี้ มีธุรกิจหลักอยู่ 3 อย่างด้วยกัน แบ่งออกเป็น
- ธุรกิจขายอุปกรณ์ให้กับร้านค้าและร้านอาหาร เช่น เครื่องชงกาแฟ
- ธุรกิจให้บริการซ่อมบำรุงหลังการขาย
- ธุรกิจร้านกาแฟมวลชน
ซึ่งร้านกาแฟมวลชน เป็นธุรกิจที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2558 หรือเพียง 7 ปีก่อน
โดยในช่วงก่อนหน้านั้น บริษัทมีรายได้หลักจากการขายอุปกรณ์ และซ่อมบำรุงอุปกรณ์หลังการขาย
แต่ด้วยธุรกิจซ่อมบำรุงนี้เอง ที่ทำให้มีการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง
เพราะอย่างแรกเลยคือ “กลุ่มลูกค้าเป็นองค์กรรายใหญ่”
ซึ่งหากเราไปดูกลุ่มลูกค้าที่มาใช้บริการของ CP Retailink มักเป็นกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ ที่ไม่ได้มีแค่บริษัทในเครือ CP เท่านั้น แต่ยังมีกลุ่มลูกค้ารายใหญ่นอกองค์กรอีกด้วย
โดยตัวอย่างกลุ่มลูกค้าสำคัญ ก็เป็นร้านกาแฟและร้านอาหาร ที่เราคุ้นชื่อเป็นอย่างดี
อาจเคยลองทานที่ร้านนั้น หรืออาจเดินพบเจอในห้างสรรพสินค้า ไม่ว่าจะเป็น
- ร้านกาแฟและของหวาน เช่น TrueCoffee, After You, Swensen’s
- ร้านอาหารสไตล์ปิ้งย่าง เช่น Bar B Q Plaza, AKA
- ร้านสเต๊ก เช่น Sizzler
- ร้านอาหารญี่ปุ่น เช่น Fuji, Yayoi, Hot Pot
ส่วนลูกค้าในเครือองค์กรเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น CP Freshmart, ร้านสะดวกซื้อเซเว่น อีเลฟเว่น, ห้างสรรพสินค้า Makro และ Lotus’s ก็ใช้บริการของ CP Retailink แทบทั้งหมด เช่น ตู้กดของอัตโนมัติ ตู้ไอศกรีม เครื่องทำกาแฟ เป็นต้น
ถึงตรงนี้ เรียกได้ว่า CP Retailink เน้นการขายแบบธุรกิจให้กับธุรกิจ
หรือที่เราเรียกกันว่า B2B ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจ ว่าทำไมถึงมีรายได้ที่สูงขนาดนี้
แต่การมีลูกค้ารายใหญ่เพียงอย่างเดียว
ก็ไม่ได้รับประกันว่าจะมีรายได้อย่างต่อเนื่อง
เพราะโมเดลธุรกิจหลังการขาย ก็เป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน
นั่นคือ “ธุรกิจบริการซ่อมบำรุง”
โมเดลธุรกิจขานี้ สามารถรักษาฐานลูกค้าเดิม และขยายฐานลูกค้าใหม่ได้
เช่น ให้บริการเมื่ออุปกรณ์มีปัญหา หรือนำเสนอสินค้าใหม่ ๆ ให้กับลูกค้าเดิมได้
และเมื่อลูกค้ารายเดิมประทับใจ ก็จะเริ่มแนะนำให้ธุรกิจอื่นมาใช้บริการเพิ่มเติมอีกด้วย
และอีกหนึ่งธุรกิจที่จะไม่พูดถึงไม่ได้ คือ “ร้านกาแฟมวลชน”
แม้ในปัจจุบัน จะไปรวมกับร้าน Bellinee's Bake & Brew
แต่ก็เป็นหนึ่งในธุรกิจที่ช่วยให้ CP Retailink
เรียนรู้และเข้าใจประสบการณ์ การใช้งานอุปกรณ์ของลูกค้าโดยตรง เช่น เครื่องชงกาแฟ
ทั้งหมดนี้ คือเรื่องราวของธุรกิจหลังบ้านซีพี ที่ไม่ค่อยมีใครรู้จักมากนัก
แต่ก็เป็นฟันเฟืองสำคัญ ที่ทำให้ธุรกิจร้านสะดวกซื้อ และห้างค้าปลีกในเครือ CP
สามารถทำธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง และยังขยายธุรกิจให้บริการกับลูกค้าองค์กรภายนอกได้อีกด้วย
ซึ่งดูเหมือนว่า CP คิดถูก ที่นำแผนกซ่อมบำรุงเล็ก ๆ ของร้านเซเว่น อีเลฟเว่นในตอนนั้น ออกมาจัดตั้งเป็นบริษัท เพื่อให้บริการซ่อมบำรุงและขายอุปกรณ์ไปพร้อมกัน ซึ่งทำให้ธุรกิจในเครือเดียวกัน ไม่จำเป็นต้องไปจ้างบริษัทภายนอก
นอกจากนั้นแล้ว ก็ยังสามารถสร้างรายได้ใหม่ ๆ ให้กับ CP จากการให้บริการกับเชนร้านอาหารอื่น ๆ ในประเทศไทยได้อีกมากด้วย เช่นกัน..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://www.cpall.co.th/wp-content/uploads/2022/04/CPALL-OR2021-TH_Hires.pdf
-https://datawarehouse.dbd.go.th/fin/balancesheet/5/0105538139521
-https://www.wearecp.com/n62-1105-2-0001/
-https://www.thansettakij.com/business/526966
-https://youtu.be/rtggVjBkdOA
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.