Shōnen Jump นิตยสารการ์ตูนมังงะ ที่มียอดขาย 7,500 ล้านเล่ม

Shōnen Jump นิตยสารการ์ตูนมังงะ ที่มียอดขาย 7,500 ล้านเล่ม

22 ต.ค. 2022
Shōnen Jump นิตยสารการ์ตูนมังงะ ที่มียอดขาย 7,500 ล้านเล่ม /โดย ลงทุนแมน
ถ้าพูดถึง “การ์ตูนมังงะ” จากประเทศญี่ปุ่น หลายคนคงนึกถึงชื่อการ์ตูนยอดนิยมในหลายยุค
ยกตัวอย่างเช่น One Piece, Dragon Ball, Naruto, Slam Dunk และ Demon Slayer
รู้ไหมว่า การ์ตูนที่เราเคยอ่านกันเหล่านั้น ส่วนใหญ่เป็นผลงานที่ถูกตีพิมพ์ลงบนนิตยสารรายสัปดาห์ ชื่อว่า “Weekly Shōnen Jump” ซึ่งเป็นผู้ผลิตมังงะที่ประสบความสำเร็จสูงสุดของญี่ปุ่น
แล้ว Weekly Shōnen Jump มีประวัติความเป็นมาอย่างไร
ทำไมถึงสร้างการ์ตูนมังงะฮิต ติดตลาดได้อยู่เสมอ ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ย้อนกลับไปในปี 1968 หรือเมื่อ 54 ปีที่แล้ว
บริษัท Shūeisha ซึ่งประกอบธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ ได้วางแผนขยายเข้าไปสู่ตลาดการ์ตูนมังงะ โดยจัดตั้งนิตยสารรายสัปดาห์ ชื่อว่า “Weekly Shōnen Jump” ขึ้นมา
ในสมัยนั้น การ์ตูนมังงะมักเน้นเนื้อหาประเภท แอ็กชัน กีฬา หรือคอเมดี เพราะค่อนข้างเข้าใจง่าย เหมาะกับกลุ่มผู้อ่านเป้าหมายที่เป็นเด็กวัยรุ่นชาย
อย่างไรก็ตาม Shūeisha มองว่ายังมีผู้อ่านกลุ่มอื่นที่ต้องการเสพมังงะ ไม่ว่าจะเป็น ผู้ใหญ่ หรือเด็กผู้หญิง
กองบรรณาธิการจึงเฟ้นหานักเขียนหน้าใหม่ พร้อมเปิดโอกาสให้นำเสนอไอเดียที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งในส่วนของแครักเตอร์ตัวละคร, ปมปริศนาที่ซับซ้อน และแง่คิดต่าง ๆ
โดยนักเขียนคนแรกของ Weekly Shōnen Jump คือ คุณ Go Nagai ได้สร้างสรรค์ผลงานเรื่อง Mazinger Z เริ่มตีพิมพ์ในปี 1972 ซึ่งเป็นการ์ตูนแนวหุ่นยนต์ยักษ์เรื่องแรกของวงการ ทำให้คนติดตามอ่านนิตยสารเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
ต่อมาในช่วงทศวรรษ 1980s วงการมังงะได้รับอิทธิพลจากซูเปอร์ฮีโรฝั่งโลกตะวันตก ทำให้เกิดการ์ตูนแนวต่อสู้ ที่เน้นตัวละครมีกล้ามเนื้อใหญ่โต หรือมีพลังพิเศษ โดยการ์ตูนมังงะของ Weekly Shōnen Jump ที่ได้รับความนิยมสูง คือ “หมัดเทพเจ้าดาวเหนือ” ซึ่งเริ่มตีพิมพ์ในปี 1983
แต่การ์ตูนมังงะอีกเรื่อง ที่ต่อยอดความสำเร็จให้นิตยสารยิ่งขึ้นไปอีก ก็คือ “Dragon Ball”
โดยคุณ Akira Toriyama ทำงานอยู่กับ Weekly Shōnen Jump มาหลายปี และมีผลงานเด่น คือ เรื่อง Dr. Slump แต่ต่อมา เขาได้ลองสร้างการ์ตูนแนวผจญภัยต่อสู้ดูบ้าง จึงเริ่มเขียนเรื่อง Dragon Ball ในปี 1984
แม้ตอนแรก กระแสตอบรับของ Dragon Ball จะไม่ดีมากนัก แต่พอเวลาผ่านไป เนื้อหามีความเข้มข้นขึ้น พระเอกอย่าง ซุน โกคู ต้องเจอกับศัตรูใหม่ ๆ และพัฒนาฝีมือ จนสามารถแปลงร่างเป็นซูเปอร์ไซยาได้ จนกลายเป็นปรากฏการณ์ที่โด่งดังไปทั่วญี่ปุ่นและต่างประเทศ
นอกจากนั้น ในช่วงเวลาดังกล่าว Weekly Shōnen Jump ยังมีการ์ตูนมังงะแนวต่อสู้ที่น่าติดตามอีกหลายเรื่อง เช่น “Saint Seiya” เริ่มตีพิมพ์ในปี 1986, “โจโจ้ ล่าข้ามศตวรรษ” เริ่มตีพิมพ์ในปี 1987 และ “YuYu Hakusho” เริ่มตีพิมพ์ในปี 1990
ขณะที่การ์ตูนมังงะแนวกีฬา ก็ได้รับความสนใจไม่แพ้กัน ซึ่งส่งผลให้เยาวชนหันมาเล่นกีฬาตามตัวละครที่ชอบ และเป็นประโยชน์ต่อวงการกีฬาญี่ปุ่น เช่น การ์ตูนฟุตบอล เรื่อง “Captain Tsubasa” เริ่มตีพิมพ์ในปี 1981, การ์ตูนบาสเกตบอล เรื่อง “Slam Dunk” เริ่มตีพิมพ์ในปี 1990
มาถึงตรงนี้ Weekly Shōnen Jump ได้ก้าวขึ้นมาเป็นนิตยสารการ์ตูนมังงะยอดนิยม และสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักเขียนการ์ตูนรุ่นถัดมา อย่างเช่น
คุณ Eiichiro Oda ชื่นชอบผลงานเรื่อง Dragon Ball จึงเดินตามความฝันในการเป็นนักเขียนการ์ตูน และได้สร้างสรรค์ผลงานเรื่อง “One Piece” เริ่มตีพิมพ์ในปี 1997 ซึ่งเป็นมังงะที่ทำยอดขายหนังสือรวมเล่มสูงสุดตลอดกาล
คุณ Masashi Kishimoto ก็เป็นนักเขียนการ์ตูน เพราะชอบผลงานเรื่อง Dragon Ball เช่นเดียวกัน ซึ่งถึงแม้จะถูกกองบรรณาธิการปฏิเสธงานหลายครั้ง แต่เขาไม่ยอมแพ้ จนได้รับการอนุมัติให้ตีพิมพ์เรื่อง “Naruto” ในปี 1999
ต่อมาก็คือ คุณ Tite Kubo ถูกยกเลิกผลงานเพราะกระแสตอบรับไม่ดี รวมทั้งถูกปฏิเสธงานใหม่ ทำให้เกือบเลิกทำอาชีพนี้ แต่ก็ได้กำลังใจจากคุณ Toriyama จึงพยายามต่อ และได้รับการอนุมัติให้ตีพิมพ์เรื่อง “Bleach” ในปี 2001
ซึ่งผลงานทั้งเรื่อง One Piece, Naruto และ Bleach ได้กลายเป็นการ์ตูนมังงะ Big 3 ของ Weekly Shōnen Jump ที่สานต่อความสำเร็จในช่วงทศวรรษ 2000s
รวมทั้งนิตยสารยังมีการ์ตูนมังงะชื่อดังเรื่องอื่น เช่น “Yu-Gi-Oh!” เริ่มตีพิมพ์ในปี 1996, “Hunter x Hunter” เริ่มตีพิมพ์ในปี 1998, “The Prince of Tennis” เริ่มตีพิมพ์ในปี 1999, “Eyeshield 21” เริ่มตีพิมพ์ในปี 2002 และ “Death Note” เริ่มตีพิมพ์ในปี 2003
ทำให้ Weekly Shōnen Jump มีการ์ตูนมังงะที่น่าติดตามจากฝีมือนักเขียนหลาย ๆ ราย และสามารถครองความยิ่งใหญ่ในตลาดมาได้อย่างต่อเนื่อง
ผ่านมาจนถึงยุคปัจจุบัน นักเขียนการ์ตูนรุ่นใหม่ ก็ยังมองต้นแบบจากรุ่นพี่ในค่าย และพยายามสร้างสรรค์ผลงานในแบบฉบับของตัวเองขึ้นมา อย่างเช่น
คุณ Kohei Horikoshi ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากผลงานเรื่อง One Piece และเรื่อง Naruto จึงอยากเป็นนักเขียนการ์ตูนของ Weekly Shōnen Jump และได้เขียนเรื่อง “My Hero Academia” เริ่มตีพิมพ์ในปี 2014
คุณ Koyoharu Gotouge ได้รับแรงบันดาลใจจากผลงานเรื่อง Bleach มาเขียนเป็นเรื่อง “Demon Slayer” เริ่มตีพิมพ์ในปี 2016 ซึ่งโด่งดังสุดขีด จนถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์แอนิเมชัน ที่ทำรายได้สูงสุดในปี 2020 กวาดเงินไปมากกว่า 19,000 ล้านบาท
เราคงเห็นแล้วว่า Weekly Shōnen Jump ผลิตการ์ตูนมังงะยอดนิยมมาได้ทุกยุคสมัย
คำถามต่อมา คือ แล้วนิตยสารมียอดขายสูงแค่ไหน ?

นับตั้งแต่ก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน Weekly Shōnen Jump มียอดขายสะสมรวมประมาณ 7,500 ล้านเล่ม ซึ่งนับเป็นนิตยสารการ์ตูนมังงะที่ทำยอดขายได้สูงสุดในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น
นอกจากนั้น การ์ตูนมังงะเรื่องต่าง ๆ ยังถูกนำมาตีพิมพ์เป็นหนังสือรวมเล่ม และทำยอดขายถล่มทลาย
ข้อมูลอันดับยอดขายการ์ตูนมังงะแบบรวมเล่ม ที่ถูกตีพิมพ์โดยบริษัท Shūeisha
อันดับ 1 - One Piece ยอดขาย 516 ล้านเล่ม
อันดับ 2 - Dragon Ball ยอดขาย 300 ล้านเล่ม
อันดับ 6 - Naruto ยอดขาย 250 ล้านเล่ม
อันดับ 7 - Slam Dunk ยอดขาย 170 ล้านเล่ม
อันดับ 8 - KochiKame: Tokyo Beat Cops ยอดขาย 156 ล้านเล่ม
อันดับ 9 - Demon Slayer ยอดขาย 150 ล้านเล่ม
ทั้งนี้ Shūeisha ยังมีการวางแผงนิตยสารการ์ตูนมังงะฉบับอื่นด้วย เช่น Jump SQ., V Jump, Weekly Young Jump, Grand Jump, Ultra Jump รวมไปถึงนิตยสารเพลง, แฟชั่น รวมถึงสังคมและวัฒนธรรม
โดยในปี 2021 ที่ผ่านมา บริษัท Shūeisha มีรายได้อยู่ที่ 195,000 ล้านเยน หรือประมาณ 5 หมื่นล้านบาท
อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นผู้นำในตลาดนิตยสารการ์ตูนมังงะ แต่ Weekly Shōnen Jump ก็ต้องเจอกับความท้าทายไม่น้อยเลยทีเดียว
เพราะในอดีต นิตยสารเคยมียอดขายสูงถึงประมาณ 6 ล้านเล่มต่อสัปดาห์ แต่ปัจจุบัน ยอดขายกลับลดลงเหลือราว 1.5-2 ล้านเล่มต่อสัปดาห์ เนื่องจากผู้อ่านหันไปเสพมังงะบนช่องทางออนไลน์กันมากขึ้น
ซึ่งบริษัทก็ได้ปรับตัว ด้วยการพัฒนาแพลตฟอร์มอ่านการ์ตูนมังงะออนไลน์ ชื่อว่า Manga Plus ในปี 2019 โดยบางเรื่องมีการแปลหลายภาษา รวมไปถึงภาษาไทยด้วย
จากเรื่องราวของ Weekly Shōnen Jump นี้ สะท้อนให้เห็นว่า
สิ่งที่ทำให้นิตยสารสามารถประสบความสำเร็จได้อย่างต่อเนื่อง คือ การเปิดโอกาสให้นักเขียนสร้างสรรค์ผลงานตามจินตนาการของตัวเอง ทำให้การ์ตูนมังงะของพวกเขามีเอกลักษณ์โดดเด่น
ซึ่งก็เป็นแรงบันดาลใจจากรุ่นสู่รุ่น ทำให้ Weekly Shōnen Jump มีนักเขียนการ์ตูนมังงะรายใหม่ ๆ เข้ามาสร้างเนื้อหาที่น่าสนใจ ให้ผู้อ่านได้ติดตามอย่างต่อเนื่อง ในทุกยุคสมัย
ที่สำคัญ คือ นิตยสารฉบับนี้ส่งผลให้การ์ตูนมังงะ เข้ามามีอิทธิพลต่อสังคมและวัฒนธรรมของญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก และกลายเป็น “Soft Power” ที่ทำให้ทั่วโลกรู้จักประเทศญี่ปุ่น ดังเช่นทุกวันนี้..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://www.thelechuga.com/post/the-history-of-shonen-jump
-https://gamerant.com/weekly-shonen-jump-japan-most-popular-manga-publication/
-https://honeysanime.com/the-history-of-shounen-jump/
-https://en.m.wikipedia.org/wiki/List_of_best-selling_manga
-https://en.m.wikipedia.org/wiki/List_of_Japanese_manga_magazines_by_circulation
-https://www.statista.com/statistics/1219320/shueisha-net-sales/
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.