Toygaroo ขายดีจนเป็น Netflix แห่งวงการของเล่น แต่ก็เจ๊งใน 3 ปี

Toygaroo ขายดีจนเป็น Netflix แห่งวงการของเล่น แต่ก็เจ๊งใน 3 ปี

16 ธ.ค. 2022
Toygaroo ขายดีจนเป็น Netflix แห่งวงการของเล่น แต่ก็เจ๊งใน 3 ปี /โดย ลงทุนแมน
ธุรกิจแบบ Subscription คงไม่ใช่เรื่องแปลกในปัจจุบัน โดยเฉพาะบริษัทเทคโนโลยี เพราะทุกวันนี้ไม่ว่าจะเป็นงานอดิเรก อย่างการดูหนัง, ฟังเพลง, โปรแกรมสำหรับทำงาน หรือแม้แต่ซอฟต์แวร์ในรถยนต์ ก็ล้วนหันมาใช้โมเดลนี้ทั้งสิ้น
แต่เมื่อ 12 ปีก่อน มีบริษัทที่ชื่อว่า Toygaroo ที่แม้จะไม่ใช่บริษัทเทคโนโลยี แต่ก็เลือกใช้โมเดล Subscription เพื่อให้เช่าของเล่นเด็ก แทนการจัดจำหน่ายทั่ว ๆ ไป
นอกจากนี้ Toygaroo ยังไปออกรายการ Shark Tank และได้รับเงินสนับสนุนมา แต่เพียง 3 ปีหลังจากนั้น บริษัทก็ต้องปิดตัวลง ด้วยเหตุผลที่ว่า ขายดีจนเจ๊ง
เกิดอะไรขึ้นกับ Toygaroo ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
คุณ Nikki Pope ผู้ก่อตั้งบริษัท มองเห็นโอกาส จากการที่พ่อแม่มือใหม่ นั้นจะคอยซื้อของเล่นใหม่ให้กับลูกตัวเองอยู่ตลอดเวลา
เนื่องจากเด็ก ๆ นั้น เบื่อได้ง่าย และยังอยากได้ของเล่นใหม่ ๆ Toygaroo จึงเข้ามาเป็นตัวช่วยที่สามารถลดค่าใช้จ่ายจากของเล่น และแก้ปัญหาของเล่นเต็มบ้านไปด้วยในตัว
ผู้ใช้บริการ เพียงแค่เข้าไปเลือกของเล่นที่มีให้เช่าได้กว่า 300 แบบผ่านเว็บไซต์ และรอของเล่นมาส่งถึงบ้าน โดยที่เมื่อเด็ก ๆ เบื่อแล้ว ก็ยังสามารถเปลี่ยนของเล่นชิ้นใหม่ ๆ จากบริษัทได้ตลอดเวลา
โดยบริษัทจะมีค่าบริการทั้งหมด 3 แบบ คือ
- 870 บาท/เดือน สำหรับของเล่น 4 ชิ้น
- 1,160 บาท/เดือน สำหรับของเล่น 6 ชิ้น
- 1,510 บาท/เดือน สำหรับของเล่น 8 ชิ้น
ก่อนที่ Toygaroo จะออกรายการ Shark Tank บริษัทก็มีฐานลูกค้ามากกว่า 500 ครอบครัว โดยมีรายได้
เฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 42,000-52,700 บาท ต่อ 1 ครอบครัว
ด้วยโมเดลธุรกิจที่น่าสนใจ ฐานลูกค้าที่แน่นอน และเป้าหมายในการนำเงินไปขยายธุรกิจ
Toygaroo จึงได้รับเงินลงทุนจากคุณ Mark Cuban และคุณ Kevin O’Leary เป็นเงินมากถึง 7 ล้านบาท เพื่อแลกกับหุ้น 35%
หลังจากออกรายการ Toygaroo ก็ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว ยอดผู้ใช้งานปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก จนหลาย ๆ คนถึงกับพูดว่าเป็น Netflix แห่งวงการของเล่น
แต่ด้วยจำนวนผู้ใช้งานที่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากนี้เอง ที่ส่งผลให้บริษัทต้องปิดกิจการไป หลังจากการเข้าลงทุนของ Shark เพียงแค่ 3 ปีเท่านั้น
โดยปัจจัยแรก ก็มาจากค่าใช้จ่ายของบริษัทที่ปรับตัวสูงขึ้น ตามจำนวนของเล่นที่เพิ่มมากขึ้นตามความต้องการของลูกค้า และเมื่อบริษัทมีของเล่นเป็นจำนวนมาก สิ่งที่ตามมาคือค่าใช้จ่ายในการขยายคลังสินค้าอยู่ตลอดเวลา
เมื่อรวมกับนโยบายไม่คิดค่าส่งของเล่นไปยังบ้านลูกค้า และค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนของเล่น บริษัทจึงประสบปัญหาขาดแคลนกระแสเงินสดในที่สุด
ปัจจัยต่อมาคือ การดูแลรักษาสภาพของเล่น รวมถึงการตรวจเช็ก เพราะการนำของเล่นไปให้เด็กเล็กเล่น ก็ย่อมจะต้องมีบางชิ้นที่ชำรุด หรือสูญหายบ้าง และเมื่อบริษัทมีของเล่นเป็นจำนวนมาก อีกทั้งของเล่นแต่ละแบบ ก็มีความแตกต่างกันไป ทำให้การดูแลรักษา และหมุนเวียนของเล่นไปให้ลูกค้ารายอื่น ๆ จึงมีความยากลำบาก และเกิดเป็นค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในแต่ละครั้ง
ปัจจัยสุดท้ายคือปัญหา Dead Stock เพราะเมื่อของเล่นออกใหม่กำลังได้รับความนิยม จึงมีลูกค้าจำนวนมากแย่งกันเช่าของเล่น จนก่อให้เกิดปัญหา Waiting List เป็นเวลาหลายเดือน บริษัทจึงแก้ปัญหาด้วยการสั่งของเล่นที่กำลังได้รับความนิยมนั้น เข้ามาเป็นจำนวนมาก ให้เพียงพอกับความต้องการของลูกค้า
แต่นั่นกลับเป็นการสร้างปัญหาใหม่ขึ้นมาแทน เพราะตลาดของเล่นนั้นมีการเปลี่ยนเทรนด์ค่อนข้างเร็ว ส่งผลให้เมื่อของเล่นชิ้นนั้นเสื่อมความนิยมลง ก็กลายเป็นว่าแทบจะไม่มีลูกค้าคนไหนเช่าของเล่นชิ้นนั้นอีกเลย
ด้วยปัจจัยเหล่านี้ ส่งผลให้ในท้ายที่สุด Toygaroo ก็ต้องปิดตัวลงไป เพราะบริษัทไม่สามารถไปต่อได้ เนื่องจากต้นทุนหลักของบริษัทคือ ค่าของเล่น ค่าเช่าเก็บสินค้า และค่าขนส่ง ที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นตามจำนวนของลูกค้า
แตกต่างจากเหล่าบริษัทเทคโนโลยีอย่างเช่น Netflix หรือ Adobe ที่เป็นบริการแบบ Subscription เหมือนกัน แต่สามารถขยายฐานลูกค้าออกไปได้ทั่วโลก ในขณะที่ต้นทุนเพิ่มขึ้นไม่มากนัก เพราะมีต้นทุนหลักคือค่าระบบ และค่าพนักงาน ที่สามารถรองรับการขยายได้ง่ายกว่า
เรื่องราวของ Toygaroo ทำให้เราได้เรียนรู้ว่าแต่ละธุรกิจ ก็มีลักษณะเฉพาะของตัวเอง โมเดลธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในกิจการหนึ่ง ก็อาจไม่เหมาะกับอีกกิจการหนึ่ง อย่างเช่น ระบบ Subscription ที่ดูเหมือนจะได้ผลกับบริษัทเทคโนโลยี มากกว่าบริษัทที่ขายสินค้าจริงอย่าง ของเล่น
และอีกเรื่องหนึ่งคือ แม้ว่ากิจการของเราจะขายดีจนมีรายได้หลายร้อยล้านบาท แต่หากโมเดลธุรกิจ และโครงสร้างของกิจการที่วางไว้ไม่สามารถรองรับได้
กิจการก็อาจจะเติบโตไม่ทันและเกิดปัญหาตามมา จนสุดท้ายอาจเข้าใกล้กับคำว่า ขายดีแต่ก็เจ๊ง เหมือนอย่าง Toygaroo นั่นเอง..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://www.projecthatch.co/stories/toygaroo-the-netflix-of-toys/
-https://medium.com/@nathangreeevo/toygaroo-the-netflix-of-toys-db7f209acd13
-https://www.youtube.com/watch?v=wpMiJ1oQSbo
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.