รู้จัก “Ft” ตัวที่ทำให้ค่าไฟแพง

รู้จัก “Ft” ตัวที่ทำให้ค่าไฟแพง

20 เม.ย. 2023
รู้จัก “Ft” ตัวที่ทำให้ค่าไฟแพง /โดย ลงทุนแมน
ช่วงนี้มีข่าวเรื่องค่าไฟที่แพงขึ้นอยู่เต็มโซเชียล รวมถึงการขึ้นค่า Ft หรือ ค่าไฟฟ้าผันแปร ที่จะเกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้
การขึ้นค่า Ft จะทำให้ค่าไฟฟ้าต่อหน่วยที่เราใช้นั้นปรับสูงขึ้น แม้เราจะใช้ไฟเท่าเดิม
วันนี้ เรามาดูกันว่าค่า Ft มีที่มาอย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ปกติแล้วต้นทุนในการผลิตไฟฟ้านั้น ถูกคิดมาจากปัจจัยหลายอย่าง ตั้งแต่
- ค่าก่อสร้างโรงไฟฟ้า
- งานระบบสายส่ง
- ระบบจำหน่าย
- การบำรุงดูแลรักษา
- ค่าเชื้อเพลิง
- ความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และอื่น ๆ อีกมากมาย
แต่ถ้าเรามองดูให้ดี ต้นทุนบางอย่างนั้น ก็ไม่สามารถที่จะคิดในรูปแบบต้นทุนคงที่ได้
ที่เห็นได้ชัดเลย ก็คือ ต้นทุนค่าเชื้อเพลิง และค่าเงิน ที่มีการปรับเปลี่ยนตามราคาตลาดโลกอยู่ตลอดเวลา
ดังนั้น การเหมาคิดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าให้คงที่นั้น อาจก่อให้เกิดการเสียผลประโยชน์ต่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในแต่ละสถานการณ์
ยกตัวอย่างเช่น หากต้นทุนค่าเชื้อเพลิงปรับขึ้นสูงมากเกินไป ก็อาจจะทำให้ผู้ผลิตขาดทุนได้
ในทางกลับกัน หากราคาเชื้อเพลิงลดลงไปมากในช่วงเวลาหนึ่ง ประชาชนทั่วไป ก็อาจจะต้องเสียค่าไฟฟ้าเกินความเป็นจริงไปมากเช่นกัน
ค่า Ft หรือ “ค่าไฟฟ้าผันแปร” จึงเกิดขึ้นมา เพื่อให้สะท้อนความเป็นจริงของต้นทุนผันแปรในแต่ละช่วงเวลา
โดยจะมีการพิจารณาทุก ๆ 4 เดือน และสามารถที่จะปรับตัวเลขนี้ให้ “เป็นบวกหรือลบก็ได้” ตามความเหมาะสมในแต่ละช่วงเวลานั้น ๆ ขึ้นอยู่กับ ต้นทุนสำคัญ ได้แก่
- ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า
- ต้นทุนค่ารับซื้อไฟฟ้าจากเอกชน
- ต้นทุนนโยบายภาครัฐ
ส่วนแรก “ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า”
ในช่วงที่ผ่านมา ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า โดยเฉพาะเชื้อเพลิงฟอสซิลนั้น ปรับตัวสูงขึ้นมากทุกตัว
โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติ ที่เป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าของประเทศนั้น มีการปรับสูงขึ้นมากกว่าเท่าตัว นับตั้งแต่สถานการณ์โรคระบาด และความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ได้เริ่มขึ้น
เรื่องนี้ถูกสะท้อนไปยังราคาต้นทุนค่าผลิตไฟฟ้าหน้าโรงงาน จากในปี 2564 อยู่ที่ 2.73 บาทต่อหน่วย กลายมาเป็น 3.71 บาทต่อหน่วย ในปี 2565
เรื่องต่อมาคือ
“ต้นทุนค่ารับซื้อไฟฟ้าจากเอกชน”
ตั้งแต่ปี 2537 เป็นต้นมา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากเอกชนรายใหญ่เป็นครั้งแรก เพื่อให้เกิดการแข่งขันทางพลังงานมากขึ้น
ซึ่งเอกชนก็จะขายให้กับ กฟผ. ซึ่งเป็นผู้รับซื้อไฟฟ้า ตามสัญญาที่ตกลงกันไว้
และ กฟผ. ก็จะต้องจ่ายเงินค่ารับซื้อไฟฟ้าพร้อมกับค่าความพร้อมจ่าย
และอีกต้นทุนหนึ่งที่จะไม่พูดถึงไม่ได้
นั่นคือ “ต้นทุนนโยบายภาครัฐ”
ต้นทุนที่ว่านี้ ก็เช่น การให้เงินส่วนเพิ่ม หรือที่เรียกกันว่า “ค่า Adder” กับโรงไฟฟ้าขนาดเล็กที่ใช้เชื้อเพลิงจากพลังงานหมุนเวียน เพื่อสร้างแรงจูงใจในการผลิต
นอกจากนี้ ยังมีเงินที่ต้องหักเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้า เพื่อนำไปพัฒนาระบบไฟฟ้าของประเทศ และส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้น
อ่านมาถึงตรงนี้ เราคงเห็นแล้วว่า ค่า Ft เป็นค่าต้นทุนผันแปร ที่ปรับขึ้นลงได้ตามต้นทุนการผลิตไฟฟ้าในแต่ละช่วงเวลา เพื่อให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงมากที่สุดในช่วงเวลานั้น ๆ
ซึ่งในปัจจุบัน ค่า Ft สำหรับบ้านที่อยู่อาศัย ก็พุ่งไปถึง 98.27 สตางค์ต่อหน่วยแล้ว เรียกได้ว่าสูงสุดในรอบ 20 ปีเลยทีเดียว
แต่ก็คงต้องบอกว่า แม้จะมีการปรับค่า Ft ขึ้นแล้วนั้น ทาง กฟผ. เอง ก็ยังคงแบกรับภาระต้นทุนจากการตรึงราคาค่า Ft เพื่อลดภาระของประชาชนในช่วงที่ผ่านมา เป็นเงินมากกว่าแสนล้านบาท
หมายความว่า หาก กฟผ. ไม่ได้แบกรับต้นทุนเอาไว้
ค่าไฟฟ้าในบิลทั้งหมดที่ผ่านมา
จะมีราคาสูงกว่านี้ เข้าไปอีก..
รู้หรือไม่ว่า กฟผ. ได้ทำกรณีศึกษาไว้ว่า หาก กฟผ. ไม่แบกรับต้นทุนเอาไว้ ค่า Ft ที่จะเรียกเก็บจากเราจะอยู่ที่ 293.60 สตางค์ต่อหน่วย และจะทำให้ค่าไฟฟ้า สูงถึง 6.35 บาทต่อหน่วย เลยทีเดียว..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://eservice.pea.co.th/EstimateBill/
-https://www.egat.co.th/home/egat-price/
-https://www.mea.or.th/content/detail/2985/2987/474
-https://www.egat.co.th/ft/ft_may66-aug66
-https://www.egat.co.th/home/egat-price/#tab-52571
-https://www.egat.co.th/ft/20150331%20Ft_Formulas_Jan2015.pdf
-https://www.egat.co.th/ft/ft_jan66-apr66
-https://thaipublica.org/2023/03/electricity-availability-payment/
-https://www.egat.co.th/ft/index_3.html
-https://www.egat.co.th/ft/ft_may66-aug66/ft-reason_may66-aug66.html
-https://www.egat.co.th/ft/ft_may66-aug66/
-https://pdf.erc.or.th/MenuInternal/detail/39
-https://www.eppo.go.th/index.php/th/petroleum/gas/ngv-situlation
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.