“แลนด์บริดจ์” ท่าเรือไทย ที่จะแบ่งเค้กหมื่นล้าน จากสิงคโปร์

“แลนด์บริดจ์” ท่าเรือไทย ที่จะแบ่งเค้กหมื่นล้าน จากสิงคโปร์

15 ส.ค. 2023
“แลนด์บริดจ์” ท่าเรือไทย ที่จะแบ่งเค้กหมื่นล้าน จากสิงคโปร์ /โดย ลงทุนแมน
“900,000 ล้านบาท” คือมูลค่าอุตสาหกรรมการเดินเรือของสิงคโปร์
และ 77,000 ล้านบาท คือรายได้ในปี 2564 ที่บริษัทท่าเรือข้ามชาติของรัฐบาลสิงคโปร์ ได้จากการดำเนินงานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
นี่คือความได้เปรียบของการเป็นเมืองท่า เรียกได้ว่า เป็นเค้กชิ้นโต ซึ่งไทยกำลังจะร่วมแย่งชิงส่วนแบ่งด้วยโครงการ แลนด์บริดจ์ ที่มีเป้าหมายจะเปลี่ยนไทยให้กลายเป็น ศูนย์กลางการขนส่งทางน้ำระดับภูมิภาค
แล้วเรื่องนี้มีรายละเอียดอย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา การขนส่งทางเรือ เป็นวิธีการขนส่งที่ได้รับความนิยมสูงที่สุด
โดยครองสัดส่วนมากกว่า 80% ของปริมาณการค้าโลก
เนื่องจากใช้ต้นทุนในการขนส่งต่ำกว่าการขนส่งรูปแบบอื่น ๆ รวมถึงครอบคลุมการขนส่งในหลายรูปแบบ
ช่องแคบมะละกาที่อยู่ทางตอนใต้ของมาเลเซียและสิงคโปร์ คือหนึ่งในเส้นทางการเดินเรือที่สำคัญของโลก มีปริมาณเรือที่ผ่านเส้นทางนี้ ถึงเกือบ 85,000 ลำต่อปี
โดยมีปริมาณตู้สินค้ากว่า 1 ใน 4 ของปริมาณสินค้าที่ค้าขายทั่วโลก และยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
ทั้งนี้ ความสำเร็จของช่องแคบมะละกา เกิดจากทำเลที่ตั้ง ที่เป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก
ซึ่งเชื่อมโยงประเทศเศรษฐกิจหลายประเทศ ทั้งประเทศที่อยู่ทางด้านมหาสมุทรแปซิฟิก เช่น ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ และสหรัฐอเมริกา
และกลุ่มประเทศที่อยู่ทางด้านมหาสมุทรอินเดีย เช่น ประเทศในแถบเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง ทวีปยุโรป และทวีปแอฟริกา รวมถึงอาเซียนของเราด้วย
ประเด็นคือ ที่ผ่านมาการนำเข้า-ส่งออก สินค้าของไทย กับประเทศในฝั่งมหาสมุทรอินเดีย จะต้องเปลี่ยนถ่ายสินค้ากันที่ช่องแคบมะละกา ซึ่งมีปัญหาที่ต้องเจอคือ
เวลาเราจะส่งสินค้าไปยังประเทศทางด้านมหาสมุทรอินเดีย เราจะต้องตั้งต้นจากท่าเรือกรุงเทพและท่าเรือแหลมฉบัง เดินเรือผ่านช่องแคบมะละกา
แต่เส้นทางเดิมนี้ กลับพ่วงมาด้วยปัญหาหลาย ๆ อย่าง เช่น
- ปริมาณเรือหนาแน่นเกินไป และขยายต่อเติมได้ยาก
- ระยะทางไกลและอ้อม จึงมีค่าใช้จ่ายในการเดินเรือสูง
- หากช่องแคบมะละกาถูกปิด ช่องทางสำรองที่ใช้ได้คือ ช่องแคบลอมบอก แถวหมู่เกาะบาหลี และช่องแคบซุนดา แถวหมู่เกาะสุมาตราของอินโดนีเซีย ซึ่งอ้อมและไกลกว่าเดิม
ไทยจึงต้องหาช่องทางขนส่งสินค้า เพื่อให้สุดท้ายแล้วประสิทธิภาพ และต้นทุนการนำเข้า-ส่งออกสินค้า ยังแข่งขันได้ในตลาดโลก
เป็นที่มาของโครงการ แลนด์บริดจ์ โครงการพัฒนาท่าเรือ 2 ฝั่งมหาสมุทรของไทย ซึ่งสามารถทดแทนช่องแคบมะละกาได้
โดยมีทำเลทองก็คือ ทิศตะวันออกของจังหวัดชุมพร ที่ติดกับอ่าวไทย และทิศตะวันตกของจังหวัดระนอง ที่ติดกับมหาสมุทรอินเดีย
หากตีเส้นเชื่อมระหว่างท่าเรือของ 2 จังหวัดนี้ จะมีระยะทางห่างกันเพียง 90 กิโลเมตร ซึ่งรถบรรทุกสินค้าหนัก ใช้เวลาวิ่งเพียง 1 ชั่วโมงครึ่งเท่านั้น
โดยโครงการ แลนด์บริดจ์ จะเป็นการสร้างเส้นทางเชื่อมโยงระหว่างท่าเรือทั้ง 2 แห่ง ที่อยู่ในจังหวัดชุมพรและจังหวัดระนอง
โดยในเส้นทางจะมีทั้งทางหลวงพิเศษขนาด 6 ช่องจราจร ทางรถไฟขนาดรางมาตรฐาน 2 ทาง และระบบการขนส่งทางท่อ
ซึ่งขณะนี้โครงการก็กำลังอยู่ในขั้นตอนการทำประชาพิจารณ์ เพื่อรับฟังความเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งประชาชนในพื้นที่และผู้ประกอบการ
เพราะยังมีประเด็นที่เป็นกังวลกัน ในเรื่องผลกระทบต่อธรรมชาติ ที่ต้องทำลายป่าเพื่อสร้างถนนและทางรถไฟ
รวมถึงการสร้างท่าเรือที่จะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ วิถีชีวิต และการทำการประมงในบริเวณนั้น
แล้วประเทศไทยจะได้อะไร จากโครงการนี้บ้าง ?
เรื่องแรกคือ รายได้และภาษีที่เราจะได้จากการเป็นเมืองท่า ที่จะมีเรือเดินทางมาเข้า-ออก และเปลี่ยนถ่ายสินค้า
ต่อมาคือ ช่วยสนับสนุนการค้าขายระหว่างประเทศ เพราะทำให้การส่งออกและนำเข้าสินค้ากับประเทศทางด้านมหาสมุทรอินเดียเร็วขึ้น
และนอกจากนี้ การสร้างเส้นทางคมนาคมในพื้นที่ ยังจะก่อให้เกิดการพัฒนาในบริเวณพื้นที่รอบข้าง เช่น ระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ นำมาซึ่งการลงทุนของภาคเอกชน ก่อให้เกิดแหล่งเศรษฐกิจใหม่ ๆ และเพิ่มการจ้างงานในพื้นที่
จะเห็นว่า หากแลนด์บริดจ์เกิดขึ้นได้จริง นอกจากรัฐจะมีรายได้เพิ่ม จากการจัดเก็บภาษี และเศรษฐกิจในพื้นที่จะเติบโตแล้ว
จังหวัดชุมพรและระนอง อาจกลายเป็น เส้นทางการค้าใหม่ของโลก และเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางน้ำของภูมิภาค
และหากเราคาดหวังให้โครงการแลนด์บริดจ์ สร้างรายได้เทียบเท่ากับท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งเป็นท่าเรือที่ใหญ่สุดในไทย โดยปีที่ผ่านมามีรายได้ 16,000 ล้านบาท
เพียงแค่แลนด์บริดจ์ สามารถแบ่งเค้กให้ได้ 20%
ตีเป็นมูลค่าราว 15,400 ล้านบาท จากบริษัทท่าเรือข้ามชาติของรัฐบาลสิงคโปร์
หากทำได้ เราก็จะมีท่าเรือแหลมฉบังแห่งที่ 2 ขึ้นมาในทันที..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://unctad.org/system/files/official-document/dtl2018d1_en.pdf
-https://www.krungsri.com/th/research/industry/industry-outlook/logistics/sea-freight-transportation/io/Sea-Freight-Transport-2023-2025
-https://www.landbridgethai.com/paper/
-https://www.ship-technology.com/features/why-is-singapore-port-so-successful/
-https://www.globalpsa.com/wp-content/uploads/PSAI-Annual-Report-2021.pdf
-https://unctad.org/system/files/official-document/dtl2018d1_en.pdf
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.