ญี่ปุ่น ประเทศเดียวในเอเชีย ที่ Amazon ครองตลาดอีคอมเมิร์ซได้

ญี่ปุ่น ประเทศเดียวในเอเชีย ที่ Amazon ครองตลาดอีคอมเมิร์ซได้

22 พ.ย. 2023
ญี่ปุ่น ประเทศเดียวในเอเชีย ที่ Amazon ครองตลาดอีคอมเมิร์ซได้ /โดย ลงทุนแมน
ปกติแล้ว ประเทศญี่ปุ่นจะเป็นตลาดสุดหินของแบรนด์ต่างชาติหลาย ๆ แบรนด์ เพราะมีความเป็นชาตินิยม ใช้สินค้าของประเทศตัวเอง
แต่เรื่องแปลกคือ Amazon เจ้าตลาดอีคอมเมิร์ซ สามารถครองตลาดซื้อของออนไลน์ในญี่ปุ่น ได้เป็นอันดับ 1 ด้วยส่วนแบ่งกว่า 23%
และที่น่าสนใจคือ ญี่ปุ่นเป็น 1 ใน 4 ประเทศ ที่เป็นรายได้หลักของ Amazon รองจากสหรัฐอเมริกา เยอรมนี และสหราชอาณาจักรอีกด้วย
Amazon ทำอย่างไร
ถึงครองตลาดญี่ปุ่นได้เป็นอันดับ 1 ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
Amazon เริ่มมาจากธุรกิจขายหนังสือออนไลน์ โดยมีโมเดลธุรกิจไม่ซับซ้อนเลย เพราะแค่ซื้อหนังสือ แล้วมาขายต่อบนเว็บไซต์ของตัวเอง
ก่อนที่ต่อมาจะเริ่มนำสินค้าอื่น ๆ มาวางขายบ้าง พร้อมกับลงทุนในระบบคลังสินค้าต่าง ๆ จนกลายเป็นจุดแข็งของบริษัท
และอีกข้อที่ทำให้ Amazon ประสบความสำเร็จในสหรัฐอเมริกาเป็นอย่างมาก ก็คือ ราคาขายที่ต่ำกว่าร้านทั่วไปถึง 10-15%
ก่อนที่จะเข้าสู่จุดเปลี่ยนสำคัญในปี ค.ศ. 2000 โดยการเปิดพื้นที่ให้ธุรกิจต่าง ๆ มาขายสินค้าบนเว็บไซต์ของตัวเองได้ แล้ว Amazon หักค่าธรรมเนียมส่วนหนึ่ง ซึ่งเราเรียกโมเดลแบบนี้ว่า B2B2C
แล้วโมเดลธุรกิจของ Amazon ที่ริเริ่มพัฒนาจากชาติตะวันตก ประสบความสำเร็จในประเทศชาตินิยมอย่างญี่ปุ่นได้อย่างไร ?
ญี่ปุ่น ขึ้นชื่อเรื่องประเทศที่มีความเป็นชาตินิยมสูงมาก และมักใช้สินค้าแบรนด์ประเทศตัวเองเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่สุดท้ายแล้ว Amazon ก็มองเห็นโอกาสที่เกิดขึ้นได้
เพราะญี่ปุ่นเป็นตลาดหนังสือที่ใหญ่มาก ไม่ว่าจะเป็นหนังสือการ์ตูน นิตยสาร หรือหนังสือแบบอื่น ซึ่งเป็นสินค้าที่ Amazon เองก็ขายอยู่แล้ว
แต่ปัญหาคือ ไม่ใช่แค่เรื่องชาตินิยมด้านการซื้อสินค้าอย่างเดียว เพราะญี่ปุ่นยังมีกฎหมายที่ชื่อว่า “Saihanbai Kakaku-iji Seido”
กฎหมายที่ว่านี้ ให้อำนาจสำนักพิมพ์กำหนดราคาขายหนังสือ หรือหนังสือพิมพ์ได้ ซึ่งเรื่องนี้ส่งผลกระทบต่อโมเดลธุรกิจของ Amazon โดยตรง
เพราะ Amazon จะขายสินค้าในราคาต่ำกว่าร้านทั่วไป 10-15% ทำให้การไปขอเจรจาราคาขายกับสำนักพิมพ์ญี่ปุ่น เป็นเรื่องที่ทำไม่ได้
แล้ว Amazon จะแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างไรดี ?
บริษัทตัดสินใจนำสินค้าอื่นมาวางขายบนเว็บไซต์ เพิ่มเติม เช่น ซีดีเพลง การ์ตูน ภาพยนตร์ รวมถึงเกม เพราะสินค้าพวกนี้ไม่ติดเรื่องข้อกฎหมาย ทำให้ Amazon ยังสามารถใช้จุดแข็งเดิม คือตั้งราคาขายได้ต่ำกว่าร้านทั่วไปในตลาดญี่ปุ่นได้
และยังเพิ่มความสะดวกสบาย ด้วยตัวเลือกการจ่ายเงินที่หลากหลาย โดยเลือกจ่ายตามที่ลูกค้าต้องการ แทนที่จะจ่ายได้ผ่านบัตรเครดิต หรือเงินสดเพียงอย่างเดียว
นอกจากนี้ Amazon ยังมีบริการสะสมแต้ม
และส่งฟรีเมื่อสั่งซื้อขั้นต่ำ ทำให้ยิ่งได้เปรียบร้านค้าทั่วไปที่ไม่มีบริการส่งของถึงที่อีกด้วย
และทีเด็ดสุดท้ายคือ นอกจากจะเพิ่มรายการสินค้าที่วางขายแล้ว Amazon ยังเปิดให้ร้านค้าต่าง ๆ เข้ามาขายสินค้าบนเว็บไซต์ของตัวเอง ทำให้ Amazon
กุมตลาดขายของออนไลน์ในญี่ปุ่นทันที
โดยในปีที่ผ่านมา Amazon สามารถกวาดรายได้จาก ญี่ปุ่นมากถึง 718,283 ล้านบาท และกลายเป็น 1 ใน 4 ประเทศที่เป็นรายได้หลักของบริษัทเลยทีเดียว
ถึงตรงนี้ ก็ดูเหมือนว่า Amazon จะประสบความสำเร็จอย่างมากในญี่ปุ่น แต่ก็ต้องบอกว่า
ตลาดขายของออนไลน์ในญี่ปุ่น กำลังเป็นทะเลเลือด
เพราะแม้ Amazon จะมีผู้ใช้งานในญี่ปุ่นมากถึง 52 ล้านราย แต่กำลังแย่งส่วนแบ่งตลาด กับคู่แข่งกัน
อย่างสูสี เห็นได้จาก
- Amazon Japan มีส่วนแบ่งตลาด 23%
- Rakuten มีส่วนแบ่งตลาด 20%
โดย Rakuten เป็นเว็บไซต์สัญชาติญี่ปุ่น ที่ขายของออนไลน์เหมือนกัน
แต่ต่างกันตรงที่ให้ผู้ขายสินค้าแต่ละเจ้า ออกแบบคอนเทนต์การขายได้ด้วยตัวเอง
พูดให้เห็นภาพง่าย ๆ คือ เราซื้อของบน Rakuten เหมือนเดินห้างสรรพสินค้า ที่มีพนักงานมาเล่า และขายสินค้าต่าง ๆ ให้ฟัง
แตกต่างจาก Amazon ที่เป็นแค่เว็บไซต์ขายของออนไลน์ และมีรีวิวสั้น ๆ ให้คนซื้อสินค้าอ่านเพียงแค่นั้น
Rakuten จึงได้รับความนิยมจากคนญี่ปุ่นมาก โดยเฉพาะการซื้อของในวันเทศกาล ที่ผู้คนมักมองหาสินค้าที่มีเรื่องราวมอบให้กับคนพิเศษ
ไม่เพียงแค่นั้น Rakuten ยังมีธุรกิจอื่น ๆ ในเครือ ทั้งบัตรเครดิต ระบบชำระเงิน และจองที่พัก ที่มีบริการสะสมแต้มระหว่างธุรกิจในเครือเดียวกันได้ด้วย
พอเป็นแบบนี้ Rakuten จึงมีผู้ใช้งาน มากถึง 111 ล้านราย คิดเป็น 2 เท่าของจำนวนผู้ใช้งานในญี่ปุ่นบน Amazon ก็ผู้ใช้งานยังไม่ได้ใช้จ่ายเยอะมาก ส่วนแบ่งการตลาดจึงยังเป็นรองอยู่เล็กน้อย
สรุปแล้ว แม้ Amazon จะเข้าใจตลาด และสามารถปรับกลยุทธ์ด้วยการใช้ช่องว่างทางกฎหมาย จนสามารถครองตลาดในญี่ปุ่นได้
แต่ไม่แน่นอนว่าจะยังครองตลาดญี่ปุ่นได้อีกนานแค่ไหน เพราะมีคู่แข่งเจ้าถิ่น อย่าง Rakuten ตามมาติด ๆ
แต่ Amazon ก็คงไม่ใจดี และยอมยกตลาดญี่ปุ่น ที่สร้างรายได้ให้บริษัทกว่า 700,000 ล้านบาทต่อปี ให้กับคู่แข่งได้ง่าย ๆ อย่างแน่นอน..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://www.businessinsider.com/amazon-japan-to-pay-sellers-19-million-ending-antitrust-investigation-2020-9
-Amazon in Japan by Charles E. Steven's
-https://www.helium10.com/podcast/amazon-japan-success-strategies/
-Video “How Amazon Is Fighting Rakuten For E-Commerce In Japan” by CNBC
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.