รู้จัก Braze ซอฟต์แวร์แสนล้าน เบื้องหลัง Notification บนมือถือ

รู้จัก Braze ซอฟต์แวร์แสนล้าน เบื้องหลัง Notification บนมือถือ

22 ม.ค. 2024
รู้จัก Braze ซอฟต์แวร์แสนล้าน เบื้องหลัง Notification บนมือถือ /โดย ลงทุนแมน
หลายคนน่าจะเคยได้รับ Notification กองโต หรือมีข้อความจากหลากหลายแบรนด์ ส่งเข้ามาในโทรศัพท์มือถือ เพื่อโฆษณาหรือชวนให้ไปซื้อสินค้าจากแบรนด์
แล้วรู้หรือไม่ว่า สำหรับแบรนด์ใหญ่ ๆ แล้ว การทำแคมเปญการตลาด แล้วส่งข้อความหาลูกค้าจำนวนมาก ด้วยข้อความที่แตกต่างกัน ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย
อย่างเช่น การส่ง Email ของธุรกิจขนาดใหญ่ ที่มีลูกค้าจำนวนมาก หรือการส่ง Notification ในแอปพลิเคชัน
ซึ่งถ้าจะทำเองก็ต้องมีโปรแกรมเมอร์ มาคอยเขียนโคดคำสั่งขึ้นมา เพื่อส่งข้อความและสื่อสารไปยังลูกค้า
และสิ่งที่เจ้าของธุรกิจต้องเผชิญ ก็คือค่าใช้จ่ายก้อนโตในการพัฒนาโปรแกรมและจ้างคน รวมถึงความยุ่งยากในการดูแลระบบเอง
ความน่าปวดหัวนี้ ก็ทำให้เกิดเครื่องมือที่ใช้ในการจัดการเรื่องนี้ขึ้นมา ซึ่งก็คือ Braze ซอฟต์แวร์จัดการ Notification ในรูปแบบของคลาวด์ ซึ่งแทรกซึมและอยู่เบื้องหลังข้อความโฆษณา ที่เราได้รับจากหลาย ๆ แบรนด์
โดย Braze เป็นบริษัทที่ก่อตั้งมาได้เพียง 13 ปี แต่ตอนนี้มีมูลค่ากว่า 186,000 ล้านบาทแล้ว
โมเดลธุรกิจของ Braze น่าสนใจแค่ไหน
และทำให้นักการตลาด ทำงานง่ายขึ้นได้อย่างไร
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
Braze มีจุดเริ่มต้นมาจากคุณ Bill Magnuson และคุณ Jonathan Hyman อดีตพนักงานของ Bridgewater Associates กองทุนเฮดจ์ฟันด์ที่ใหญ่สุดในโลก ที่คุณ Ray Dalio เป็นผู้ก่อตั้ง
ในตอนนั้นทั้ง 2 คนมองเห็นว่าโทรศัพท์มือถือ จะเป็นช่องทางที่สำคัญของธุรกิจในอนาคต ต่อจากช่องทางสื่อดั้งเดิม อย่างเช่น ทีวี หนังสือพิมพ์ และนิตยสาร
ทั้งคู่เลยตัดสินใจสร้างซอฟต์แวร์ที่ชื่อว่า Appboy ขึ้นมา ร่วมกันกับคุณ Mark Ghermezian ผู้ร่วมก่อตั้งอีกคนที่พวกเขาได้รู้จักกันในภายหลัง
และเสนอไอเดียในการทำซอฟต์แวร์ ผูกกับแอปพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือ เพื่อติดตามพฤติกรรมของผู้ใช้งาน
ต่อมาซอฟต์แวร์ตัวนี้ก็ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น Braze และมีการเพิ่มฟีเชอร์ต่าง ๆ ขึ้นมามากมาย เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาต่อยอดแคมเปญการตลาดให้กับลูกค้าได้มากขึ้น
โดยบริการของ Braze หลัก ๆ คือ
1. บริหารจัดการแคมเปญการตลาดให้กับลูกค้า อย่างเช่น การส่งข้อความเข้า Email, SMS หรือการแจ้งเตือนในแอปพลิเคชัน
ซึ่งจุดเด่นคือ ฟังก์ชันการใช้งานที่ง่าย มีระบบช่วยคัดกรองลูกค้าเป้าหมาย และเพียงแค่ไม่กี่ขั้นตอนก็สามารถส่งข้อความถึงลูกค้านับแสน นับล้านคนได้
โดยที่นักการตลาดสามารถใช้งานได้เลย โดยไม่ต้องปรับแต่งโคดใหม่
2. Canvas เครื่องมือออกแบบแคมเปญการตลาด และวางแผน Customer Journey ให้เหมาะสมกับลูกค้าที่ใช้งานง่าย
ซึ่ง Braze ก็ยังมีเครื่องมือจำนวนมากที่ช่วยออกแบบข้อความที่จะส่งหาลูกค้าในแต่ละแพลตฟอร์ม และเก็บรวบรวมข้อมูลและฟีดแบ็ก จากลูกค้าที่ส่งข้อความไปหาได้อีกด้วย
3. บริหารจัดการข้อมูล ตั้งแต่เก็บรวบรวม วิเคราะห์ ไปจนถึงการแชร์ และนำข้ามไปใช้ยังแพลตฟอร์มหรือช่องทางการสื่อสารอื่น ๆ
ที่น่าสนใจคือ ปัจจุบัน Braze มีการนำ Generative AI เข้ามาช่วยสร้างคอนเทนต์ให้กับนักการตลาด โดยอาศัยฐานข้อมูลที่มี ทำให้การผลิตคอนเทนต์ทำได้ง่าย และตอบโจทย์ลูกค้ามากขึ้น
แล้วถ้าให้สรุปสั้น ๆ ว่าใครมีโอกาสจะเป็นลูกค้าของ Braze ได้บ้าง
คำตอบคือ ทุก ๆ แบรนด์ที่ต้องการสื่อสารกับลูกค้าจำนวนมาก แต่ต้องการลดขั้นตอนที่ยุ่งยาก ลดค่าใช้จ่าย และเพิ่มประสิทธิภาพของการทำการตลาด
เคสตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จ จากการใช้งาน Braze ในโลกธุรกิจ ก็เช่น Burger King ที่ต้องการเพิ่มยอดผู้ใช้งานแอปพลิเคชันของตนเอง และทำแคมเปญการตลาดที่น่าดึงดูด
จึงใช้ประโยชน์จากฟีเชอร์การแบ่งขอบเขตพื้นที่ของ Braze โดยกำหนดให้ส่งโปรโมชัน ไปยังสมาร์ตโฟนของคนที่อยู่ใกล้สาขา McDonald’s ในระยะ 183 เมตร ให้ดาวน์โหลดแอป Burger King เพื่อแลกซื้อ Whopper ได้ ในราคา 1 เซนต์
ผลที่ได้คือ แคมเปญนี้สามารถเพิ่มยอดดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน Burger King มาได้ถึง 3.2 ล้านคน และมีผู้ใช้งานอนุญาตให้แอปเข้าถึงตำแหน่งที่อยู่เพิ่มขึ้นถึง 143% เลย
จากจุดแข็งทั้งหมดนี้ และโซลูชันที่หลากหลาย ตอบโจทย์นักการตลาด ก็ได้ทำให้ Braze ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก จนมีลูกค้าเป็นบริษัทที่มีชื่อเสียงมากมาย ไม่ว่าจะเป็น
- KFC
- Pizza Hut
- Burger King
- Dairy Queen
- NocNoc สตาร์ตอัปอีคอมเมิร์ซ ขายของตกแต่งบ้านและวัสดุก่อสร้าง
โดยปัจจุบัน Braze มีลูกค้ามากกว่า 2,000 บริษัทที่มาใช้บริการ
ในส่วนของผลประกอบการของ Braze ช่วงที่ผ่านมา
ปี 2021 รายได้ 5,200 ล้านบาท ขาดทุน 1,100 ล้านบาท
ปี 2022 รายได้ 8,300 ล้านบาท ขาดทุน 2,700 ล้านบาท
9 เดือนแรก ปี 2023 รายได้ 12,000 ล้านบาท ขาดทุน 3,500 ล้านบาท
จะเห็นได้ว่าบริษัทมีรายได้เติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่การขาดทุนก็เพิ่มขึ้นตามเช่นกัน
ซึ่งเรื่องนี้ก็มีสาเหตุจากการที่บริษัทยังอยู่ในช่วงเติบโต ทำให้ต้องมีการขยายองค์กร รวมถึงทุ่มงบไปในด้าน R&D อย่างต่อเนื่อง
ซึ่งค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจ ทั้งค่าใช้จ่ายในการขายและการตลาด, ค่า R&D และค่าใช้จ่ายในการบริหาร
รวมกันแล้วมากกว่า 102% ของรายได้เลยทีเดียว
ก็ต้องติดตามกันต่อไปว่า Braze จะไปถึงจุดคุ้มทุน และเริ่มกอบโกยกำไรเข้าบริษัทได้หรือไม่
แต่เราน่าจะเห็นแล้วว่า Braze เติบโตขึ้นได้ จากการแก้ปัญหาอันน่าปวดหัวของนักการตลาด ที่ต้องส่งข้อความและวิเคราะห์ข้อมูลของลูกค้าจำนวนมาก
ซึ่ง Pain Point นี้เองได้กลายเป็นสิ่งที่ทำให้ Braze เติบโตขึ้น จนกลายเป็นบริษัทซอฟต์แวร์ ที่มีมูลค่ามากถึง 186,000 ล้านบาท..
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.