รู้จัก “กำไรมองทะลุ” อีกหนึ่งเครื่องมือที่ บัฟเฟตต์ ใช้วิเคราะห์ธุรกิจ

รู้จัก “กำไรมองทะลุ” อีกหนึ่งเครื่องมือที่ บัฟเฟตต์ ใช้วิเคราะห์ธุรกิจ

29 ก.พ. 2024
รู้จัก “กำไรมองทะลุ” อีกหนึ่งเครื่องมือที่ บัฟเฟตต์ ใช้วิเคราะห์ธุรกิจ /โดย ลงทุนแมน
เวลาเราอ่านงบการเงินของบริษัท “กำไรสุทธิ” มักเป็นสิ่งที่นักลงทุนส่วนใหญ่ ใช้ในการตัดสินใจลงทุน
ซึ่งบริษัทส่วนใหญ่ ก็รายงานผลกำไรสุทธิ ตามมาตรฐานบัญชี
อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่แต่ละบริษัท มีโมเดลธุรกิจและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน ทำให้มาตรฐานบัญชีที่มีอยู่ ไม่สามารถตอบโจทย์ได้ทั้งหมด
ทำให้ในบางครั้ง กำไรสุทธิ ที่เราเห็นในบรรทัดสุดท้ายของงบการเงิน อาจไม่ได้สะท้อนความเป็นจริงของธุรกิจเสมอไป
อย่างเช่นกรณีที่บริษัทแม่ มีการถือหุ้นในบริษัทลูก หลากหลายแห่ง ซึ่งถ้ายึดตามมาตรฐานบัญชี งบการเงินของบริษัทแม่ ก็อาจไม่มีการสะท้อนผลงานของบริษัทลูก ได้อย่างแท้จริง
นักลงทุนชื่อดังอย่าง วอร์เรน บัฟเฟตต์ จึงเสนอให้ใช้ “Look-Through Earnings” หรือกำไรมองทะลุ มาช่วยในการวิเคราะห์ธุรกิจ
Look-Through Earnings คืออะไร ?
และจะช่วยในการวิเคราะห์ธุรกิจ ได้อย่างไร
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ส่องพอร์ต ดู Top 10 หุ้นของวอร์เรน บัฟเฟตต์ ในแอปฯ​ StockRadars PLUS กัน ดาวน์โหลดแอปฯ และเปิดบัญชีเทรดผ่าน StockRadars PLUS ที่นี่เลย > https://stockradarsplus.page.link/LTMFB
╚═══════════╝
โดยปกติแล้ว ถ้าบริษัทแม่ถือหุ้นในบริษัทลูก ตามมาตรฐานบัญชี เราจะสามารถบันทึกบัญชีได้ 3 รูปแบบ ได้แก่
- วิธีราคาทุน หากบริษัทแม่ถือหุ้นไม่เกิน 20%
- วิธีส่วนได้เสีย หากบริษัทแม่ถือหุ้น 20% ถึง 50%
- วิธีงบการเงินรวม หากบริษัทแม่ถือหุ้นเกิน 50%
ซึ่งแต่ละวิธี ก็จะมีลักษณะการบันทึกบัญชีที่แตกต่างกันออกไป
อย่างไรก็ตาม ใช่ว่ามาตรฐานบัญชี จะตอบโจทย์นักลงทุนได้เสมอไป
เพราะนักลงทุนบางคน ก็มองว่ามาตรฐานบัญชีที่ใช้กันนั้น ไม่ได้สะท้อนความจริงเท่าที่ควร
โดยหนึ่งในนักลงทุนที่ว่า ก็คือ วอร์เรน บัฟเฟตต์ นักลงทุนชื่อก้องโลกนั่นเอง
ซึ่งเขามองว่า หากบริษัทแม่ถือหุ้นบริษัทลูก ในสัดส่วนน้อย ๆ ไม่ถึง 20% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดแล้ว
บริษัทแม่ก็จะต้องบันทึกบัญชี ด้วยวิธีราคาทุน
และบันทึกรับรู้ผลกำไรขาดทุนจากบริษัทลูก เมื่อมีการจ่ายเงินปันผล หรือขายหุ้นบริษัทลูกแล้วเท่านั้น
(ยกเว้น บริษัทนั้นจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ที่มีราคาตลาด ถึงจะรับรู้ส่วนเปลี่ยนแปลงของราคาตลาดได้)
ถ้าหากบริษัทลูกไม่มีการจ่ายเงินปันผล หรือบริษัทแม่ไม่ได้ขายหุ้นทิ้ง
บริษัทแม่ ก็จะไม่รับรู้ผลกระทบทางบัญชีใด ๆ จากบริษัทลูกเลย
หรือแม้แต่ในกรณีที่บริษัทลูก เลือกจ่ายเงินปันผลนิดเดียว แต่เก็บกำไรส่วนใหญ่ไว้กับตัวเอง
ก็ทำให้บางที บริษัทแม่รายงานผลกำไรน้อยกว่าที่ควรจะเป็น
เช่น บริษัท A ถือหุ้นบริษัท B ในสัดส่วน 10%
หากบริษัท B มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และในปีนั้นรายการกำไรออกมา 100 ล้านบาท โดยมีการจ่ายเงินปันผล 10 ล้านบาท (สมมติไม่คิดเรื่องภาษี)
หากยึดตามมาตรฐานบัญชี บริษัท A ก็จะบันทึกรายได้เท่ากับเงินปันผลที่ได้รับมา ตามสัดส่วน 10% ก็คือ 1 ล้านบาทนั่นเอง
ซึ่งในมุมของบัฟเฟตต์ จริง ๆ แล้วบริษัท A ควรรับรู้ผลกระทบมากกว่าเงินปันผล เพราะบริษัท A มีสิทธิ์ในกำไร 100 ล้านบาท ของบริษัท B ตามสัดส่วนการถือหุ้นด้วย แต่ข้อจำกัดของมาตรฐานบัญชี เลยทำให้ไม่สามารถรับรู้กำไรในส่วนนี้ได้
ด้วยช่องว่างตรงนี้เอง ดังนั้น บัฟเฟตต์จึงเสนอ “กำไรมองทะลุ” หรือ “Look-Through Earnings” ขึ้น เพื่อให้งบการเงินของบริษัทแม่ สะท้อนผลการดำเนินงานของบริษัทลูก ได้อย่างชัดเจนมากขึ้น
แล้วแนวคิดของ Look-Through Earnings เป็นอย่างไร ?
หลักการของ Look-Through Earnings ก็คือการมองถึงผลกำไรที่เกิดขึ้นในบริษัทลูก ตามสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทแม่จริง ๆ
ซึ่งไม่ว่าบริษัทลูก จะมีการจ่ายเงินปันผลหรือไม่ ผลตอบแทนทั้งหมด ก็จะถูกรวมอยู่ใน Look-Through Earnings ด้วยเหมือนกัน
โดยแนวคิดนี้ ทำให้ผลประกอบการของบริษัทแม่ สามารถรับรู้ผลการดำเนินงานของบริษัทลูก ได้ตามความเป็นจริง ไม่ว่าบริษัทแม่จะถือหุ้นเป็นจำนวนเท่าไรก็ตาม
เราสามารถหา Look-Through Earnings ได้อย่างไร ?
Look-Through Earnings มีที่มาจากการนำเงินปันผลที่ได้จากบริษัทลูก รวมกับ Retained Earnings ของบริษัทลูกตามสัดส่วนการถือหุ้น แล้วหักด้วยภาษีเงินปันผล
จะเห็นว่าวิธี Look-Through Earnings นั้น จะมีการคิดรวม Retained Earnings หรือกำไรส่วนที่ไม่ได้จ่ายเป็นเงินปันผลเข้ามาด้วย
เพราะบัฟเฟตต์มองว่า เงินส่วนนี้จะไหลกลับเข้าสู่บริษัท และถูกนำไปลงทุนต่อ เพื่อสร้างผลตอบแทนที่มากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อบริษัทแม่ รวมถึงนักลงทุนทุกคน ในระยะยาว
ดังนั้นจึงต้องนำส่วนนี้ มาสะท้อนในผลกำไรของบริษัทแม่ด้วย
แนวคิด Look-Through Earnings นั้น มีประโยชน์อย่างมาก เวลาที่เราวิเคราะห์บริษัทประเภท Holding Company หรือบริษัทที่ประกอบธุรกิจ โดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น
โดยที่บริษัทลูก ไม่นิยมจ่ายเงินปันผล เพราะเหตุผลทางภาษี แต่เลือกที่จะเก็บเป็นกำไรสะสม หรือซื้อหุ้นคืน
ซึ่งมักเป็นท่าประจำของบริษัท ในสหรัฐอเมริกานั่นเอง
จากตัวอย่างด้านบน หากเราคำนวณ Look-Through Earnings ของบริษัท A ที่ถือหุ้นในบริษัท B
เราก็ต้องนำเงินปันผลที่ได้ 1 ล้านบาท มารวมกับ Retained Earnings ตามสัดส่วนการถือหุ้น ซึ่งอยู่ที่ 9 ล้านบาท
เท่ากับว่า Look-Through Earnings จะมีค่าเท่ากับ 10 ล้านบาท นั่นเอง
และเมื่อได้ค่า Look-Through Earnings แล้ว เราก็สามารถนำไปคิดรวมกับกำไรอื่น ๆ ของบริษัทแม่
เพื่อทำให้กำไรของบริษัทแม่ ออกมาอยู่ในรูปแบบที่สะท้อนถึงผลการดำเนินงานจากบริษัทลูก ตามความเป็นจริง
แล้วนำไปใช้วิเคราะห์ในเชิงธุรกิจต่อ เช่น ประเมินมูลค่ากิจการของบริษัทแม่, เปรียบเทียบผลการดำเนินงานกับตัวเองในอดีต หรือแม้แต่ของคู่แข่ง
อย่างไรก็ตาม หากเราใช้ Look-Through Earnings เข้ามาช่วยในการวิเคราะห์หุ้น เราก็ต้องมั่นใจว่า บริษัทลูกเหล่านั้น มีคุณภาพและสามารถเติบโตได้จริง ๆ
โดยการวิเคราะห์บริษัททั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ
เพราะถ้าหากบริษัทเหล่านั้น ไม่สามารถนำเงินที่เก็บไว้ไปสร้างการเติบโต หรือสร้างผลตอบแทนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การนำเงินก้อนนั้นมาจ่ายเป็นเงินปันผลให้แก่นักลงทุน อาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่า
และทั้งหมดนี้ ก็คือเบื้องหลังแนวคิด Look-Through Earnings ที่วอร์เรน บัฟเฟตต์ คิดค้นขึ้น เพื่อให้เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือ ช่วยวิเคราะห์ธุรกิจให้ตรงตามศักยภาพที่แท้จริง มากขึ้นนั่นเอง
╔═══════════╗
?️‍♂️ มาแอบส่องพอร์ต ดู Top 10 หุ้นของวอร์เรน บัฟเฟตต์ จากกลุ่มบริษัทโฮลดิ้ง Berkshire Hathaway ในแอปฯ​ StockRadars PLUS กัน! โดยในแอปฯ ได้รวมมาให้แล้ว อยู่ใน Radars “Warren Buffett Top Picks”
ชอบหุ้นตัวไหน ก็สามารถเทรดตรงด้วยตัวเอง หรือถ้าอยากซื้อหุ้นตามยกเซ็ตทั้ง 10 หุ้น สามารถเลือก Combo Trade คลิกเดียวได้ทั้งตะกร้า แล้วยังมี Insight ข้อมูลผู้ถือหุ้นรายใหญ่อื่นๆ ให้ส่องอีกเยอะมาก
?ใครสนใจดาวน์โหลดแอปฯ และเปิดบัญชีเทรดผ่าน StockRadars PLUS เพื่อลงทุนตรงในหุ้นและ ETF อเมริกาได้ที่นี่เลย > https://stockradarsplus.page.link/LTMFB
╚═══════════╝
References
-https://www.investopedia.com/terms/l/look-through-earnings.asp
-https://www.berkshirehathaway.com/owners.html
-https://www.cnbc.com/2018/10/17/jp-morgan-berkshire-hathaway-shares-look-really-cheap-using-buffett-method.html
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.