Dragon Ball ตำนานการ์ตูน 40 ปี ที่ทุกวันนี้ยังขายดี

Dragon Ball ตำนานการ์ตูน 40 ปี ที่ทุกวันนี้ยังขายดี

8 มี.ค. 2024
Dragon Ball ตำนานการ์ตูน 40 ปี ที่ทุกวันนี้ยังขายดี /โดย ลงทุนแมน
ถ้าพูดถึง การ์ตูนขวัญใจในวัยเด็ก โดยเฉพาะผู้ชาย หนึ่งในนั้น จะต้องมีชื่อของ “Dragon Ball”
การ์ตูนการต่อสู้สุดมัน ที่เชื่อว่าใครหลาย ๆ คน คงเคยนำเอาท่าไม้ตาย พลังคลื่นเต่า ไปเล่นกับเพื่อนที่โรงเรียน
Dragon Ball ถูกสร้างมาแล้ว 40 ปี
เชื่อหรือไม่ว่า ปัจจุบัน แบรนด์นี้ยังขายได้ดีอยู่เลย..
ซึ่งคนที่เขียนตำนานการ์ตูนเรื่องนี้คือ อาจารย์อากิระ โทริยามะ
แต่น่าเศร้าที่เขาเพิ่งจากโลกนี้ไป เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา ด้วยวัย 68 ปี
อย่างไรก็ตาม ผลงานของอาจารย์อากิระ ที่ทิ้งไว้อย่าง Dragon Ball และอื่น ๆ ก็จะยังคงอยู่ตลอดไป
โดย Dragon Ball ได้แรงบันดาลใจเรื่องราวมาจาก การเดินทางไปอัญเชิญพระไตรปิฎกของพระถังซัมจั๋ง กับผู้ช่วยอย่าง ไซอิ๋ว, ตือโป๊ยก่าย และซัวเจ๋ง แต่ดัดแปลงเป็นการหาลูกบอลมังกรแทน
ในภาคแรก Dragon Ball เป็นการผจญภัยของ ซุน โกคู ในวัยเด็ก ที่ออกเดินทางรวบรวมดราก้อนบอลให้ครบ 7 ลูก เพื่อขอพรอะไรก็ได้จากเทพเจ้ามังกร โดยโกคูได้พบกับเพื่อนและศัตรูมากมาย ซึ่งตัวร้ายที่เก่งกาจที่สุดในภาคนี้ คือ จอมราชาปีศาจพิคโกโร่
ในภาคต่อมา Dragon Ball Z ถือเป็นภาคที่ได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม หลังโกคู ค้นพบว่าตัวเองเป็นชาวไซย่า มาจากนอกโลก และต้องเผชิญกับตัวร้ายที่น่ากลัวจากต่างดาวมากมาย ฉากการต่อสู้สนุกและลุ้นระทึกตลอดเวลา
ไฮไลต์สำคัญของภาคนี้ คือการแปลงร่างเป็นซูเปอร์ไซย่า ซึ่งปรากฏตัวครั้งแรก ตอนสู้กับฟรีเซอร์ ต่อมามีการพัฒนาเป็นซูเปอร์ไซย่า 2 ตอนสู้กับเซลล์ และซูเปอร์ไซย่า 3 ตอนสู้กับจอมมารบู
จนมาถึงภาค Dragon Ball Super เป็นตอนที่โกคู ได้พบกับเทพเจ้าประจำจักรวาล รวมถึงได้ต่อสู้กับนักสู้จากจักรวาลอื่นด้วย โดยตอนนี้ โกคูสามารถแปลงร่างได้เพิ่มเป็น ซูเปอร์ไซย่าก็อต, ซูเปอร์ไซย่าบลู และร่างสุดยอดสัญชาตญาณ
แล้วเส้นทางของอาจารย์อากิระ โทริยามะ ผู้ให้กำเนิด Dragon Ball เป็นมาอย่างไร ?
ในช่วงแรกของชีวิตนักวาดการ์ตูน เขาต้องเจอกับอุปสรรคมากมาย
เมื่อตอนอายุ 22 ปี เขาได้ส่งผลงานเข้าประกวดการ์ตูนของนิตยสารยังจัมป์ ถึง 2 ครั้ง แต่ก็ไม่ได้รับรางวัลอะไร
ต่อมา เขาได้โอกาสเข้าทำงานกับสำนักพิมพ์ และเริ่มออกผลงานในนิตยสารโชเน็งจัมป์บ้าง
อย่างไรก็ตาม เขากลับถูกปฏิเสธไอเดียการ์ตูนอีกหลายเรื่อง.. จนเกือบท้อใจกับอาชีพนี้
จนในปี 2523 เขาได้เขียนการ์ตูน ที่สร้างชื่อเสียงให้กับตัวเอง คือเรื่อง ดร.สลัมป์ กับหนูน้อยอาราเล่ ซึ่งทำให้เขาได้รับรางวัลการ์ตูนยอดเยี่ยม
นั่นทำให้เขาได้มีโอกาสสร้างสรรค์ผลงานใหม่ ๆ นำมาซึ่งการถือกำเนิดของ Dragon Ball นั่นเอง
Dragon Ball มีรายได้เท่าไร ?
หนังสือการ์ตูนเรื่อง Dragon Ball มีทั้งหมด 42 เล่ม วางขายมาตั้งแต่ปี 2527-2538
ปัจจุบันขายไปได้ทั้งหมด 260 ล้านเล่มทั่วโลก
เป็นการ์ตูนที่ขายดีอันดับ 4 ตลอดกาล รองจาก One Piece, Golgo 13 และยอดนักสืบจิ๋วโคนัน
ซึ่ง Dragon Ball ได้ถูกนำไปสร้างเป็น อานิเมะ, ภาพยนตร์การ์ตูน, วิดีโอเกม และสินค้าที่ระลึกต่าง ๆ อีกมากมาย
จากการเปิดเผยของ Bandai Namco บริษัทผลิตของเล่นรายใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น ปรากฏว่า ยอดขายของแบรนด์ Dragon Ball ซึ่งนับรวมของเล่น, ของสะสม, เพลง, การขายแครักเตอร์, ลิขสิทธิ์, อิเวนต์ และภาพยนตร์ต่าง ๆ
ปี 2563 มีรายได้ 32,400 ล้านบาท สูงเป็นอันดับ 1 ของค่าย
ปี 2564 มีรายได้ 30,600 ล้านบาท สูงเป็นอันดับ 1 ของค่าย
ปี 2565 มีรายได้ 30,700 ล้านบาท สูงเป็นอันดับ 1 ของค่าย
ปี 2566 มีรายได้ 34,700 ล้านบาท สูงเป็นอันดับ 1 ของค่าย
จะเห็นว่า แบรนด์ Dragon Ball สามารถทำเงินได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 3 หมื่นล้านบาท
และทุกวันนี้ก็ยังเป็นเรือธงหลัก ในการสร้างรายได้ให้กับบริษัท Bandai Namco
นอกจากนี้ หากนับรายได้ของภาคพิเศษ ที่เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ ซึ่งเข้าฉายมาแล้วกว่า 20 เรื่อง
ตรงนี้ สามารถสร้างรายได้รวมนับหมื่นล้านบาท เลยทีเดียว
ส่วนทางด้านของอาจารย์อากิระ โทริยามะ มีการประเมินว่า เขามีความมั่งคั่งอยู่ที่ราว 2,000 ล้านบาท จากส่วนแบ่งยอดขาย และค่าลิขสิทธิ์ต่าง ๆ
แม้ Dragon Ball ถูกสร้างมานานแล้ว แต่ทุกวันนี้ ยังเป็นขวัญใจของคนทั่วโลกอยู่
อีกร้อยปี เชื่อได้เลยว่าลูกหลานของเรา ก็จะยังชื่นชอบการ์ตูนเรื่องนี้
แม้การ์ตูนจะจบลงไป แต่ก็ได้มีการนำไปต่อยอด สร้างภาคต่อ, สร้างเกม, สร้างของเล่น ทำให้ตัวละครยังเป็นที่รู้จักตลอดเวลา ประกอบกับเทคโนโลยีที่ดีขึ้น ทำให้ทุกอย่างสมจริงมากขึ้น
ทุกวันนี้ มีเกม VR ที่ทำให้เราปล่อยพลังคลื่นเต่าได้จริง ๆ แล้ว
ถือเป็นการเติมเต็มความฝันในวัยเด็กของเราได้เลย
สุดท้ายนี้ แม้อาจารย์อากิระ จะไม่อยู่บนโลกแล้ว
แต่เชื่อว่า ชื่อของเขา และผลงานที่ได้สร้างขึ้นมา
จะกลายเป็นตำนาน ที่ทิ้งไว้ให้เราและลูกหลาน ได้ชื่นชมตลอดไป..
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.