ยางพาราไทย เมื่อเทียบกับ ยางรถ Bridgestone และ Michelin

ยางพาราไทย เมื่อเทียบกับ ยางรถ Bridgestone และ Michelin

12 พ.ย. 2018
ยางพาราไทย เมื่อเทียบกับ ยางรถ Bridgestone และ Michelin / โดย ลงทุนแมน
ประเทศไทยส่งออกยางพาราเป็นอันดับหนึ่งของโลก
แต่มูลค่าของยางพาราที่ไทยส่งออก เทียบไม่ได้เลยกับอุตสาหกรรมของสินค้าที่เกี่ยวกับยาง
และ หนึ่งในอุตสาหกรรมที่สำคัญที่สุดก็คือ ยางรถ..
ในปี 2017 การส่งออกยางพาราทั่วโลกมีมูลค่า 5.45 แสนล้านบาท
แต่ตลาดผู้ผลิตยางรถทั่วโลกในปี 2017 มีรายได้รวมกันมากถึง 4.96 ล้านล้านบาท
หมายความว่า รายได้ผู้ผลิตยางรถรวมกันมีมูลค่าสูงกว่ารายได้การส่งออกยางประมาณ 9 เท่า
ที่น่าสนใจคือ กลุ่มบริษัทผู้ผลิตยางรถในโลกนี้ถูกขับเคลื่อนโดยไม่กี่บริษัท
Bridgestone และ Michelin มีส่วนแบ่งการตลาดมากที่สุดตลอดหลายปีที่ผ่านมา โดยทั้ง 2 บริษัทนี้ครองส่วนแบ่งการตลาดสูงถึง 30% ของบริษัทผลิตยางรถทั้งหมด
ขอเริ่มที่บริษัทแรกซึ่งเป็นบริษัทขายยางที่ใหญ่ที่สุดในโลกชื่อ Bridgestone..
หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่าบริษัทชื่อฝรั่งนี้เป็นบริษัทสัญชาติญี่ปุ่น
คุณ Shojiro Ishibashi รู้จักกับยางครั้งแรกตอนมีปัญหากับถุงเท้าของตัวเองที่ขาดอยู่บ่อยๆ
เนื่องจากที่บ้านของคุณ Ishibashi ทำธุรกิจตัดเย็บ เขาจึงออกแบบถุงเท้าโดยนำวัสดุประเภทยางเข้าไปเป็นส่วนผสม ทำให้ถุงเท้าของเขามีความทนทานมากขึ้น..
สิ่งเหล่านี้ถูกต่อยอดไปเป็น Bridgestone ที่ถูกก่อตั้งขึ้นในปี 1931 โดยมีเหตุผลหลักๆ คือ คุณ Ishibashi อยากผลิตแบรนด์ยางรถที่เป็นของประเทศตัวเอง
นอกจากนี้ เขามีแนวคิดที่จะนำยางรถของคนญี่ปุ่นไปขายต่างประเทศ เขาจึงอยากใช้ชื่อแบรนด์ที่เรียกได้ในทุกภาษา
นามสกุลของเขา “Ishi แปลว่า หิน” และ “Bashi แปลว่า สะพาน” และนี่ก็คือที่มาของชื่อแบรนด์ Bridgestone..
แม้ว่า Bridgestone จะประสบปัญหามากมายรวมถึงได้รับผลกระทบโดยตรงจากสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่คุณ Ishibashi ก็ยังคงสร้างแบรนด์โดยยึดถือ คุณภาพสินค้าเป็นสิ่งสำคัญ
ปัจจุบัน Bridgestone มีโรงงานผลิตทั้งหมด 181 แห่งใน 24 ประเทศ และ พนักงานรวมกว่า 143,616 คนทั่วโลก..
ปี 2015 รายได้ 1,099,173 ล้านบาท กำไร 85,745 ล้านบาท
ปี 2016 รายได้ 967,735 ล้านบาท กำไร 79,877 ล้านบาท
ปี 2017 รายได้ 1,056,594 ล้านบาท กำไร 86,250 ล้านบาท
นอกจากนี้ โครงสร้างรายได้ของ Bridgestone ในปี 2017 มาจาก
ธุรกิจยางรถยนต์และรถบรรทุก 83%
และที่เหลือมาจากธุรกิจอื่นๆ 17%
ที่น่าสนใจคือ Bridgestone ไม่ได้มีฐานลูกค้าขนาดใหญ่อยู่ที่ทวีปเอเชีย แต่มีสัดส่วนของรายได้รวมตามทวีปในปี 2017 มาจาก
อเมริกา 48%
ญี่ปุ่น 19%
ยุโรป, ตะวันออกกลาง, รัสเซีย, แอฟริกา 17%
และอื่นๆ อีก 16%
เรื่องนี้เกิดจาก Bridgestone เข้าซื้อกิจการผู้ผลิตยางรายใหญ่ในหลายประเทศเพื่อขยายทั้งฐานการผลิต และเพื่อขยายฐานลูกค้า
โดยหนึ่งในนั้นคือ Firestone บริษัทยางรถยักษ์ใหญ่ในอเมริกา..
สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้ Bridgestone มีขนาดใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ และเติบโตในหลายทวีปทั่วทุกมุมโลก
โดยปัจจุบัน มูลค่าตลาดของ Bridgestone สูงถึง 951,200 ล้านบาท และเป็นบริษัทผู้ผลิตยางรถ และสินค้าประเภทยางที่ใหญ่สุดในโลก..
นอกเหนือจาก Bridgestone แล้ว อีกหนึ่งแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จไม่แพ้กัน นั่นคือ Michelin จากประเทศฝรั่งเศส
บริษัทนี้มีเครื่องหมายการค้ารูปมนุษย์ยางที่โดดเด่น รวมไปถึงการต่อยอดธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหลักได้อย่างน่าสนใจ
จุดเริ่มต้นของ Michelin มาจาก..
วันหนึ่งมีนักปั่นจักรยานขี่ไปหา คุณ Édouard Michelin และคุณ André Michelin ที่เปิดโรงงานยางพาราอยู่ที่เมือง Clermont-Ferrand ประเทศฝรั่งเศส
สมัยก่อน ยางรถจักรยานจะถูกเย็บติดถาวรกับล้อ เรื่องนี้ทำให้คนที่ต้องการจะซ่อมเฉพาะบริเวณยางต้องใช้เวลาเป็นชั่วโมง ในการถอดยาง ซ่อมยาง และเย็บติดเข้าไปใหม่
พอเรื่องเป็นแบบนี้ พี่น้องตระกูล Michelin จึงมีแนวคิดที่จะผลิตยางที่ถอดเข้า ถอดออกได้อย่างอิสระ (Removable) เพื่อความสะดวกสบายกลายมาเป็นยางในยุคปัจจุบันที่เราใช้กันอยู่..
หลังจากนั้น Michelin ก็มีนวัตกรรมใหม่ๆ ที่สร้างสรรค์จากวัตถุดิบยางธรรมชาติ นำไปประยุกต์ ต่อยอดอีกเป็นจำนวนมาก
รวมถึงการขยายธุรกิจ Michelin Guide จากความคิดแรกเริ่มที่ต้องการเพียงแนะนำสถานที่ปั๊มน้ำมัน กลับกลายมาเป็นมาตรฐานการแนะนำร้านอาหารระดับสูงที่เป็นที่นิยมในยุคปัจจุบัน..
แล้วโลโก้ Michelin มีมาตั้งแต่ตอนไหน?
จริงๆ แล้วมนุษย์ยางมีชื่อว่า Bibendum ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากการซ้อนกันของยางหลายๆ เส้น และถูกต่อยอดออกมาเป็นมนุษย์ยาง..
โลโก้นี้ถือเป็นหนึ่งใน Trademark ที่เก่าแก่สุดในโลก โดยมีอายุถึง 124 ปี
แล้วผลประกอบการของ Michelin ในยุคปัจจุบันเป็นอย่างไร?
ปี 2015 รายได้ 795,386 ล้านบาท กำไร 43,636 ล้านบาท
ปี 2016 รายได้ 784,431 ล้านบาท กำไร 62,546 ล้านบาท
ปี 2017 รายได้ 823,939 ล้านบาท กำไร 63,521 ล้านบาท
รายได้รวมทั้งหมดของ Michelin มีสัดส่วนมาจากธุรกิจยางสูงถึง 85% และมีสัดส่วนรายได้จากทวีปยุโรป 38% อเมริกาเหนือ 37% และที่เหลือคือประเทศอื่นๆ
จากผลประกอบการ 3 ปีย้อนหลังล่าสุดกลับเห็นได้ว่าทั้ง 2 บริษัทสามารถสร้างรายได้เป็นแสนล้านบาท จากนวัตกรรมที่มาจากวัตถุดิบที่ชื่อว่า ยางพารา..
สิ่งที่น่าสนใจคือ..
ในปี 2017 ประเทศที่มียอดการส่งออกยางพารามากที่สุดคือ
1.ไทย 197,100 ล้านบาท (36.2%)
2.อินโดนีเซีย 167,535 ล้านบาท (30.7%)
3.ไอวอรีโคสต์ 36,135 ล้านบาท (6.7%)
4.มาเลเซีย 36,000 ล้านบาท (6.6%)
5.เวียดนาม 32,850 ล้านบาท (6.0%)
ไทยเป็นผู้ส่งออกยางพารามากที่สุดในโลก
แต่ไม่ได้เป็นผู้สร้างสินค้าจากยางได้มากที่สุดในโลก
เรื่องนี้อาจหมายความว่า การต่อยอด การสร้างนวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่า เป็นสิ่งสำคัญ..
หากวันไหนที่ราคายางตกต่ำ
เราคนไทยจะบอกว่ามันเป็นวิกฤติ
แต่สำหรับผู้ผลิตยางรถ เขาจะบอกนั่นคือโอกาสทอง
เพราะสินค้าของเขาจะมีต้นทุนที่ต่ำลง
จะเห็นได้ว่า ในเรื่องเดียวกัน บางครั้งก็มีเรื่องราวที่ซ่อนอยู่เมื่อมองจากคนละมุม
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
ประเทศญี่ปุ่นและฝรั่งเศสไม่ได้มีสัดส่วนการส่งออกสินค้าเกษตรหลักในประเทศ และการส่งออกยางของ 2 ประเทศรวมกันคิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.6% ของผู้ส่งออกยางพาราทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม รายได้ของ Bridgestone และ Michelin รวมกัน กลับมีมูลค่าระดับ 1.9 ล้านล้านบาท มากกว่าการส่งออกยางพาราทั่วโลกเกือบ 3.5 เท่า..
----------------------
ติดตามเรื่องธุรกิจอื่นๆ ได้ที่แอปพลิเคชัน "blockdit" โหลดได้ที่ blockdit.com
ความคิดดีๆ เกิดขึ้นที่บล็อกดิต..
.
หนังสือลงทุนแมนไว้อ่านยามว่าง เล่ม 1.0-7.0 ซื้อได้ที่ลิงก์นี้ lazada.co.th/shop/longtunman
.
อินสตาแกรม ไว้ดูภาพสวยๆ instagram.com/longtunman
.
ทวิตเตอร์กระชับฉับไว twitter.com/longtunman
.
ไลน์ส่งข้อความตรงวันละครั้ง line.me/R/ti/p/%40longtunman
----------------------
References
-https://www.bridgestone.com/corporate/library/annual_report/pdf/bs_annual_2017_operational.pdf
-https://www.marketresearchreports.com/blog/2018/07/05/worlds-15-largest-tire-manufacturers-revenue
-https://www.statista.com/statistics/225677/revenue-of-the-leading-tire-producers-worldwide/
-https://finance.yahoo.com/quote/GT/financials?p=GT
-https://www.michelin.com/eng/finance/financial-results/2017-annual-results
-https://www.tradingview.com/markets/stocks-japan/market-movers-large-cap/
-http://www.tirebusiness.com/article/20170908/DATA01/170909962/2017-global-tire-company-rankings
-http://www.worldstopexports.com/natural-rubber-exports-country/
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.