สู้ไม่ถอย vs ดันทุรัง

สู้ไม่ถอย vs ดันทุรัง

13 ก.ค. 2017
คุณ น.(นามสมมติ) เป็นเซียนหุ้นที่เคยเขียนหนังสือ และออกรายการทีวีมาแล้ว แต่เขาพึ่งขาดทุนจากหุ้นตัวหนึ่งไปหลักสิบล้านบาท
คุณ น. ชอบซื้อหุ้น turnaround ที่ไม่ค่อยมีใครสนใจ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วหุ้นแบบนี้จะไม่มีสภาพคล่องในการซื้อขาย และเป็นหุ้นที่มีราคาต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชี
ลักษณะของบริษัทประเภทนี้คือ
1) บริษัททำธุรกิจขาดทุนตลอดเวลา รอวันที่จะฟื้นตัว
2) ผู้บริหารมีความน่าสงสัย ทำให้นักลงทุนส่วนใหญ่ไม่เล่นด้วย
3) บริษัทมีสินทรัพย์ที่มีค่าซ่อนอยู่ แต่สินทรัพย์นั้นไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์
ถ้าบริษัทสามารถปลดล็อคเงื่อนไขข้างต้นได้กลับมาเป็นปกติ ก็จะทำให้นักลงทุนได้รับกำไรหลายเท่าตัว
นักลงทุนที่ได้รับกำไรหลายเท่าตัว ก็จะคิดว่าตัวเองมีความชำนาญในการลงทุนหุ้นประเภทนี้ และจะเลือกค้นหาหุ้นแบบนี้ตัวต่อไปเรื่อยๆ
จนกว่า..
นักลงทุนคนนั้นจะมาเจอบริษัทที่ไม่สามารถ turnaround ได้ ก็จะเริ่มเปลี่ยนความคิด เช่น วอเร็น บัฟเฟตต์ นักลงทุนชื่อดังที่ชอบซื้อหุ้นแบบนี้ แต่มาเจอกับตัวสุดท้ายคือบริษัททอผ้า Berkshire Hathaway
ประเด็นอยู่ที่ว่าถ้าเราลงทุนในหุ้นประเภทนี้เป็นสัดส่วนน้อยของพอร์ตก็คงไม่เป็นไร
แต่ถ้าเราเริ่มใส่เงินเพิ่มเข้าไปเรื่อยๆเพราะคิดว่าจะเอาคืน ก็อาจจะพบกับความหายนะ
หุ้นของคุณนพดลประกาศเพิ่มทุน และ คุณนพดลตัดสินใจใส่เงินเพิ่มทุนตามเข้าไปอีก 7.9 ล้านบาท
ไม่สำคัญว่าที่ผ่านมาได้กำไรเท่าไร เพราะเมื่อเลขหลักร้อยล้าน พันล้าน มาคูณกับ ศูนย์ ผลลัพธ์สุดท้ายก็คือ ศูนย์..
เรื่องนี้ทำให้ผมนึกถึงบุคคลหนึ่งที่เป็นเจ้าพ่อหุ้น Turnaround ของโลก
Bruce Berkowitz เป็นผู้บริหารกองทุนชื่อ Fairholme เขาประสบความสำเร็จโดยใช้กลยุทธ์ Deep Value และ Contrarian ซื้อหุ้นสวนทางคนอื่น
เขาให้สัมภาษณ์ว่าเขาเป็น Balance Sheet Buyer ไม่ได้สนใจอนาคต สนใจแต่อดีต และปัจจุบัน ดังนั้นเขาจะชอบหุ้นที่กำลังมีผลงานย่ำแย่แต่มีสินทรัพย์ซ่อนอยู่ และเขาจะถือหุ้นไม่กี่ตัวในพอร์ต ตอนนี้กองทุนหมื่นล้านบาทของเขามีหุ้นแค่ 9 ตัว
เขาก่อตั้งกองทุน Fairholme เมื่อปี 1997 หรือเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ที่ผ่านมาเขาทำผลงานได้ดีมาตลอด ชื่อของเขาดังขึ้นมาเพราะได้เข้าไปซื้อหุ้น Bank of America และ AIG หลังจากเกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ และได้กำไรก้อนโต
แต่แล้ว วันที่แย่ๆก็มาถึง..
ปี 2011 กองทุนของเขาเคยมีทรัพย์สินมากถึง 700,000 ล้านบาท แต่ตอนนี้ปี 2017 ทรัพย์สินกองทุนเขาลดลงเหลือ 70,000 ล้านบาท หรือ สรุปง่ายๆว่าหายไป 90%
เขาเดินสะดุดอะไร? ทำไมทรัพย์สินหายไปมากมายขนาดนั้น
กระดูกชิ้นโตของเขาก็คือ บริษัท Sears ทำธุรกิจห้างสรรพสินค้าชื่อดังในอเมริกา แต่ตอนนี้บริษัทนี้กำลังขาดทุนอย่างหนัก เพราะ E-commerce ทำให้คนเดินห้างในอเมริกาน้อยลง
ซึ่งจริงๆแล้วเขาไม่น่าจะขาดทุนมากขนาดนี้ ถ้าเขาไม่ฝืนเพิ่มเงินซื้อเข้าไปเรื่อยๆ
ปี 2013 เขามีหุ้น Sears 11% ในพอร์ต
ปี 2014 เขามีหุ้น Sears 12% ในพอร์ต
ปี 2015 เขามีหุ้น Sears 24% ในพอร์ต
ปี 2016 เขามีหุ้น Sears 26% ในพอร์ต
และตอนนี้ เขามีหุ้น Sears มากถึง 32% ในพอร์ต
เรามาดูราคาหุ้น Sears กัน..
ปี 2013 ราคา $42.58
ปี 2014 ราคา $32.84
ปี 2015 ราคา $22.53
ปี 2016 ราคา $9.29
ตอนนี้ ราคา $7.64
นับจากปี 2013 จนถึงตอนนี้ หุ้น Sears ราคาลดลงไปทั้งหมด -82% ลงทุนไป 100 บาท จะเหลือ 18 บาท
และจากการซื้อเพิ่มไปเรื่อยๆ ตอนนี้กองทุนของเขาถือหุ้นเป็น 27% ของบริษัท Sears เรียกได้ว่าแทบจะเป็นเจ้าของบริษัทไปแล้ว
ผมก็ไม่รู้ว่าสุดท้ายแล้ว บริษัท Sears จะ turnaround กลับมาได้หรือไม่ ถ้าทำได้ คุณ Bruce ก็น่าจะได้รับกำไรก้อนโต และโด่งดังอีกครั้ง
แต่ไม่ว่าจะผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร ในหลายปีที่ผ่านมา สภาพจิตใจของคุณ Bruce คงบอบช้ำพอสมควรจากแรงกดดันแบบนี้
เรื่องของคุณ น. และคุณ Bruce น่าจะเป็นบทเรียนให้เราเป็นอย่างดีของคำว่า สู้ไม่ถอย กับ คำว่า ฝืนดันทุรัง
แต่เอาเข้าจริงๆแล้วพอเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับตัวเราเอง เราก็ไม่รู้หรอกว่าเป็นอย่างไหน เพราะมันมีแค่เส้นแบ่งบางๆกั้นอยู่ระหว่าง 2 คำนี้เท่านั้น
เราทุกคนก็น่าจะเคยเจอกับจุดที่เลือกไม่ถูกว่าจะ สู้ต่อดี หรือ ถอยดี?
เราก็คงต้องสู้ต่อไปจนกว่าเวลาผ่านไปแล้วเราจะเห็นภาพชัดขึ้นมาเอง
แต่สิ่งสำคัญกว่าก็คือ ถ้าเรารู้ตัวว่าฝืนแล้ว เราพร้อมที่จะลดอีโก้ และกล้าที่จะเดินถอยออกมาหรือไม่..
คนที่ถอยได้ก็น่าจะสามารถจำกัดความเสียหายได้
ส่วนคนที่ลดอีโก้ไม่ได้ ก็น่าจะเจอกับคำว่า หายนะ..
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.