วิกฤติแรงงาน ของแคนาดา

วิกฤติแรงงาน ของแคนาดา

18 ม.ค. 2019
วิกฤติแรงงาน ของแคนาดา / โดย ลงทุนแมน
ปัญหาวิกฤติแรงงานกำลังเป็นปัญหาในหลายประเทศ
และหนึ่งในนั้นคือ แคนาดา
ถึงขนาดที่ว่า มีป้ายประกาศโฆษณาขนาดใหญ่หน้า Silicon Valley ในประเทศสหรัฐอเมริกา
เพื่อให้คนไปสมัครงานในประเทศแคนาดาแทน
เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
ทุกวันนี้ สังคมผู้สูงอายุที่เกิดขึ้นกำลังส่งผลต่อสภาพสังคมในหลายประเทศ รวมถึงประเทศที่เราอาจนึกไม่ถึงอย่างแคนาดา
ในปี 2016 จำนวนประชากรของแคนาดาที่เป็นผู้สูงอายุเท่ากับ 16.9% ขณะที่จำนวนเด็กอายุต่ำกว่า 14 ปี เท่ากับ 14% ของประชากรทั้งหมด ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์โครงสร้างประชากรที่สัดส่วนผู้สูงอายุมีมากกว่าเด็ก
เนื่องจากประชากรที่เกิดในยุค Baby Boomers ปัจจุบันเขาเหล่านั้นมีอายุขัยที่มากขึ้น และผู้หญิงแคนาดามีลูกน้อยลง
ปี 1960 อายุขัยเฉลี่ยของประชากรแคนาดาเท่ากับ 70 ปี
แต่ในปี 2015 อายุขัยเฉลี่ยของประชากรแคนาดาเท่ากับ 82 ปี
ทำให้แคนาดาเป็นประเทศที่ประชากรมีอายุขัยเฉลี่ยสูงเป็นลำดับที่ 12 ของโลก
นอกจากนี้ ผู้หญิงแคนาดาแต่ละคนก็มีลูกเฉลี่ยลดลงอย่างต่อเนื่อง
ในปี 1960 ผู้หญิงแคนาดามีลูกเฉลี่ย 3.8 คน
แต่ในปี 2015 ผู้หญิงแคนาดามีลูกเฉลี่ย 1.6 คน
ขณะที่หน่วยงานรัฐบาลของแคนาดาคาดว่า ในปี 2031 ประมาณ 25% ของประชากร จะเป็นผู้สูงอายุ
นั่นหมายความว่า แคนาดาจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่ (Super-aged society)
ขณะที่ในปี 2035 ผู้ทำงานอีกกว่า 5 ล้านคนจะเกษียณอายุ ทำให้สัดส่วนวัยทำงานต่อผู้สูงอายุจะลดลงไปอีก
ปี 1971 สัดส่วนวัยทำงาน 6.6 คน ต่อผู้สูงอายุ 1 คน
ปี 2012 สัดส่วนวัยทำงาน 4.2 คน ต่อผู้สูงอายุ 1 คน
และคาดว่าในปี 2036 สัดส่วนวัยทำงานจะอยู่ที่ 2 คน ต่อผู้สูงอายุ 1 คน
แล้วเรื่องนี้น่ากลัวอย่างไร?
การขาดแคลนแรงงานจะส่งผลให้ตลาดแรงงานแข่งขันกันสูง
ทำให้ค่าแรงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และส่งผลต่อต้นทุนสินค้าที่เพิ่มขึ้น
และในที่สุดอาจทำให้ค่าครองชีพสูงขึ้น
ในขณะที่จำนวนผู้สูงอายุที่มากขึ้น จะทำให้ภาวะการออมและการลงทุนลดลง
เพราะกลุ่มผู้สูงอายุที่เกษียณแล้วนั้น จะใช้จ่ายจากเงินออมสะสม เนื่องจากไม่มีรายได้แล้ว
ในด้านของรัฐบาล
เมื่อแรงงานในระบบเศรษฐกิจมีน้อย จะส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจและรายรับที่เป็นภาษีของรัฐบาลลดลง ขณะที่รายจ่ายในด้านสวัสดิการที่ต้องให้แก่ผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้น
พอเรื่องเป็นแบบนี้ รัฐบาลของแคนาดาจึงอยู่เฉยไม่ได้ ทำให้ในปี 2017 แคนาดาประกาศว่าจะเปิดรับผู้อพยพต่างชาติอีกเกือบ 1 ล้านคนในช่วงระหว่างปี 2018 - 2020 เพื่อสนับสนุนภาคธุรกิจและแรงงานในประเทศ
คล้ายกับญี่ปุ่นที่ตอนนี้หันมาเปิดรับแรงงานต่างชาติมากขึ้น ซึ่งถือเป็นหนึ่งในทางออกที่จะแก้ปัญหาเรื่องสังคมผู้สูงอายุ
ต้องยอมรับว่า แรงงานต่างชาตินั้นเป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ อย่างใน Silicon Valley ซึ่งเป็นที่ตั้งของบริษัทชื่อดังระดับโลกหลายแห่ง เช่น Google, Facebook, Apple, Yahoo ในปี 2016 นั้นสร้างรายได้กว่า 7.8 ล้านล้านบาท ซึ่งมากกว่า GDP ของหลายประเทศ
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจว่า
ใน Silicon Valley สหรัฐอเมริกามีแรงงานกว่า 1.6 ล้านคน
2 ใน 3 ของคนเหล่านี้เป็นแรงงานต่างชาติ..
----------------------
ญี่ปุ่นก็กำลังประสบปัญหาด้านประชากร อ่านต่อได้ที่
https://www.blockdit.com/articles/5c21ef4002ced504f3435624
ติดตามเรื่องราวบริษัทชั้นนำของโลก ได้ที่เพจลงทุนแมน ในแอปพลิเคชัน blockdit โหลดฟรี blockdit.com
----------------------
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.