เงินบาทกำลังแข็งค่า ที่สุดในโลก

เงินบาทกำลังแข็งค่า ที่สุดในโลก

25 ม.ค. 2019
เงินบาทกำลังแข็งค่า ที่สุดในโลก / โดย ลงทุนแมน
ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา
เงินบาทกำลังแข็งค่ากว่า 5%
ซึ่งมากที่สุดในโลกเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่น
แล้วสิ่งนี้ส่งผลกระทบอะไรกับเราบ้าง
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟังแบบง่ายๆ
ก่อนอื่นเรามาดูกันว่า ทำไมเงินบาทถึงแข็งค่าขึ้นในช่วงที่ผ่านมา
ถ้าพูดให้เข้าใจง่ายๆ
เงินบาทแข็งค่าขึ้น ก็เพราะมีเงินจากต่างประเทศไหลเข้าสู่ประเทศไทยมากขึ้นกว่าไหลออก
ปัจจัยที่ส่งผลต่อการแข็งค่าหรืออ่อนค่าของเงินนั้นมีหลายอย่าง เช่น
1.ส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยในประเทศ และต่างประเทศ
2.การอ่อนค่าของสกุลเงินหลัก
3.การเติบโตของเศรษฐกิจ
4.การเติบโตของนักท่องเที่ยว
5.เสถียรภาพทางการเมือง
วิธีหนึ่งที่เรามักจะใช้ดูการเปลี่ยนแปลงของค่าเงิน คือ การเปลี่ยนแปลงของ “ดุลบัญชีเดินสะพัด”
ดุลบัญชีเดินสะพัด คือ รายได้สุทธิที่เป็นเงินตราต่างประเทศ ที่ได้จากการส่งออกสินค้า และบริการ
ช่วงปี 2536 - 2540 ก่อนที่จะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจนั้น ดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศไทยขาดดุลต่อเนื่องประมาณ 6 - 8% ต่อ GDP
จนสุดท้ายนำไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจ และค่าเงินบาทอ่อนค่าลงไปต่ำสุดถึง 56 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ
การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่องเป็นสัญญาณของความเสี่ยง ที่ทำให้ค่าเงินของประเทศนั้นอ่อนค่าลงในที่สุด
แต่ในทางตรงข้าม ถ้าดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลต่อเนื่อง ก็จะแปลว่ามีเงินจากต่างประเทศไหลเข้ามาในประเทศ และทำให้ค่าเงินของประเทศนั้นแข็งค่าในที่สุด
ดุลบัญชีเดินสะพัด ประกอบด้วย
1.ดุลการค้า
2.ดุลบริการ
ดุลการค้า
ในช่วงระหว่างปี 2548 - 2560 ดุลการค้าของประเทศไทยเกินดุลมาตลอด โดยเฉพาะในปี 2559 ที่ดุลการค้าเกินดุลกว่า 1.12 ล้านล้านบาท
สำหรับดุลบริการ
นักท่องเที่ยวเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ไทยได้ดุลบริการในปี 2556 เพิ่มขึ้นจาก 363,000 ล้านบาท ไปสู่ 923,000 ล้านบาท ในปี 2560
ปี 2556 ไทยมีท่องเที่ยวต่างชาติ 26 ล้านคน
ปี 2560 ไทยมีท่องเที่ยวต่างชาติ 35 ล้านคน
พอเรื่องเป็นแบบนี้ดุลบัญชีเดินสะพัดก็เพิ่มขึ้นเรื่อยมา
ปี 2557 ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 487,000 ล้านบาท
ปี 2560 ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 1,606,000 ล้านบาท
จึงไม่แปลกที่ค่าเงินบาทในประเทศไทยมีทิศทางแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง
โดยต้นปี 2562 ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาอยู่ที่ 31.81 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
เทียบกับช่วงปี 2558 ที่ค่าเงินบาทอยู่ที่ 34.25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
แล้วการแข็งค่าของเงินบาทกระทบอะไรกับเรา?
เพื่อให้เห็นภาพง่ายจะยกตัวอย่างการส่งออกปากกา
เมื่อก่อน ถ้าเราส่งออกปากกาไปขายในราคา 1 ดอลลาร์สหรัฐ
เมื่อนำมาแลกเป็นเงินบาทจะได้เงิน 34 บาท
แต่วันนี้รายได้จากการส่งออกปากกาไปขายจะเหลือเพียง 32 บาท
หมายความว่า รายได้ของเราจะหายไปประมาณ 2 บาท
ดังนั้นเมื่อเวลาค่าเงินบาทแข็ง จะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออก
การส่งออกนับเป็นเครื่องจักรสำคัญต่อการเติบโตของ GDP
ในปี 2560 มูลค่าการส่งออกของประเทศต่อ GDP อยู่ที่ประมาณ 53%
ดังนั้น ถ้าการส่งออกเริ่มมีปัญหาสิ่งนี้จะส่งผลต่อการเติบโตของ GDP ของประเทศ
แต่เมื่อเหรียญมี 2 ด้าน การแข็งค่าของเงินบาทอีกด้านหนึ่ง ก็มีผลดีเช่นเดียวกัน
เช่นก่อนหน้านี้ถ้าเราเป็นหนี้อยู่ 1 ดอลลาร์สหรัฐ เราต้องใช้เงิน 34 บาท
แต่วันนี้เราจะใช้เงินเพียง 32 บาท
หรือแม้แต่เวลาเราไปเที่ยวต่างประเทศ ซื้อสินค้าจากต่างประเทศ ในช่วงที่ค่าเงินบาทแข็งค่านั้น จะทำให้เรามีกำลังซื้อที่มากขึ้น
ดังนั้น การแข็งค่าของเงินบาทในปัจจุบัน
จึงมีทั้งผลบวกและลบ ต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง ขึ้นอยู่กับว่าจะมองจากมุมไหน
แต่ไม่ว่าจะอ่อน หรือ จะแข็ง
สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ เสถียรภาพของค่าเงิน
ถ้าค่าเงินผันผวน อ่อนเร็วเกินไป หรือ แข็งเร็วเกินไป คาดการณ์ไม่ได้
ก็จะทำให้คนทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับต่างประเทศ ทำงานได้ลำบากขึ้น
จากตอนแรกที่เราคิดว่าจะได้กำไร แต่ผลปรากฏว่าเมื่อเวลาผ่านไปเราอาจจะขาดทุนเพราะค่าเงิน
จะทำอย่างไรเพื่อรักษาเสถียรภาพของค่าเงิน จึงเป็นคำถามสำคัญที่ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องตอบให้ได้ในเวลานี้..
----------------------
อ่านเรื่องค่าเงินจีนอ่อนสุดในรอบ 10 ปี ได้ที่ https://www.blockdit.com/articles/5bdaf4aa04fae2691222ec67
โหลดแอป blockdit ได้ที่ blockdit.com
----------------------
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.