ทำไมประเทศไทย ยังไม่มี UNICORN

ทำไมประเทศไทย ยังไม่มี UNICORN

25 ก.พ. 2019
ทำไมประเทศไทย ยังไม่มี UNICORN / โดย ลงทุนแมน
UNICORN คือ สตาร์ตอัปที่ประสบความสำเร็จ จนมีมูลค่าเกิน 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ
ประเทศเพื่อนบ้านของเรา
ไม่ว่าจะเป็น สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย มี UNICORN กันหมดแล้ว
เหลือแต่ประเทศไทย
แล้วทำไมประเทศไทย ยังไม่มี UNICORN
วงการสตาร์ตอัปของประเทศไทย เติบโตอย่างไรในช่วงที่ผ่านมา
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
ปัจจุบัน..
เราอ่านข่าวใน Facebook
เราฟังเพลงใน Spotify
เราดูหนังใน Netflix
ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นแพลตฟอร์มต่างประเทศที่ เริ่มต้นจากแนวคิดของสตาร์ตอัป
แล้วตอนนี้ วงการสตาร์ตอัปไทยจะเติบโตเป็นอย่างไร?
จากข้อมูลที่เกิดขึ้น
จริงๆ แล้ววงการสตาร์ตอัปไทยกำลังเติบโต
ทั้งในมุมของจำนวนผู้ก่อตั้ง และรวมไปถึงนักลงทุน
จำนวนสตาร์ตอัปที่ได้รับการระดมทุน
ปี 2012 จำนวน 3 บริษัท จากผู้ระดมทุน 1 ราย
ปี 2015 จำนวน 60 บริษัท จากผู้ระดมทุน 56 ราย
ปี 2017 จำนวน 90 บริษัท จากผู้ระดมทุน 96 ราย
จากตัวเลขดังกล่าวเราก็อาจจะสรุปได้ว่า สตาร์ตอัปประเทศไทยอยู่ในแนวโน้มที่ดี
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ก็มีกับดักหลายอย่างซ่อนอยู่
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจำนวนประชากรในไทย
จำนวนประชากรในแหล่งสตาร์ตอัประดับโลก
ประเทศจีน 1,386 ล้านคน
ประเทศสหรัฐอเมริกา 326 ล้านคน
ประเทศอินโดนีเซีย 264 ล้านคน
ในขณะที่ ประเทศไทย มี 69 ล้านคน
สตาร์ตอัปในประเทศที่มีฐานผู้ใช้งานมากๆ ย่อมมีโอกาสสเกลธุรกิจได้ง่ายกว่า
อีกปัญหาคือเรื่องของ ภาษา..
สิงคโปร์ และมาเลเซีย มีประชากรน้อยกว่าประเทศไทย
แต่ด้วยธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยภาษาอังกฤษทั้งหมด
ก็อาจเป็นส่วนที่ช่วยให้ขยับขยายไปยังประเทศอื่นๆ ได้ดี เช่นกัน
ตามมาด้วยอีกปัญหาที่ถือเป็นกุญแจสำคัญสำหรับทุกธุรกิจก็คือ การบริหารจัดการที่ดี..
รู้หรือไม่ว่า..

อายุเฉลี่ยผู้ก่อตั้งสตาร์ตอัปในประเทศไทยคือ 32 ปี
แบ่งเป็นชาย 83% หญิง 17% และมีผู้ร่วมก่อตั้งเฉลี่ย 3 คนต่อกิจการ
แล้วเมื่อธุรกิจต้องขยายตัวด้วยอัตราเร่งที่ทำให้นักลงทุนพอใจ
จากธุรกิจที่มีพนักงาน 3 คน ไปเป็น 10 คน
และต้องกลายไปเป็น 60 คนภายใน 1 ปี
แปลว่า พนักงานในบริษัทจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 20 เท่า
เมื่อคนมากขึ้น
ขอบเขตการดูแลก็มากขึ้น
การทำบัญชีมีมากขึ้น
แล้วถ้าต้องขยายธุรกิจไปต่างประเทศอีก เราจะจัดการอย่างไร?
เพราะบริษัทสตาร์ตอัปส่วนใหญ่มีจุดเด่นอยู่ที่แนวคิดใหม่ๆ และความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน
แต่อาจไม่ใช่การบริหารจัดการ.. ซึ่งก็มีความสำคัญไม่แพ้ไอเดียทางธุรกิจเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม องค์กรในประเทศไทยเริ่มแสดงสัญญาณความเชื่อมั่นในธุรกิจสตาร์ตอัปมากขึ้น ทั้งในแง่ของการเป็นผู้ร่วมระดมทุน และยังรวมไปถึงการก่อตั้งองค์กร Accelerator ขึ้นมา..
กลุ่มองค์กรประเภทนี้จะมีทีมงานผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจสตาร์ตอัปคอยให้คำปรึกษาโดยเฉพาะ ตั้งแต่ด้านเทคโนโลยี ไปจนถึง การบริหารจัดการเงินทุน
จำนวน Accelerator ในประเทศไทย
ปี 2012 จำนวน 1 ราย
ปี 2015 จำนวน 5 ราย
ปี 2017 จำนวน 8 ราย
ซึ่ง Accelerator ของไทยในปัจจุบันจะมาจากองค์กรชั้นนำในประเทศจากทุกกลุ่มอุตสาหกรรม
ไม่ว่าจะเป็น SCB, Allianz Ayudhya และ dtac เป็นต้น
ถึงแม้ว่าผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ยังเกิดขึ้นมาน้อย เมื่อเทียบกับการเพิ่มขึ้นของบริษัทสตาร์ตอัป
แต่ก็น่าจะเรียกได้ว่า Ecosystem ของวงการสตาร์ตอัปประเทศไทยกำลังเติบโตขึ้นในทุกๆ ด้าน
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
ตั้งแต่ปี 2011 จนถึงไตรมาสที่ 2 ปี 2018 ธุรกิจสตาร์ตอัปในประเทศไทยได้รับการระดมทุนมากถึง 279 ครั้ง และคิดเป็นมูลค่ากว่า 13,000 ล้านบาท..
จากการระดมทุนทั้งหมดนี้เป็นของ dtac Accelerate 45 ครั้ง ซึ่งมากที่สุดในประเทศไทย
การเติบโตทั้งหมดนี้ถือเป็นแนวโน้มที่น่าสนใจ
ไม่แน่ว่าในอนาคต
เราอาจมีแพลตฟอร์มมาแทนที่ Facebook
มีแอปฟังเพลงมาแทน Spotify
มีแอปดูหนังมาแทน Netflix
โดยทั้งหมดนี้เป็น UNICORN สัญชาติไทย ก็เป็นได้..
----------------------
ติดตามเรื่องน่าสนใจ จากผู้เขียนเก่งๆ หลายท่าน ในแอป blockdit ได้ที่ blockdit.com
สั่งหนังสือลงทุนแมน 8.0 ได้ที่
Lazada https://s.lazada.co.th/s.RpFk
Shopee http://bit.ly/2HVWiqj
----------------------
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.