Post-it กระดาษโน้ต ที่เกิดจากความผิดพลาด

Post-it กระดาษโน้ต ที่เกิดจากความผิดพลาด

5 มี.ค. 2019
Post-it กระดาษโน้ต ที่เกิดจากความผิดพลาด / โดย ลงทุนแมน

ความล้มเหลว ไม่ใช่จุดจบ แต่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่ยิ่งใหญ่
คำพูดนี้อาจใช้ได้ดีกับกรณีของ Post-it กระดาษโน้ตติดกาว ที่หลายคนคงเคยใช้งาน

ทราบหรือไม่ว่า สินค้าชนิดนี้ เกิดขึ้นจากการทดลองที่ผิดพลาด แต่กลับกลายเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์การบริหารจัดการชีวิต และการทำงานได้ แม้จะเป็นยุคสมัยที่มีเทคโนโลยีเกิดขึ้นมาใหม่มากมาย

เรื่องราวนี้เป็นอย่างไร ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง

เจ้าของแบรนด์ Post-it คือบริษัท 3M ผู้ผลิตและขายผลิตภัณฑ์ต่างๆ มากกว่า 55,000 รายการ

เมื่อปี 1968 นักวิจัยของบริษัทชื่อ สเปนเซอร์ ซิลเวอร์ ถูกมอบหมายให้ทดลอง เพื่อให้ได้กาวที่มีความเหนียวแน่นเป็นพิเศษ สำหรับใช้ในการสร้างเครื่องบิน

ผลปรากฏว่า เขากลับได้กาวที่ไม่มีความเหนียวแทน ซึ่งมีคุณสมบัติพิเศษ คือ สามารถหลุดลอกได้ง่าย โดยไม่มีร่องรอย และนำกลับมาใช้ใหม่ได้
อย่างไรก็ตาม สิ่งนี้ถูกพับเก็บขึ้นหิ้งไว้ เพราะไม่มีใครรู้ว่าจะเอาไปใช้ทำอะไร

อยู่มาวันหนึ่ง อาร์เธอร์ ฟราย นักวิจัยอีกคน ได้เจอปัญหากระดาษคั่นหน้าหนังสือเพลง ปลิวหลุดทุกครั้งที่เปลี่ยนหน้า ระหว่างร้องเพลงในโบสถ์

สิ่งที่ฟรายต้องการคือ อะไรที่มายึดกระดาษติดกับหนังสือ และลอกออกไปใช้ใหม่ โดยไม่ทำให้หนังสือเสียหาย ทำให้เขานึกถึงกาวไม่เหนียวของเพื่อนขึ้นมาทันที

ทั้งสองได้หารือกัน และพบว่าไอเดียนี้ มีศักยภาพกลายเป็นนวัตกรรมของช่องทางใหม่ในการติดต่อสื่อสารได้เลย โดยเฉพาะในที่ทำงาน

ในปี 1977 บริษัท 3M จึงได้เริ่มวางขายกระดาษโน้ตติดกาว ตอนแรกใช้ชื่อว่า Press 'n Peel แต่ยังขายไม่ค่อยออก เพราะคนยังไม่เข้าใจในตัวสินค้า

ภายหลังจึงได้ใช้กลยุทธ์ใหม่ เปลี่ยนชื่อสินค้าเป็น “Post-it” ให้ตรงกับลักษณะการใช้งาน และนำไปแจกให้พนักงานบริษัทต่างๆ ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมาย ได้ทดลองใช้

ปรากฏว่า ผลออกมาดีมาก เพราะแค่การเขียนไม่กี่คำลงกระดาษ ทำให้การติดต่อสื่อสาร การจัดการเอกสาร และช่วยเตือนความจำ ในที่ทำงาน มีประสิทธิภาพสูงขึ้น
โดย 94% ของผู้ที่ได้รับแจก กลับมาซื้อของจริงไปใช้ใหม่

นอกจากนี้ กระดาษโน้ตที่ติดไปกับเอกสาร ยังเป็นการโฆษณาสินค้าไปในตัวอีกด้วย ทำให้ Post-it เป็นที่นิยมอย่างรวดเร็ว

ปัจจุบัน Post-it วางขายในกว่า 150 ประเทศทั่วโลก มีการพัฒนาขนาดและรูปแบบเพิ่มขึ้นกว่า 4,000 แบบ

และแม้ในปี 1997 สิทธิบัตรกระดาษโน้ตติดกาวของ 3M จะหมดอายุลง แต่ไม่ว่าใครจะผลิตสินค้าชนิดนี้ในชื่ออะไรก็ตามเข้ามาแข่ง คนก็ยังเรียกมันว่า Post-it อยู่ดี

แล้วแบรนด์ Post-it มีรายได้เท่าไร?

Post-it อยู่ในกลุ่มธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภคและอุปกรณ์สำนักงาน ของ 3M ซึ่งมีแบรนด์ชื่อดังอื่นรวมอยู่ด้วย เช่น สก๊อตช์เทป, สก๊อตช์-ไบรต์, หน้ากากอนามัยเน็กซ์แคร์ ฯลฯ

ปัจจุบันบริษัท 3M มีมูลค่าตลาดราว 3.8 ล้านล้านบาท และมีผลประกอบการดังนี้
ปี 2016 รายได้ 944,000 ล้านบาท มาจากกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค 141,000 ล้านบาท
ปี 2017 รายได้ 990,000 ล้านบาท มาจากกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค 144,000 ล้านบาท
โดยยอดขายของ Post-it อยู่ที่ราว 31,000 ล้านบาทต่อปี หรือเกือบ 1 ใน 5 ของกลุ่มธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค

ในสมัยก่อน การจดบันทึกจะทำลงในสมุดที่ต้องมาคอยเปิดดู หรือกระดาษที่หายง่าย ทำให้การบริหารจัดการชีวิตค่อนข้างยุ่งเหยิง ท่ามกลางข้อมูลข่าวสารที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

ด้วยเหตุนี้ Post-it จึงถือเป็นนวัตกรรมที่ถูกใจคนมาก เพราะเป็นเครื่องมือสื่อสารที่ใช้งานได้ง่ายและรวดเร็ว สามารถนำไปแปะที่ใดก็ได้

แต่ในปัจจุบัน เทคโนโลยีทำให้คนสามารถอ่านข้อมูลผ่านหน้าจอได้ จนความสำคัญของสินค้าที่ทำจากกระดาษ เริ่มถูกลดบทบาทลง เช่น หนังสือพิมพ์ หรือ นิตยสารต่างๆ

อย่างไรก็ตาม ยอดขาย Post-it ของ 3M ก็ยังไม่ได้รับผลกระทบ

เพราะบริษัทได้ปรับกลยุทธ์ของ Post-it จากสิ่งที่ใช้จดบันทึก ให้กลายเป็นเครื่องมือในการระดมความคิดแทน

การใช้ Post-it มีจุดแข็ง คือ ในการประชุมทำงานที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลอยู่เรื่อยๆ การใช้ Post-it ทำให้ปรับข้อความได้สะดวกกว่า เพียงวางแปะไว้ หรือลอกออก โดยจะจัดรูปแบบต่อยอดอย่างไรก็ได้ ไม่จำกัดแค่ในหน้าจอคอมพิวเตอร์

นอกจากนี้ แบรนด์ยังได้พยายามปรับตัวเข้าหาเทคโนโลยี โดยในปี 2012 ได้ร่วมมือกับแอปจดบันทึกชื่อดังอย่าง Evernote ให้ผู้ใช้สามารถถ่ายรูป Post-it ลงออนไลน์ แล้วแอปจะแปลงลายมือให้เป็น Text เพื่อนำไปตกแต่งต่อในโทรศัพท์มือถือ หรือคอมพิวเตอร์ได้เลย

ดังนั้น เมื่อทีมงาน คิดไอเดียอะไรได้ ก็สามารถเชื่อมโยงลงออนไลน์ได้อย่างไร้รอยต่อ

เรื่องราวของ Post-it สะท้อนให้เห็นว่า

แม้สิ่งที่เกิดขึ้นมาจะผิดพลาด แต่ไม่ได้หมายความว่า สิ่งนั้นจะไม่มีคุณค่า..

ทุกวันนี้ มีไอเดียที่ดีๆ มากมาย ที่ถูกนำขึ้นไปวางไว้บนหิ้ง เพราะยังไม่สามารถนำไปต่อยอดได้

การลองเปลี่ยนกระบวนการคิด มองในมุมที่กว้างขึ้น อาจช่วยสร้างโอกาส ปรับของที่ถูกวางขึ้นหิ้ง ให้กลายมาเป็นของขึ้นห้างได้ ดังในกรณีของ Post-it

“ความล้มเหลว ไม่ได้เท่ากับศูนย์
แต่การล้มเลิกความตั้งใจ
คือศูนย์ที่แท้จริง”
----------------------
นอกจาก Post-it แล้ว รถยนต์ฟอร์ดก็เริ่มต้นจากความล้มเหลวเช่นกัน อ่านเรื่องนี้ต่อได้ที่
https://www.blockdit.com/articles/5b30b179076e65512a687382
ติดตามเรื่องหลากหลาย จากผู้เขียนเก่งๆ หลายท่าน ในแอป blockdit โหลดได้ที่ http://www.blockdit.com
Tag: Post-it
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.