สปุตนิกโมเมนต์ ของประเทศจีน

สปุตนิกโมเมนต์ ของประเทศจีน

21 พ.ค. 2019
สปุตนิกโมเมนต์ ของประเทศจีน / โดย ลงทุนแมน
สปุตนิกโมเมนต์ คืออะไร?
ปี 1957 เป็นปีที่รัสเซียสามารถส่ง ‘สปุตนิก’
ดาวเทียมดวงแรกขึ้นสู่วงโคจรโลกได้สำเร็จเป็นประเทศแรกของโลก
ซึ่งในตอนนั้นคู่แข่งคนสำคัญของรัสเซียก็คือ สหรัฐอเมริกา
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทหาร ความมั่นคง และอวกาศ
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้กลับเป็นจุดที่ทำให้สหรัฐอเมริกาก่อตั้ง NASA
เพื่อทำการศึกษา และวิจัยด้านอวกาศโดยเฉพาะ
และในเวลา 12 ปีต่อมา สหรัฐอเมริกาก็สามารถส่งนักบินอวกาศไปเหยียบดวงจันทร์สำเร็จก่อนหน้ารัสเซีย
คำว่า สปุตนิกโมเมนต์ จึงถูกนำมาใช้เรียกช่วงเวลาที่เรารู้สึกว่ากำลังตามเทคโนโลยีของคนอื่นไม่ทัน
แล้วอะไรคือ สปุตนิกโมเมนต์ ของประเทศจีน?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
โกะ เป็นเกมหมากกระดานชนิดหนึ่งซึ่งต้องอาศัยกลยุทธ์ในการเล่นที่ซับซ้อน
มีต้นกำเนิดจากประเทศจีนตั้งแต่เมื่อประมาณ 3,000 - 4,000 ปีก่อน
ในอดีต โกะ ถูกจัดอันดับให้เป็น 1 ใน 4 ศิลปะประจำชาติของจีน ซึ่งประกอบด้วยศิลปะการวาดภาพ ดนตรี โคลงกลอน และ โกะ
โกะ จึงถือเป็นความภาคภูมิใจด้านอารยธรรมของจีนอย่างหนึ่ง
cr.mgronline
หากดูสถิติการแข่งขันโกะระดับนานาชาติย้อนหลังจะพบว่า
ผู้ที่ครองตำแหน่งแชมป์โลกเกินกว่าครึ่งหนึ่งเป็นคนจีน
Ke Jie ก็เป็นหนึ่งในนั้น
เขาเป็นเด็กหนุ่มชาวจีนที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นผู้เล่นโกะอันดับ 1 ของโลกตั้งแต่ปี 2014
อย่างไรก็ตามในปี 2017 Ke Jie ได้พ่ายแพ้ให้กับผู้ท้าชิงรายหนึ่งอย่างขาดลอย
ที่น่าสนใจคือ ผู้ท้าชิงรายนี้ไม่ใช่มนุษย์
แต่เป็น AlphaGo หุ่นยนต์ AI (Artificial Intelligence) ของบริษัท DeepMind
ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ Alphabet ผู้เป็นเจ้าของ Google
แน่นอนว่าการพ่ายแพ้ในครั้งนี้สร้างความเสียใจให้กับ Ke Jie เป็นอย่างมาก
และผู้ที่เจ็บใจไม่แพ้กันก็คือ คนจีนทั้งประเทศ
เพราะอย่างที่เรารู้กันว่าจีนกับสหรัฐอเมริกากำลังแข่งขันกันอยู่ในหลายๆ ด้าน
และเมื่อหุ่นยนต์ที่พัฒนาโดยสหรัฐอเมริกาเอาชนะคนจีน
ในเกมที่แสดงถึงความภาคภูมิใจมาเป็นระยะเวลาหลายพันปี
จึงเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ยาก..
อย่างไรก็ตามเรื่องนี้กลับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของประเทศจีน
ในปี 2018
จำนวนประชากรของประเทศจีน 1,415 ล้านคน
จำนวนประชากรโลก 7,633 ล้านคน
แสดงว่าจำนวนประชากรจีน คิดเป็นประมาณ 18% ของประชากรโลก
ดังนั้นถ้าคนจีนทั้งหมดพร้อมใจกันจะทำอะไร
แน่นอนว่าคงจะทำให้วงการนั้นสั่นสะเทือนไม่มากก็น้อย
ภายหลังเหตุการณ์ความพ่ายแพ้ครั้งประวัติศาสตร์ของ Ke Jie
cr.gettyimages
เหล่านักลงทุน ผู้ประกอบการ ประชาชน รวมถึงรัฐบาลของจีนต่างเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรม AI
การศึกษาวิชาหรือสาขาที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี AI ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว
ด้านการลงทุนก็เช่นกัน
โดยในปี 2017 ประเทศจีนก็กลายเป็นผู้นำด้านการลงทุนในสตาร์ตอัป AI ทั่วโลกเป็นครั้งแรก ด้วยเงินลงทุนที่คิดเป็นสัดส่วน 48% ของเงินลงทุนจากทั่วโลก
แซงหน้าอดีตผู้นำอย่างสหรัฐอเมริกาที่เงินลงทุนคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 38%
สำหรับภาครัฐเองก็มีการกำหนดเป้าหมายการพัฒนาประเทศด้าน AI อย่างชัดเจน และ ออกแผน “Next Generation Artificial Intelligence Development Plan” ในปีเดียวกัน
โดยตั้งเป้าหมายเอาไว้ในอนาคตทุกๆ 5 ปี
ปี 2020 พัฒนาอุตสาหกรรม AI จีนให้ก้าวทันประเทศผู้นำอย่างสหรัฐอเมริกา
ปี 2025 นำเทคโนโลยี AI มาใช้ผลักดันการปฏิรูปเศรษฐกิจ
ปี 2030 ก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางนวัตกรรม AI ของโลก
แล้วตอนนี้อุตสาหกรรม AI ของประเทศจีนเป็นอย่างไร?
ในปี 2018 อุตสาหกรรม AI ของประเทศจีนเติบโตขึ้น 67% เมื่อเทียบกับปี 2017
นอกจากนั้นยังมีการจดสิทธิบัตร และงานวิจัยที่เกี่ยวข้องเพิ่มขึ้นมาก
cr.chinadaily
แม้ว่าปัจจุบันจีนอาจยังไม่สามารถแซงหน้าสหรัฐอเมริกาได้
เนื่องจากสหรัฐอเมริกายังเป็นผู้นำเทคโนโลยีด้านการวิเคราะห์ และประมวลผลอยู่
แต่อย่าลืมว่าอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ใช้ในการพัฒนา AI ก็คือ “ข้อมูล”
และเรื่องนี้ก็เป็นข้อได้เปรียบของประเทศจีน
อย่างแรกคือ ประเทศจีนเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก รวมทั้งข้อมูลทุกอย่างของคนจีนถูกเก็บแบบออนไลน์โดยสมบูรณ์แบบ
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ คนจีนทุกคนจ่ายเงินออนไลน์เรียบร้อยแล้ว เทียบกับญี่ปุ่นส่วนใหญ่ยังนั่งนับเหรียญกันอยู่เลย
และที่สำคัญคือกฎเกณฑ์เรื่องข้อมูลส่วนบุคคลไม่รัดกุมเท่าประเทศฝั่งตะวันตก
ดังนั้นประเทศจีนจะมีข้อมูลมหาศาลมาให้ประมวลผล มากกว่าประเทศอื่นของโลกนี้
ก็คงต้องติดตามกันต่อไปว่าสุดท้ายแล้วระหว่างจีน กับสหรัฐอเมริกา ใครจะสามารถครองตำแหน่งผู้นำของวงการ AI ได้สำเร็จ
แต่อย่างน้อย สปุตนิกโมเมนต์ ก็ได้เกิดกับประเทศจีนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ไม่แน่ว่าจีนจะกลับมาชนะ AlphaGo ในอนาคต
คราวนี้คงไม่ได้ชนะด้วยคน แต่เป็นการชนะด้วย AI จีน นั่นเอง..
----------------------
อ่านลงทุนแมนสนุกขึ้น
อ่านในแอป blockdit
โหลดที่ http://www.blockdit.com
----------------------
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.