สรุปเรื่องแปลกๆ ของการประมูลที่ สุวรรณภูมิ

สรุปเรื่องแปลกๆ ของการประมูลที่ สุวรรณภูมิ

24 พ.ค. 2019
สรุปเรื่องแปลกๆ ของการประมูลที่ สุวรรณภูมิ / โดย ลงทุนแมน
ช่วงนี้การประมูลดิวตี้ฟรี กำลังมีเรื่องราวที่น่าสนใจ
เพราะทุกคนรู้ว่าเรื่องนี้มีผลประโยชน์มหาศาลซ่อนอยู่
แล้วเรื่องราวล่าสุดเป็นอย่างไร
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจกันก่อนว่า
การประมูลในครั้งนี้ มี 2 ประเภท คือ
1. การประมูลสิทธิในการขายสินค้าปลอดภาษี หรือ ดิวตี้ฟรี
2. สิทธิในบริหารร้านค้าในอาคารผู้โดยสาร
ในประเภทแรก ดิวตี้ฟรี มีผู้เข้าซื้อซองประมูลทั้งหมด 5 ราย
นั่นก็คือ
1. คิงเพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี
2. บางกอกแอร์เวย์ส ร่วมกับ ล็อตเต้ดิวตี้ฟรีของเกาหลีใต้
3. กิจการร่วมค้า ROH ที่มีประสบการณ์ดิวตี้ฟรีในประเทศอังกฤษ
4. บริษัทสรรพสินค้าเซ็นทรัล และ บริษัท ดีเอฟเอส เวนเจอร์ ผู้ประกอบกิจการดิวตี้ฟรีในสนามบินสิงคโปร์
5. บมจ. ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล
เรื่องนี้ในตอนแรกก็ดูน่าตื่นเต้น เพราะมีผู้เข้าร่วมแข่งขันประมูลมากมาย
แต่เรื่องที่น่าแปลกใจก็คือ พอเวลาผ่านไป กลับมีผู้ถอนตัว 2 ราย
นั่นก็คือ กลุ่มเซ็นทรัล และ ไมเนอร์
ทำให้ตอนนี้เหลือผู้ประมูลอยู่ 3 ราย
ส่วนในประเภทที่ 2 คือ สิทธิในการบริหารร้านค้าในอาคารผู้โดยสาร
มีผู้เข้าซื้อซองประมูลทั้งหมด 4 ราย คือ
1. บมจ. เซ็นทรัลพัฒนา
2. คิงเพาเวอร์ สุวรรณภูมิ
3. บมจ. ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล
4. เดอะมอลล์ กรุ๊ป
ผลปรากฏว่า เดอะมอลล์ กรุ๊ป ถอนตัว
ส่วน บมจ. ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ไม่ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติ ด้วยเหตุผลแปลกๆ คือ
บมจ. ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ไม่มีประสบการณ์ด้านนี้ คนที่มีประสบการณ์ด้านนี้คือ บริษัทลูกของ บมจ. ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล
จริงๆ แล้วเราก็รู้กันอยู่ว่าภายใต้ บมจ. ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ มีบริษัทในเครือที่มีประสบการณ์บริหารร้านอาหาร โรงแรม และร้านค้าปลีก ชื่อดังมากมายทั้ง Sizzler, Swensen’s, Burger King, The Pizza Company, Charles & Keith, Gap, Anantara, Avani
cr.minor
การพิจารณาไม่ให้ บมจ. ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ผ่านคุณสมบัติ ก็ดูตลกและแปลกดี เพราะถ้าบริษัทแม่มีอำนาจการควบคุมบริษัทลูก ก็น่าจะถือเป็นหน่วยงานเดียวกันกับบริษัทลูก ซึ่งมีประสบการณ์ในการบริหารในธุรกิจต่างๆ เช่นกัน
ขอยกตัวอย่างให้เห็นภาพในเหตุการณ์ปัจจุบัน
ถ้า ส.ส. ถือหุ้นของบริษัทสื่อ แล้วทำให้ขาดคุณสมบัติการเป็น ส.ส.
อย่างนี้ ส.ส. อาจใช้วิธีเลี่ยง คือใช้บริษัทอื่นที่เป็นของตัวเอง มาถือบริษัทสื่ออีกทอดหนึ่ง ก็จะทำให้หลุดพ้นข้อหานี้ ซึ่งจริงๆ แล้วมันทำไม่ได้ ให้บริษัทอื่นมาถือแทนทางอ้อม ก็ยังถือว่า ส.ส. เป็นเจ้าของกิจการนั้นอยู่ดี
ในทำนองเดียวกัน บมจ. ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ก็ถือว่าเป็นเจ้าของกิจการในธุรกิจต่างๆ ในเครือเช่นกัน
สรุปแล้วการประมูลทั้งหมดนี้ มีเรื่องราวที่ดูแปลกเกิดขึ้นมากมาย
และผู้เข้าร่วมประมูลตอนนี้เหลือน้อยกว่าที่คิด
ประเภทดิวตี้ฟรี เหลือ 3 ราย
ประเภทบริหารร้านค้าในอาคารผู้โดยสาร เหลือ 2 ราย
ก็ต้องดูกันต่อไปว่าใครจะเป็นผู้ชนะการประมูลในครั้งนี้
แต่ที่น่าเสียดายคือ
การประมูลครั้งใหญ่ที่มีผลประโยชน์มหาศาล
กลับเหลือผู้แข่งขันกันแค่นี้..
cr.stackpathdns
----------------------
อ่านลงทุนแมนสนุกขึ้น
อ่านในแอป blockdit
โหลดที่ http://www.blockdit.com
----------------------
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.