กฟผ. การไฟฟ้าที่ผูกขาด?

กฟผ. การไฟฟ้าที่ผูกขาด?

18 ส.ค. 2017
รัฐวิสาหกิจที่ผูกขาด
หลายคนคงนึกถึง ปตท. หรือ AOT
บริษัทที่ใหญ่สุดในตลาดหลักทรัพย์ไทย ตอนนี้ก็คือ ปตท.
ส่วนอันดับ 2 ก็คงไม่แปลกใจถ้าจะบอกว่าคือบริษัท AOT
คงปฏิเสธไม่ได้ว่าการผูกขาดจะทำให้บริษัทมีกำไรมาก โดยไม่ต้องแข่งขันอะไรเลย
แล้วมีรัฐวิสาหกิจอะไรอีกไหม ที่เป็นแบบ ปตท. และ AOT?
ถ้า กฟผ. อยู่ในตลาดหุ้นจะเป็นอีกบริษัทหนึ่งที่ใหญ่ไม่แพ้กัน
ไฟฟ้าทุกหน่วยที่ผลิตขึ้นในประเทศไทยจำเป็นต้องไหลผ่านสายส่งของ กฟผ.
แต่หลายคนอาจจะเข้าใจผิดว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นเจ้าเดียวที่ผลิตไฟฟ้าให้แก่คนทั้งประเทศ
ซึ่งจริงๆแล้ว กฟผ. มีกำลังผลิตไฟฟ้าคิดเป็นเพียง 38.77% เท่านั้น ที่เหลืออีก 61.48% เป็นส่วนของ ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่, ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก, และการจัดหาจากภายนอกประเทศ (ข้อมูล ณ มิถุนายน 2560)
แต่ทุกกระแสไฟฟ้าที่คนอื่นผลิตได้นั้นจะถูกรับซื้อโดย กฟผ.ทั้งหมด ก่อนที่จะขายต่อให้ กฟน. และ กฟภ. นำไปจำหน่ายแก่ผู้ใช้รายย่อยอีกทอดหนึ่ง ผ่านระบบสายส่งไฟฟ้าที่ กฟผ.เป็นผู้ควบคุมดูแลทั้งประเทศแต่เพียงผู้เดียว
เรียกได้ว่า กฟผ. เป็นผู้ควบคุมกระแสไฟฟ้าทั้งหมดของประเทศอย่างแท้จริง
ผูกขาดขนาดนี้ แล้วกำไรจะขนาดไหน ?
ในปี 2558 กฟผ. มีรายได้ 531,713 ล้านบาท และกำไรสุทธิ เท่ากับ 32,849 ล้านบาท
ในปี 2559 กฟผ. มีรายได้ 489,536 ล้านบาท และกำไรสุทธิ เท่ากับ 47,203 ล้านบาท
จริงๆแล้วในปี 2559 กฟผ.จำหน่ายไฟได้ในปริมาณที่มากขึ้น 4,358.19 ล้าน kWh แต่ที่รายได้ลดลงนั้นเกิดจากราคาค่าไฟต่อหน่วยที่ลดลงตามต้นทุนที่ปรับลดลง
โดยเฉพาะราคาก๊าซธรรมชาติที่เป็นเชื้อเพลิงหลักถึง 2 ใน 3 ของเชื้อเพลิงทั้งหมดในการผลิตไฟฟ้านั้นปรับตัวลดลงประมาณ 20%
ในปี 2559 ตามราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำ ดังนั้นถึงแม้รายได้ของบริษัทฯจะปรับตัวลดลง แต่ต้นทุนก็ลดลงเช่นกัน ทำให้กำไรของบริษัทฯยังคงเติบโตได้ดีอยู่
เป็นของรัฐแบบนี้ ค่าไฟฟ้าก็ไม่ควรแพงรึเปล่า?
ที่ผ่านมาการขึ้นค่าไฟฟ้าส่วนใหญ่มักเป็นการปรับเพิ่มตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้น โดยต้นทุนของ กฟผ.ในการผลิตไฟฟ้าจะค่อนข้างอ่อนไหวกับราคาก๊าซธรรมชาติเยอะจากการใช้ในสัดส่วนที่สูง ซึ่งถึงแม้ราคาก๊าซธรรมชาติเพิ่มสูงขึ้น ก็ไม่ใช่ว่า กฟผ.จะขาดทุน
เพราะสามารถส่งผ่านต้นทุนมายัง ค่า FT อีกทีหนึ่ง ซึ่งล่าสุด ค่า FT ก็ถูกปรับเพิ่มขึ้นในรอบเดือน พ.ค. - ส.ค. 12.52 สตางค์/หน่วย ตามราคาก๊าซที่เพิ่มสูงขึ้นนั่นเอง นอกจากนี้แนวโน้มในอนาคตก๊าซธรรมชาติโดยเฉพาะจากแหล่งในอ่าวไทยของเราก็จะน้อยลงทุกวัน
ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงต่อราคาพลังงานในประเทศที่อาจสูงขึ้น หากต้องพึ่งพาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศในราคาที่สูงขึ้น
แต่ก็ไม่ใช่ว่า กฟผ.อยากฟันกำไรเท่าไรก็ได้นะ
การกำหนดราคาค่าไฟฟ้าในประเทศนั้นไม่ได้อยู่ในอำนาจของ กฟผ.ที่จะกำหนดราคาที่ถูกใจได้โดยฝ่ายเดียว
ในการขึ้นค่า FT นั้น ก็ต้องผ่านการพิจารณาของ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ซึ่งจะมาช่วยดูแลเพื่อให้ราคานั้นอยู่ในระดับที่เหมาะสมแก่ผู้ใช้รายย่อยทั่วไปด้วย
จากกำไรของ กฟผ.ที่มหาศาล ในแต่ละปีนั้น นอกจากจะนำไปลงทุนในโครงการต่างๆเพื่อความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าแล้ว ก็จะมีการนำส่งเงินเข้ารัฐเป็นจำนวนมาก
โดยในช่วง 10 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2560 (ต.ค. 59 - ก.ค. 60) กฟผ.นำเงินส่งเข้ารัฐมากเป็นอันดับ 2 ในบรรดารัฐวิสาหกิจทั้งหมด คิดเป็นเงินสูงถึง 21,660 ล้านบาท เป็นรองเพียง สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ที่ส่งเงินเข้ารัฐ 25,540 ล้านบาท
สุดท้ายแล้ว ผูกขาดไฟฟ้าที่ว่าแน่ ก็ยังแพ้ลอตเตอรี่..
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.