อธิบายเรื่องอัตราดอกเบี้ย ให้เข้าใจง่ายๆ

อธิบายเรื่องอัตราดอกเบี้ย ให้เข้าใจง่ายๆ

10 มิ.ย. 2019
อธิบายเรื่องอัตราดอกเบี้ย ให้เข้าใจง่ายๆ / โดย ลงทุนแมน
อัตราดอกเบี้ย คำนี้ดูเหมือนจะเกี่ยวข้องกับหลายคน
แต่เราหลายคนอาจจะยังไม่เคยรู้รายละเอียด
ทั้งที่จริง เรื่องนี้ควรสอนตั้งแต่อยู่ในโรงเรียน
เพราะมันเกี่ยวกับทุกคนจริงๆ
วันนี้ลงทุนแมนจะมาอธิบายเรื่องอัตราดอกเบี้ย
แบบเข้าใจง่ายๆ ให้ฟัง
โดยทั่วไปอัตราดอกเบี้ย จะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ
1. อัตราดอกเบี้ยเงินฝาก
2. อัตราดอกเบี้ยเงินกู้
อัตราดอกเบี้ยเงินฝากจะแบ่งเป็นเงินฝากออมทรัพย์ และเงินฝากประจำ
ซึ่งถ้ามองมุมของธนาคาร
อัตราดอกเบี้ยเงินฝากจะเป็นต้นทุนของธนาคารที่ต้องจ่ายให้กับผู้ฝาก
แล้วรายได้ของธนาคารมาจากไหน?
คำตอบก็คือ การปล่อยกู้ หรือ ภาษาทางการหน่อยก็คือ การให้สินเชื่อ
ซึ่งแน่นอน ธนาคารทำธุรกิจก็ต้องมีผลกำไร ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ จะมากกว่า อัตราดอกเบี้ยเงินฝาก
ส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ เราจะเรียกว่า ส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (Net Interest Margin)
Cr.ธนาคารแห่งประเทศไทย - Bank of Thailand
ส่วนต่างยิ่งมากแสดงถึงความสามารถในการหารายได้ของธนาคารพาณิชย์ได้ดี
แล้วในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อัตราดอกเบี้ยดังกล่าวของประเทศไทยเป็นอย่างไร?
อัตราดอกเบี้ยออมทรัพย์ (Saving Interest Rate) เฉลี่ยอยู่ที่ 0.58%
อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ (Fixed Interest Rate) 12 เดือน เฉลี่ยอยู่ที่ 1.74%
อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (MLR) เฉลี่ยอยู่ที่ 6.67%
อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีที่เบิกเกินบัญชี (MOR) เฉลี่ยอยู่ที่ 7.21%
อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) เฉลี่ยอยู่ที่ 7.60%
จากจุดนี้ เราพอสรุปได้ว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา คนฝากเงินได้ผลตอบแทนน้อย
ขณะที่คนกู้ซึ่งเป็นลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีจะมีต้นทุนการกู้ต่ำกว่าลูกค้ารายย่อยชั้นดี
และส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 5-6%
นอกจากนี้ ยังมีดอกเบี้ยอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งมีความสำคัญไม่แพ้อัตราดอกเบี้ยเงินฝาก และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ นั่นคือ อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งในประเทศไทย ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้กำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ปัจจุบันอยู่ที่ 1.75%
การเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะส่งผลต่อภาคเศรษฐกิจหลายด้าน เช่น อัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ ราคาสินทรัพย์ หรือแม้แต่อัตราแลกเปลี่ยน
แต่ถ้าถามว่า ธนาคารกลางที่ไหนของโลกที่มีอิทธิพลต่อการกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายมากที่สุด คำตอบคือ ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ซึ่งปัจจุบันกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.5%
เราคงเคยได้ยินข่าวเศรษฐกิจ ว่าเมื่อ Fed ส่งสัญญาณว่าจะเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ย ตลาดหุ้นมักจะเคลื่อนไหวไปในทิศทางตรงข้าม
เช่น ในช่วงหลังวิกฤติสินเชื่อซับไพรม์ในปี 2008 Fed ตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปต่ำสุดที่ 0.0–0.25% ส่งผลให้ตลาดหุ้นทั่วโลกจึงปรับตัวเพิ่มขึ้น
เนื่องจากนักลงทุนจะออมเงินในรูปเงินฝากน้อยลง เพราะผลตอบแทนน้อย และหันไปลงทุนในสินทรัพย์อื่นที่ให้ผลตอบแทนมากกว่า เช่น พันธบัตร หรือ หุ้น เป็นต้น
มีอีกเรื่องหนึ่งที่หลายคนยังไม่รู้
ถ้าประเทศไหนที่มีดอกเบี้ยเงินฝากสูงๆ ไม่ได้แปลว่าควรนำเงินไปฝากประเทศนั้นเสมอไป
เนื่องจากในทางเศรษฐศาสตร์นั้น อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงต้องหักเงินเฟ้อออกไปด้วย
เช่น ถ้าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากเท่ากับ 3% แต่เงินเฟ้อเท่ากับ 5% หมายความว่า อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงติดลบ 2%
ยกตัวอย่างเช่น ประเทศเวเนซุเอลา ที่ในปี 2018 มีอัตราเงินเฟ้อสูงถึง 1,370,000% ต่อให้ประเทศนี้ให้ดอกเบี้ยเงินฝากเป็น 100% ก็ไม่คุ้มที่จะย้ายเงินไปฝากที่นั้น
Cr. FXStreet
ในทางกลับกัน ประเทศไหนที่มีเงินเฟ้อน้อย ถึงแม้ว่าจะให้ดอกเบี้ยเงินฝากไม่มาก ก็อาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่าที่จะฝากเงินไว้กับประเทศนั้น
ดังนั้น พออ่านเรื่องนี้จบ
เวลาที่เราฟังข่าวเรื่องอัตราดอกเบี้ย
เราน่าจะเข้าใจกันมากขึ้นว่า มันมีความหมายที่แท้จริงอย่างไร..
----------------------
อ่านลงทุนแมนสนุกขึ้น
อ่านในแอป blockdit
โหลดที่ http://www.blockdit.com
----------------------
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.