ทำไม สิงคโปร์ ถึงเจริญ

ทำไม สิงคโปร์ ถึงเจริญ

16 มิ.ย. 2019
ทำไม สิงคโปร์ ถึงเจริญ / โดย ลงทุนแมน
จากการจัดอันดับประเทศที่มีความสามารถในการแข่งขันในปี 2019
สิงคโปร์คืออันดับที่ 1 ของโลก
ประเทศนี้ยังพ่วงตำแหน่งประเทศที่มีสนามบินที่ดีที่สุดในโลก
มีรายได้ต่อหัวสูงเป็นอันดับ 3 ของโลก
และอีกหลายๆ ตำแหน่งที่เป็นอันดับต้นๆ ของโลก
แต่หากย้อนไปเมื่อราว 50 ปีที่แล้ว
ประเทศเกาะขนาดเล็กแห่งนี้ เต็มไปด้วยผู้คนยากไร้
ขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติ ไม่มีแม้กระทั่งน้ำจืดสำหรับอุปโภคบริโภคที่เพียงพอ
อะไรทำให้ประเทศที่แทบจะเริ่มต้นจากติดลบ
ผงาดขึ้นมาเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจแข็งแกร่ง และเปี่ยมไปด้วยศักยภาพสำหรับวันพรุ่งนี้
ขอต้อนรับเข้าสู่.. ซีรีส์บทความ 4 เสือเศรษฐกิจ ตอน สิงคโปร์
ในวันที่สิงคโปร์ ประกาศเอกราชแยกตัวออกจากมาเลเซียในปี 1965
ลี กวน ยู (Lee Kuan Yew) นายกรัฐมนตรีคนแรกของสิงคโปร์
ได้เล็งเห็นว่าทรัพยากรที่สำคัญที่สุดสำหรับประเทศเล็กๆ อย่างสิงคโปร์ ก็คือ “มนุษย์”
และสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ก็คือ “การศึกษา”
รัฐบาลสิงคโปร์จึงให้ความสำคัญต่อนโยบายการศึกษาอย่างสูงสุด
โดยได้มีการปฏิรูปคุณภาพของระบบ และมาตรฐานการเรียนการสอนของประเทศอย่างต่อเนื่อง
จุดเด่นที่สำคัญของการศึกษาสิงคโปร์มี 3 ประการ คือ
1. บุคลากรครูคุณภาพสูง ครูทุกคนต้องจบการศึกษาในด้านที่เกี่ยวข้อง
หลังจบการศึกษาต้องเข้ารับการฝึกอบรมวิชาชีพครูจากสถาบันการศึกษาแห่งชาติสิงคโปร์ (NIE) เป็นเวลา 1 ปี เมื่อปฏิบัติหน้าที่ครูแล้วต้องได้รับการประเมิน และพัฒนาในทุกๆ ปี
2. การเรียนการสอนสองภาษา และโอกาสทางการศึกษาที่เท่าเทียม
ในช่วงแรกของการก่อตั้งประเทศ
สิงคโปร์เริ่มต้นจากการหลอมรวมของประชากรหลายเชื้อชาติ
โดยมีสัดส่วนเชื้อสายจีน 77%
เชื้อสายมาเลย์ 15%
เชื้อสายอินเดีย 7%
เชื้อสายอื่นๆ 1%
Cr. Expat Living Singapore
แต่ละเชื้อชาติต่างก็มีการใช้ภาษาเป็นของตัวเองแตกต่างกันไป
สิ่งที่จะหลอมรวมให้คนทุกเชื้อชาติสามารถอยู่รวมกันก็คือ
ชาวสิงคโปร์ทุกคนจะต้องสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้..
นำมาสู่ระบบการเรียนการสอนที่มีการใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก
ส่วนภาษาที่สองก็เป็นภาษาของแต่ละเชื้อชาติ
3. ระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่น มีการพัฒนาแผนการเรียนและหลักสูตรใหม่ๆ อย่างสม่ำเสมอ
ถึงแม้จะจบการศึกษาไปแล้ว รัฐบาลก็ยังมีงบให้แต่ละคนไปเรียนเพิ่มเติมในทักษะด้านต่างๆ
เพื่อพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง
การศึกษาที่ดี และมีประชากรที่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ดี
ทำให้สิงคโปร์สามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ โดยเฉพาะบริษัทข้ามชาติซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทฝั่งตะวันตก และต้องการแรงงานที่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้
เมื่อพัฒนาเรื่องการศึกษาได้แล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องพัฒนาคือ “ความโปร่งใส”
ในช่วงหลังการแยกตัวเป็นเอกราช
สิงคโปร์เป็นหนึ่งในประเทศที่มีการคอร์รัปชันสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก
รัฐบาลภายใต้การนำของนายก ลี กวน ยู ได้ย้ายสำนักสืบสวนการทุจริตคอร์รัปชัน (CPIB)
ซึ่งเป็นองค์กรที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1952 มาอยู่ภายใต้สำนักนายกรัฐมนตรี
และทำการปฏิรูปกฎหมายป้องกันและปราบปรามการคอร์รัปชัน ให้ยืดหยุ่นและมีประสิทธิภาพ
ทั้งการตัดสินลงโทษผู้ต้องหาโดยไม่ต้องมีหลักฐานชัดเจน แค่มีพฤติกรรมโน้มเอียงไปในทางไม่ซื่อสัตย์ก็สามารถตัดสินได้
หากผู้ต้องหาถูกตัดสินว่าผิดจริง ก็จะได้รับโทษอย่างรุนแรง
นอกจากโทษทางกฎหมายแล้ว ยังต้องชดใช้ค่าเสียหายเท่ากับจำนวนเงินที่ทำการทุจริตด้วย
หลังจากตัวบทกฎหมาย และกระบวนการลงโทษเริ่มเข้าที่เข้าทาง
ขั้นต่อมา คือการเพิ่มผลตอบแทนให้ข้าราชการ โดยเริ่มในปี 1989
เพื่อจูงใจให้คนเก่งเข้ารับราชการ และลดการรับสินบนของเจ้าหน้าที่รัฐ
รัฐบาลสิงคโปร์ใช้เวลาต่อสู้กับการคอร์รัปชันมาเป็นเวลากว่า 50 ปี
จนสิงคโปร์กลายเป็นประเทศที่มีดัชนีความโปร่งใส (Corruption Perceptions Index)
สูงเป็นอันดับ 3 ของโลก ในปี 2018
Cr. Lee Hsien Loong Facebook Page
การมีระบบบริหารที่มีความโปร่งใส ทำให้สิงคโปร์สามารถพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ
ทั้งท่าเรือน้ำลึก สนามบินนานาชาติ ถนนหนทาง และระบบขนส่งมวลชน
รัฐบาลสิงคโปร์ได้ก่อตั้ง คณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจ (EDB) เพื่อวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจ และดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ
โดยเริ่มดำเนินนโยบายการเป็นเมืองท่าปลอดภาษี (Free Port) มาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1970
การมีทำเลที่ตั้งที่ดี เป็นจุดศูนย์กลางของการขนส่ง มีสาธารณูปโภคครบครัน
ระบบบริหารที่มีประสิทธิภาพ และแรงงานที่มีทักษะสูง
ทำให้สิงคโปร์กลายเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าทางทะเลระดับโลก
โดยเฉพาะน้ำมันปิโตรเลียม..
สิงคโปร์เป็นศูนย์กลาง การกลั่นน้ำมันของภูมิภาค และเป็นผู้ส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป (Refined Oil) อันดับ 4 ของโลกในปี 2018 คิดเป็นมูลค่ากว่า 1.6 ล้านล้านบาท
รู้ไหมว่า มูลค่านี้เป็นมูลค่าที่มากกว่าการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปของประเทศซาอุดีอาระเบียถึง 2 เท่า
ทั้งที่ซาอุดีอาระเบียมีแหล่งน้ำมันดิบมากกว่าสิงคโปร์อย่างมหาศาล..
ไม่ใช่แค่เป็นศูนย์กลางทางการค้า
การมีบุคลากรที่มีทักษะสูง สื่อสารได้หลายภาษา ทำให้สิงคโปร์สามารถพัฒนาทักษะด้านการบริการในระดับสูง ทั้งในภาคการเงิน ภาคการประกันภัย และการท่องเที่ยว เป็นต้น
ภาคบริการเหล่านี้ มีสัดส่วนคิดเป็น 73.4 % ของ GDP ทำให้สิงคโปร์กลายเป็นศูนย์กลางการเงินระหว่างประเทศ และใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก
ภาคเศรษฐกิจทั้งหมด ล้วนส่งผลให้ประเทศเล็กๆ ที่มีประชากรเพียง 5.6 ล้านคน มีขนาดเศรษฐกิจสูงถึง 11.6 ล้านบาท มากกว่าขนาดเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย ซึ่งมีประชากรมากกว่าถึง 6 เท่า
รายได้ต่อหัวของชาวสิงคโปร์ในปี 2018 อยู่ที่ 2.1 ล้านบาท สูงเป็นอันดับ 3 ของโลก
ด้วยความเพียบพร้อมในทุกๆ ด้านนี้เอง
ที่ผลักดันให้สิงคโปร์กลายเป็นประเทศที่มีความสามารถในการแข่งขัน อันดับ 1 ของโลก ในปี 2019 แซงหน้ามหาอำนาจทุกประเทศ
แต่สิงคโปร์ในวันนี้ ก็ยังไม่หยุดที่จะพัฒนา..
แม้สนามบินสิงคโปร์ชางงี จะครองตำแหน่งสนามบินที่ดีที่สุดในโลกมา 7 ปีซ้อน
แต่ก็ยังมีแผนการขยายเทอร์มินัลสนามบิน เพื่อรองรับและอำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสารให้ดียิ่งขึ้นไป
Cr. Singaporetravellers.info
แม้จะเป็นประเทศที่มีการเตรียมพร้อมทางการศึกษาดีที่สุดในโลก
แต่แผนการปฏิรูปการศึกษา ยกเลิกการแบ่งสายนักเรียนมัธยม ที่จะดำเนินการในปี 2024
ก็เพื่อให้เยาวชนได้ทำตามสิ่งที่ตนเองถนัด และเตรียมพร้อมสำหรับอนาคตได้ดีขึ้น
จากเรื่องทั้งหมด อาจสรุปได้ว่า
สำหรับสิงคโปร์แล้ว
ประเทศนี้อาจไม่ได้มองหาคำว่า “ดีที่สุด”
แต่จุดมุ่งหมายสูงสุดของสิงคโปร์ คือ “ดีกว่าเดิม”
เพราะคำว่าดีที่สุด ถ้าเราได้ที่ 1 แล้ว เราอาจหยุดพัฒนา
แต่ดีกว่าเดิมแบบไม่หยุด มันจะทำให้เรารักษาที่ 1 แบบทิ้งห่างผู้ตาม ไปอย่างขาดลอย..
ติดตามบทความตอนที่ 2 เขตบริหารพิเศษฮ่องกง ในสัปดาห์หน้า..
----------------------
อ่านลงทุนแมนสนุกขึ้น
อ่านในแอป blockdit
โหลดที่ http://www.blockdit.com
----------------------
References
-https://www.imd.org/wcc/world-competitiveness-center-rankings/world-competitiveness-ranking-2019/
-https://www.worldairportawards.com
-https://www.weforum.org/agenda/2015/04/is-education-the-secret-to-singapores-success/
-http://www.mfa.go.th/thailand4/th/news/6909/77112-แนวทางการพัฒนาด้านการศึกษาของสิงคโปร์.htm
l-https://www.transparency.org/cpi2018
-http://www.worldstopexports.com/refined-oil-exports-by-country/
-https://www.singstat.gov.sg/modules/infographics/economy
-รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์, สิงคโปร์ผลิตและพัฒนาครูอย่างไร
-สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, สาธารณรัฐสิงคโปร์กับการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
-รศ.ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น, เศรษฐกิจประเทศในเอเชีย
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.