ก.ล.ต. คือใคร

ก.ล.ต. คือใคร

17 มิ.ย. 2019
ก.ล.ต. คือใคร / โดย ลงทุนแมน
คนที่ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์คงเคยได้ยินชื่อ ก.ล.ต.
แต่เคยสงสัยกันไหมว่า ก.ล.ต. คือใคร
มีหน้าที่อะไรในตลาดหลักทรัพย์
วันนี้ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. เป็นองค์กรอิสระ ก่อตั้งขึ้นในปี 2535 โดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
หน้าที่หลักของ ก.ล.ต. คือ ดูแลกำกับตลาดทุน ซึ่งตลาดทุนนั้นถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
1. ตลาดแรก หรือตลาดที่ออกหลักทรัพย์ใหม่
2. ตลาดรอง หรือตลาดสำหรับการซื้อขายหลักทรัพย์
เวลาที่นักลงทุนกำลังพูดถึงหุ้น IPO นั่นหมายถึง หุ้นที่กำลังถูกเสนอขายให้กับประชาชนทั่วไปในครั้งแรก
โดย ก.ล.ต. จะทำหน้าที่พิจารณาให้ความเห็นชอบการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของบริษัทที่กำลังจะออกหุ้น IPO
สำหรับตลาดรองนั้น ก.ล.ต. มีหน้าที่ดูแลให้เกิดความเป็นธรรมในการซื้อขายหลักทรัพย์ พร้อมทั้งกำกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุน เช่น บริษัทหลักทรัพย์ ที่ปรึกษาทางการเงิน ให้ปฏิบัติตามกฎระเบียบที่วางไว้
รวมทั้งพิจารณาการกระทำผิดโดยการลงโทษแก่ผู้ที่ปั่นหุ้น หรือใช้ข้อมูลภายในมาซื้อขายหุ้น
บางคนอาจสงสัยว่า แล้ว ก.ล.ต. กับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีบทบาทต่างกันอย่างไร
ในส่วนตลาดหลักทรัพย์นั้นจะมีหน้าที่หลักคือ รับหลักทรัพย์เข้าซื้อขายในตลาดรอง ดูแลระบบการซื้อขายหลักทรัพย์ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย พร้อมทั้งให้บริษัทจดทะเบียนส่งข้อมูลต่างๆ ตามกำหนดเวลาและช่วงที่บริษัทมีเหตุการณ์สำคัญ
โดยสรุปแล้ว ตลาดหลักทรัพย์ มีหน้าที่ในการดูแลเรื่องระบบซื้อขาย ส่วน ก.ล.ต. มีหน้าที่กำกับดูแลให้เกิดความเป็นธรรม
Cr.SEC
อย่างไรก็ตาม แม้หน้าที่ของ ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์จะแตกต่างกัน แต่ทั้ง 2 หน่วยงานก็ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด
แล้วคณะกรรมการ ก.ล.ต. มีใครบ้าง?
คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกอบไปด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายส่วนตั้งแต่ ประธานกรรมการ ก.ล.ต., ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย, ปลัดกระทรวงการคลัง, ปลัดกระทรวงพาณิชย์, กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และเลขาธิการ ก.ล.ต.
แม้จะเป็นองค์กรอิสระ แต่ ก.ล.ต. ก็ต้องจัดทำงบการเงินขององค์กร โดยมีสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้ตรวจสอบงบการเงิน
รายได้ของ ก.ล.ต.
ปี 2560 รายได้ 1,456 ล้านบาท
ปี 2561 รายได้ 1,547 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน ในตอนนี้ที่โลกเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว
ความท้าทายของ ก.ล.ต. ภารกิจหลังจากนี้คงเป็นเรื่องการเกิดขึ้นของธุรกรรมการเงินใหม่ๆ ที่เป็นผลมาจากการพัฒนาของเทคโนโลยี
ตัวอย่างแรกคือ สกุลเงินดิจิทัลต่างๆ หรือ Cryptocurrency
Cr.insights.dice
โดยข้อดีของเงินดิจิทัลคือ ช่วยในการชำระเงินค่าสินค้าที่รวดเร็ว และสะดวกสบายได้ทั่วโลก ไม่ต้องผ่านตัวกลางซึ่งช่วยลดภาระค่าธรรมเนียมในการโอนเงินไปได้
อย่างไรก็ตาม จุดอ่อนของเงินสกุลนี้คือ เรื่องการตรวจสอบการเดินทางของเงิน จึงทำให้บ่อยครั้งเงินดิจิทัลถูกใช้ในการฟอกเงิน หรือ การหลอกลวงผู้คนให้ไปร่วมลงทุน
ปัจจุบัน ในประเทศไทยได้มีการประกาศใช้ พ.ร.ก. การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. ที่จะดูแลการขึ้นทะเบียนของผู้ซื้อขายสกุลเงินดิจิทัลในประเทศไทย
สำหรับเรื่องต่อมาก็คือ การระดมทุนแบบใหม่ ที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย
จากเดิมที่เราคิดว่า การระดมทุนจะมาจากตลาดหลักทรัพย์เท่านั้น แต่ในปัจจุบันที่เทคโนโลยีเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการสามารถระดมทุนได้หลายรูปแบบ
อย่างในกรณีล่าสุด ก.ล.ต. ได้ประกาศให้ การระดมทุนแบบคราวด์ฟันดิง (Crowdfunding) แบบ Investment-based เข้ามาอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต.
คราวด์ฟันดิง คือการระดมทุนจากประชาชนผ่านระบบเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ (Funding Portal) ซึ่งการระดมทุนประเภทนี้ เป็นทางเลือกที่กำลังจะเข้ามามีบทบาทในการสนับสนุนธุรกิจ SME และ ธุรกิจสตาร์ตอัป ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้น
Cr.SEC
จะเห็นได้ว่าในโลกของตลาดทุนตอนนี้กำลังมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วไม่แพ้เทคโนโลยี
ถ้าเราเป็นนักลงทุน หรือเป็นผู้ประกอบการที่ต้องการระดมทุน ก็ควรติดตามกฎเกณฑ์จาก ก.ล.ต. และทำตามกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ผลดีในท้ายที่สุดก็เพื่อให้ประเทศของเรามีเสถียรภาพทางตลาดทุนในระยะยาวนั่นเอง..
----------------------
อ่านลงทุนแมนสนุกขึ้น
อ่านในแอป blockdit
โหลดที่ http://www.blockdit.com
----------------------
References
-https://www.sec.or.th/TH/Pages/Home.aspx
-https://www.set.or.th/set/ipo.do
-https://www.sec.or.th/TH/Pages/AboutUs/FinancialReport.aspx
-ปริย เตชะมวลไววิทย์, “เรื่องไหน...ใครดูแล” (เผยแพร่ในคอลัมน์รู้ทันลงทุน หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ฉบับวันที่ 14 เมษายน 2559)
-https://www.bot.or.th/Thai/ResearchAndPublications/articles/Pages/Article_01Feb2019.aspx
-https://fbs.co.th/glossary/cryptocurrency-13
-https://www.sec.or.th/th/pages/lawandregulations/crowdfundingregulations.aspx
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.