ธุรกิจหลักทรัพย์ กำไรดีไหม

ธุรกิจหลักทรัพย์ กำไรดีไหม

19 มิ.ย. 2019
ธุรกิจหลักทรัพย์ กำไรดีไหม / โดย ลงทุนแมน
เวลาที่เราซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์
จะมีตัวกลางมาทำหน้าที่จับคู่คำสั่งซื้อขายให้แก่เรา
ซึ่งตัวกลางที่ว่าก็คือ บริษัทหลักทรัพย์หรือ Broker
ที่น่าสนใจคือ ไม่ว่าเราจะซื้อหรือขายหุ้น
ไม่ว่าเราจะกำไรหรือขาดทุน
บริษัทเหล่านั้นจะคิดค่าธรรมเนียมทุกครั้ง
เราเคยสงสัยไหมว่า ธุรกิจหลักทรัพย์นั้นกำไรดีไหม
วันนี้ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่า ธุรกิจหลักทรัพย์นั้นให้บริการอะไรแก่ลูกค้าบ้าง
ธุรกิจหลักทรัพย์ ประกอบไปด้วย
1. การเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์
2. การเป็นที่ปรึกษาการลงทุน
3. การจัดจำหน่ายหลักทรัพย์
บางบริษัทยังให้บริการจัดการกองทุนส่วนบุคคลแก่ลูกค้าอีกด้วย
ปัจจุบัน ในตลาดหลักทรัพย์มีบริษัทหลักทรัพย์ถึง 50 ราย ดังนั้น ถ้าดูจากตัวเลขนี้ ก็น่าจะถือว่า ธุรกิจหลักทรัพย์เป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันกันสูงพอสมควร
เราลองมาดูส่วนแบ่งตลาดของบริษัทหลักทรัพย์ 3 ลำดับแรกในปี 2018
1. ดีบีเอส วิคเคอร์ส ส่วนแบ่งตลาด 6.8%
2. เมย์แบงก์ กิมเอ็ง ส่วนแบ่งตลาด 6.1%
3. เอเชีย เวลท์ ส่วนแบ่งตลาด 5.8%
จะเห็นว่า แม้แต่บริษัทหลักทรัพย์ที่มีส่วนแบ่งตลาดสูงสุดก็ยังไม่ถึง 7% ของตลาด และส่วนแบ่งตลาดก็ไม่ได้อยู่ห่างจากลำดับที่ 2 และ 3 มากนัก
รายได้และกำไร ล่าสุด ของบริษัทหลักทรัพย์ 3 ลำดับแรก
ปี 2017 บล. ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด รายได้ 846 ล้านบาท กำไร 8.7 ล้านบาท
ปี 2018 บมจ. หลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) รายได้ 2,799 ล้านบาท กำไร 391 ล้านบาท
ปี 2018 บล. เอเชีย เวลท์ จำกัด รายได้ 571 ล้านบาท ขาดทุน 34 ล้านบาท
ที่น่าสนใจคือ รายได้ของธุรกิจหลักทรัพย์ขึ้นอยู่กับปริมาณการซื้อขายกว่า 60%
แม้จะลดลงจากอดีตที่เฉลี่ยอยู่สูงกว่า 90% แต่ก็ยังถือว่ามีสัดส่วนที่สูง
หมายความว่า ถ้าช่วงไหนที่ตลาดหุ้นคึกคัก มูลค่าการซื้อขายสูง ธุรกิจหลักทรัพย์ก็จะมีกำไรดี แต่ถ้าช่วงไหนตลาดหุ้นซบเซา มูลค่าการซื้อขายลดลง ธุรกิจหลักทรัพย์ก็มักมีกำไรลดลง
สิ่งที่ถือเป็นความท้าทายของธุรกิจหลักทรัพย์คือ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ที่ส่งผลให้ค่าธรรมเนียมการซื้อขายมีแนวโน้มลดลง
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ อินเทอร์เน็ต
Cr. Calamatta Cuschieri
รู้ไหมว่า ปัจจุบัน สัดส่วนการส่งคำสั่งผ่านอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ในปี 2018 สัดส่วนมูลค่าซื้อขายผ่านระบบอินเทอร์เน็ตต่อมูลค่าการซื้อขายรวมเท่ากับ 28% เทียบกับปี 2008 ที่เท่ากับ 16%
สิ่งนี้เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้รายได้ค่าธรรมเนียมการซื้อขายลดลง เพราะค่าธรรมเนียมการซื้อขายผ่านทางระบบอินเทอร์เน็ตจะถูกกว่าผ่านเจ้าหน้าที่การตลาดอย่างมาก
ดังนั้น สิ่งเหล่านี้ถือเป็นความท้าทายที่ทำให้ธุรกิจหลักทรัพย์ต้องปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี
ซึ่งเป็นคำถามที่ผู้บริหารบริษัทหลักทรัพย์ ต้องวางแผนให้ดี
เพราะในที่สุดแล้ว Technology Disruption จะเกิดกับอุตสาหกรรมที่มีตัวกลาง
และธุรกิจหลักทรัพย์ ก็ถือว่าเป็นหนึ่งในนั้น..
----------------------
อ่านลงทุนแมนสนุกขึ้น
อ่านในแอป blockdit
โหลดที่ http://www.blockdit.com
----------------------
References
-https://www.efinancethai.com/HotTopic/HotTopicMain.aspx?id=bFpsV1lCSXpCVlE9
-https://www.set.or.th/education/th/begin/stock_content10.pdf
-https://www.1213.or.th/th/aboutfcc/finservices/Pages/securities.aspx
-https://www.set.or.th/th/market/market_statistics.html
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.