ใครคือเจ้าของ Grab

ใครคือเจ้าของ Grab

22 ส.ค. 2017
Grab เป็นหนึ่งในผู้ครองตลาดแอพเรียก taxi ในอาเซียน
Grab เปิดตัวเมื่อ 5 ปีที่แล้ว โดยนักศึกษาชาวมาเลเซีย 2 คน
แต่ตอนนี้ Grab มีมูลค่าบริษัท 2 แสนล้านบาท
จุดเริ่มต้นของ Grab นั้น ถูกก่อตั้งขึ้นโดย แอนโทนี่ ตัน และ โฮย หลิง ตัน โดยทั้งคู่เป็นเพื่อนร่วมชั้นกันที่ Harvard Business School
เขาทั้งคู่มักได้ยินเพื่อนๆ ของเขาบ่นเสมอว่า การเรียกแท็กซี่ที่มาเลเซียนั้นยากแสนยาก
ทำให้ทั้งสองคนเอาปัญหาดังกล่าวกลับไปคิดว่าจะมีวิธีไหนที่สามารถใช้ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในการแก้ปัญหานี้ ทั้งคู่จึงเขียนแนวคิด และพัฒนามันจนกลายเป็นแผนธุรกิจ
ซึ่งต่อมาถูกนำไปใช้ในการประกวด Business Plan Competition ที่มหาวิทยาลัย โดยได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 2 ในปี 2011
หลังจากนั้น ทั้งคู่เริ่มหาเงินทุน โดยใช้วิธีเดินเข้าไปเสนอแผนธุรกิจดังกล่าวให้แก่บริษัทที่ให้บริการจัดหารถแท็กซี่จำนวนมาก แต่มีเพียงแค่ 5 บริษัทกับจำนวนแท็กซี่แค่ 30 คันที่สนับสนุนแนวคิดของเขา
อย่างไรก็ตาม ในระยะเวลา 12 เดือนต่อมา ทั้งคู่ได้เงินสนับสนุนกว่า 3,000 ล้านบาท จากกองทุนเฮดฟันด์ที่ขื่อว่า Vertex Venture Holdings ทำให้บริษัทเริ่มเติบโตและมีพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่อง
ในปี 2012 Grab ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการในมาเลเซีย
ในปี 2013 เปิดตัวในฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และประเทศไทย
ในปี 2014 เปิดตัวในเวียดนามและอินโดนีเซีย ทำให้ปัจจุบันนั้น Grab Taxi ได้เข้าไปปักธงแล้ว 6 ประเทศในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้เรียบร้อยแล้ว
ปัจจุบันมี
คนขับที่ลงทะเบียนกับ Grab แล้วมากกว่า 930,000 คน
การเรียกรถเฉลี่ย 7 ครั้งต่อ 1 วินาที หรือ 604,800 ครั้งใน 1 วัน ผ่านแอพพลิเคชั่น
จำนวนของผู้โดยสารที่ใช้ Grab มีจำนวน 11 ล้านคน
55 เมือง ในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้มี Grab ใช้
Grab ถูกดาวโหลดไปอยู่ในเครื่อง Smart Phone จำนวน 45 ล้านเครื่อง
จนถึงปี 2016 บริษัทได้เงินทุนไปแล้วกว่า 25,000 ล้านบาท ซึ่งเงินทุนโดยส่วนมากจะใช้ไปกับการวิจัย และพัฒนาแอพพลิเคชั่นเพื่อสร้างความพึงพอใจแก่ผู้ใช้งานให้มากขึ้น
ล่าสุดเมื่อเดือนที่แล้ว (ก.ค. 2017) Didi และ SoftBank ได้ใส่เงินเข้าไปใน Grab เพิ่มอีก 66,000 ล้านบาท
Didi เป็นบริษัทแอพแท็กซี่จีน ที่ชนะ Uber ในตลาดจีนได้ ส่วน SoftBank เป็นพี่ใหญ่ของวงการ Venture Capital ของโลกนี้
และแจ๊คหม่าก็เอากับเขาด้วย
อาลีบาบากำลังพิจารณาร่วมลงทุนกับ Grab เพื่อพัฒนา Alipay ซึ่งเป็นบริการสำหรับจ่ายเงินบนมือถือร่วมกับแอพพลิเคชั่นของ Grab เรียกว่า GrabPay
ซึ่งทั้งสองบริษัทมองว่า Cashless Society จะช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจอย่างมหาศาลในอนาคต
เหตุผลต่างๆ เหล่านี้เป็นสาเหตุที่ทำให้ Grab เติบโตได้อย่างรวดเร็วในแถบเอเซียตะวันออกเฉียงใต้
แต่ที่น่าสนใจคือบริษัทยังไม่มีกำไร เนื่องจากอยู่ในช่วงของการระดมทุนเพื่อในการวิจัย พัฒนาและทำการตลาดอยู่..
Tag: grab
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.