ถ้ากล้วยสูญพันธุ์ ไปจากโลกนี้

ถ้ากล้วยสูญพันธุ์ ไปจากโลกนี้

1 ก.ค. 2019
ถ้ากล้วยสูญพันธุ์ ไปจากโลกนี้ / โดย ลงทุนแมน
เรื่องกล้วยๆ อาจไม่กล้วยอย่างที่คิด
ถ้าวันหนึ่งกล้วยหมดไปจากโลกนี้ จะเป็นอย่างไร
Panama disease (โรคตายพราย)
อาจส่งผลเสียหายแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมกล้วยกว่า 1.4 ล้านล้านบาท
รวมทั้งยังส่งผลต่อประชากรในประเทศกำลังพัฒนา
ที่ทานกล้วยเป็นอาหารกว่า 400 ล้านคน
กรณีเลวร้ายที่สุด โรคนี้อาจถึงขนาดทำให้กล้วยสูญพันธุ์ได้
แล้วโรคนี้คืออะไร ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
Panama disease เป็นโรคที่ทำความเสียหายอย่างรุนแรงกับต้นกล้วย
โดยโรคดังกล่าวถูกพบครั้งแรกเมื่อปี 1890 ที่ประเทศปานามา โรคนี้จึงมีชื่อว่า Panama disease
ในช่วงระหว่างปี 1950-1960 Panama disease ได้แพร่กระจายไปทั่วอเมริกากลาง และแถบทะเลคาริบเบียน ซึ่งถือเป็นแหล่งพื้นที่เพาะปลูกกล้วยที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก
เหตุการณ์ในครั้งนั้น สร้างความเสียหายให้กับอุตสาหกรรมกล้วยหอมทองอย่างมหาศาล
ปัจจุบัน กล้วยนับเป็นผลไม้ที่มีมูลค่าซื้อขายสูงมาก เมื่อเทียบกับผลไม้อื่นๆ
ในปี 2017 ทั่วโลกมีมูลค่าซื้อขายผลไม้กว่า 3.2 ล้านล้านบาท ซึ่งมีสัดส่วนของกล้วยสูงถึง 447,950 ล้านบาท หรือประมาณ 14% ของมูลค่าซื้อขายผลไม้ทั่วโลก
สิ่งที่หลายฝ่ายกังวลคือ Panama disease ซึ่งปัจจุบันได้กลับมาอีกครั้งในรูปแบบของสายพันธุ์ใหม่ทื่ชื่อว่า ทรอปิคอล เรซ 4 (Tropical Race 4) หรือ TR4 กำลังแพร่กระจายไปยังหลายพื้นที่ทั่วโลก เช่น เอเชีย ตะวันออกกลาง ออสเตรเลีย แอฟริกา และลาตินอเมริกา
Cr.breedingbetterbananas
ที่น่าสนใจคือ ถ้าโรคดังกล่าว เกิดขึ้นกับพื้นที่ปลูกกล้วยบริเวณใดแล้ว พื้นที่นั้นจะไม่สามารถนำกลับมาใช้ปลูกกล้วยได้อีกเลย
ที่น่ากลัวคือ โรคดังกล่าวนอกจากจะกระจายได้ง่ายแล้วนั้น
ในปัจจุบัน ยังไม่มียาฆ่าเชื้อราในพืชที่สามารถขจัดโรคนี้ได้ และ TR4 นั้นสามารถมีชีวิตอยู่ในดินได้นานถึง 40 ปี
กล้วยนับเป็นหนึ่งในผลไม้ ที่สำคัญต่อเศรษฐกิจและการบริโภคของประชากรในหลายประเทศ
ในประเทศยูกันดานั้น ชาวยูกันดา 1 คน บริโภคกล้วยปีละ 400 กิโลกรัม ถือได้ว่าเป็นหนึ่งประเทศที่กินกล้วยมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก
ในประเทศอย่างกัวเตมาลา ฟิลิปปินส์ เอกวาดอร์ โคลอมเบีย คอสตาริกา และโมซัมบิก ประเทศเหล่านี้มีรายได้จากการส่งออกกล้วยรวมกันกว่า 250,000 ล้านบาท
โดยเฉพาะกรณีของเอกวาดอร์ซึ่งเป็นผู้ผลิตกล้วยที่ใหญ่ที่สุดลำดับที่ 5 ของโลกนั้น รายได้จากการส่งออกกล้วยมีสัดส่วนกว่า 47% ของรายได้จากการส่งออกสินค้าเกษตรทั้งหมด
หรือแม้แต่ในอินเดียซึ่งเป็นประเทศที่บริโภคกล้วยกว่า 25% ของการบริโภคกล้วยทั่วโลก
จะเกิดอะไรขึ้นถ้าผลผลิตของกล้วยลดลง เพราะผลของโรค TR4 ที่กำลังแพร่ระบาดอยู่
ในตอนนี้ นักวิทยาศาสตร์พยายามที่จะตัดต่อพันธุกรรมกล้วย เพื่อหาพันธุ์กล้วยที่สามารถทนต่อเชื้อราและรอดพ้นจากโรคร้ายนี้ไปให้ได้
แต่รู้ไหมว่า ต้นกำเนิดของโรค Panama disease นั้นเกิดจากมือของมนุษย์เรา..
สาเหตุเนื่องจากการปลูกกล้วยในพื้นที่ขนาดใหญ่นั้น ที่ผ่านมามีการใช้ปุ๋ยและสารเคมีจำนวนมาก จนไปทำลายสมดุลของระบบนิเวศ และสมดุลของสิ่งมีชีวิตในดิน จนเกิดเชื้อราในดินขึ้นมา และพัฒนาจนกลายมาเป็นโรคดังกล่าวในที่สุด
Cr.USDA
นี่อาจเป็นหนึ่งในหลายเรื่องที่ธรรมชาติกำลังเตือนเราว่า
เมื่อเราทำลายสิ่งแวดล้อม สุดท้ายสิ่งแวดล้อมก็จะย้อนกลับมาทำร้ายเรา..
ดูแล้วเรื่องของกล้วย อาจไม่กล้วยอย่างที่คิด
ดังนั้น วันนี้ถ้าเรามีโอกาสกินกล้วยก็จงดีใจไว้ เพราะอนาคตผลไม้ชนิดนี้ อาจเป็นของหากินยากก็ได้ ใครจะไปรู้..
----------------------
อ่านลงทุนแมนสนุกขึ้น
อ่านในแอป blockdit
โหลดที่ http://www.blockdit.com
----------------------
References
-https://theconversation.com/the-quest-to-save-the-banana-from-extinction-112256
-http://www.intracen.org/news/What-are-the-worlds-favourite-fruits/
-https://www.huffpost.com/entry/bananas-extinction-fungal-disease_n_5cfe4630e4b02ee3477a2913
-https://www.worldatlas.com/articles/top-banana-producing-countries-in-the-world.html
-https://www.voathai.com/a/mozambique-going-bananas-tk/3064629.html
-https://www.freshfruitportal.com/news/2018/03/19/global-banana-consumption-recovered-2016-three-year-lull-report-finds/
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.