ไต้หวัน เกาะแห่งเทคโนโลยี

ไต้หวัน เกาะแห่งเทคโนโลยี

30 มิ.ย. 2019
ไต้หวัน เกาะแห่งเทคโนโลยี / โดย ลงทุนแมน
เมื่อพูดถึงไต้หวัน เราจะนึกถึงอะไร
หลายคนคิดถึง ชานมไข่มุก และตึกไทเป 101
แต่จริงๆ แล้ว สิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญที่สุดของเศรษฐกิจไต้หวัน
คือ อุตสาหกรรมเทคโนโลยี..
แต่รู้หรือไม่ว่า..เมื่อ 60 ปีที่แล้ว ดินแดนเกาะแห่งนี้ยังเป็นดินแดนยากจน
รายได้ต่อหัวของประชากรไม่ต่างจากไทยมากนัก
คือราว 2,000 บาท ต่อคน ต่อปี
แต่ในเวลานี้ ไต้หวันที่มีประชากรเพียง 23 ล้านคน
มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่กว่าประเทศไทยทั้งประเทศ
และประชากรมีรายได้ต่อหัวมากกว่าประเทศไทย 3 เท่า
สิ่งสำคัญที่ทำให้เกาะเล็กๆ แห่งนี้ ก้าวข้ามกลายเป็นเขตเศรษฐกิจรายได้สูงได้
ก็คือ “เทคโนโลยี”
เส้นทางแห่งเทคโนโลยีของไต้หวันเป็นอย่างไร?
ขอต้อนรับเข้าสู่ ซีรีส์บทความ 4 เสือเศรษฐกิจ ตอนที่ 3 ไต้หวัน เกาะแห่งเทคโนโลยี..
ประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของไต้หวันเริ่มต้นนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1949
เมื่อเจียง ไคเชก ได้พาสมาชิกรัฐบาลก๊กมินตั๋งอพยพมาตั้งถิ่นฐานยังเกาะไต้หวัน
ด้วยความขัดแย้งทางการเมืองกับจีนแผ่นดินใหญ่
พรรคก๊กมินตั๋งปกครองดินแดนแห่งนี้ในช่วงแรก ทำให้เกิดความมั่นคงทางการเมือง
บวกกับความช่วยเหลือทางการเงิน และการค้าจากสหรัฐอเมริกา
เพื่อต้านทานพรรคคอมมิวนิสต์จากจีนแผ่นดินใหญ่
ด้วยแรงสนับสนุนนี้ ช่วยให้ไต้หวันสามารถพัฒนาอุตสาหกรรมในระยะแรกได้
โดยส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมรับจ้างผลิต ซึ่งเน้นแรงงานเข้มข้น
แต่จุดเปลี่ยนสำคัญอยู่ที่ปี 1973
เมื่อรัฐบาลไต้หวันต้องการเปลี่ยนอุตสาหกรรมจากการเป็นแรงงานรับจ้างผลิต
มาเป็นอุตสาหกรรมไอที และเล็งเห็นว่าอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์
เป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำที่ขาดไม่ได้สำหรับโลกอนาคต
จึงจัดสรรเงินทุนเพื่อก่อตั้ง
"สถาบันเพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอุตสาหกรรม"
Industrial Technology Research Institute (ITRI)
Cr.wikipedia
ซึ่ง ITRI มีการร่วมทุนกับบริษัทฟิลิปส์ของเนเธอร์แลนด์ ทำให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตชิป จนทำให้ ITRI ได้พัฒนากระบวนการผลิตชิปเป็นของตัวเอง
และนำมาสู่การก่อตั้งบริษัทที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของไต้หวัน ในปี 1987
บริษัทนั้นมีชื่อว่า Taiwan Semiconductor Manufacturing Company (TSMC)
บริษัทนี้มีธุรกิจหลักเน้นที่การผลิตชิป..
หลายคนอาจสงสัย ว่าชิป คืออะไร?
ชิป คือ แผงวงจรไฟฟ้าขนาดเล็กทำหน้าที่ประมวลผล เก็บข้อมูล และส่งข้อมูล เปรียบเสมือนสมองของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ยุคใหม่
ตัวอย่างเช่น
ชิปประมวลผลคอมพิวเตอร์ หรือที่เราคุ้นเคย CPU
ชิปประมวลผลกราฟิกการ์ดจอ หรือ GPU
ชิปประมวลผลบนสมาร์ตโฟน
หรือแม้แต่ชิปที่อยู่ใน Flash Drive ที่เป็นประเภทหน่วยความจำ
ชิปเหล่านี้ถูกสร้างมาจากชิ้นส่วนที่เรียกว่าสารกึ่งตัวนำ (Semiconductor)
อธิบายแบบง่ายๆ ก็คือ วัสดุที่มีคุณสมบัติการนำไฟฟ้าอยู่ระหว่างตัวนำ และฉนวน ส่วนใหญ่จะถูกผลิตอยู่บนแผงซิลิคอน
การผลิตชิปมีขั้นตอนที่ซับซ้อนตามการออกแบบ รวมไปถึงมีการลงทุนที่สูงมาก และต้องมีทรัพยากรผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน
การทุ่มเทวิจัยและพัฒนาอย่างหนัก ส่งผลให้ TSMC กลายเป็นบริษัทที่รับผลิตชิปที่สำคัญของโลก
โดยชิปส่วนใหญ่จะเป็นการผลิตตามการออกแบบของลูกค้า
Cr.patentlyapple
ในปี 2017 TSMC ครองส่วนแบ่งการตลาด Semiconductor Foundry มากถึง 52.5% ของยอดการรับผลิตทั้งหมด 2 ล้านล้านบาททั่วโลก
โดยมีลูกค้าหลักเป็นบริษัทที่เรารู้จักกันเป็นอย่างดี เช่น Apple, Nvidia และอีกกว่า 440 รายทั่วโลก
นอกจาก TSMC แล้ว
ไต้หวันมีการทุ่มทุนด้านการวิจัยและพัฒนาอย่างหนัก
โดยงบประมาณ R&D คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 3.3% ของ GDP ในปี 2017
ซึ่งเป็นสัดส่วนที่มากกว่าประเทศเยอรมนี และมากกว่าประเทศไทยถึง 4 เท่า
การร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน
นำไปสู่การสร้างธุรกิจใหม่ๆ จนเติบโตเป็นบริษัทด้านอิเล็กทรอนิกส์ระดับโลกมากมาย
ทั้งบริษัท Acer ซึ่งเป็นผู้นำตลาดพีซีติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก
บริษัทผู้ผลิตแล็ปท็อปคอมพิวเตอร์ Asus
และบริษัทสมาร์ตโฟน HTC
นอกจากภาคอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์แล้ว
รู้หรือไม่ว่า ภาคเกษตรกรรมของไต้หวันก็มีความก้าวหน้าไม่แพ้กัน
โดยเฉพาะการวิจัยและพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับ
ไต้หวันได้รับสมญานามว่า “ดินแดนแห่งกล้วยไม้”
และแซงหน้าประเทศไทย กลายเป็นประเทศที่มีการส่งออกกล้วยไม้มากที่สุดในโลกนับตั้งแต่ปี 2005
โดยเฉพาะกล้วยไม้สกุลเขากวางอ่อน (Phalaenopsis)
ซึ่งนำรายได้เข้าสู่ไต้หวันปีละกว่า 2,000 ล้านบาท
Cr.thegardenstore
ไต้หวันเป็นดินแดนขนาดเล็ก มีพื้นที่เพียง 35,980 ตารางกิโลเมตร
ซึ่งพอๆ กับภาคตะวันออกของไทย
การที่มีทรัพยากรธรรมชาติน้อย แต่มีประชากรหนาแน่นถึง 650 คน ต่อตารางกิโลเมตร
แถมพ่วงด้วยความขัดแย้งทางการเมืองกับมหาอำนาจใหญ่อย่างจีนที่ยังคงไม่มีวี่แววสิ้นสุด
“เทคโนโลยี” จึงน่าจะเป็นสิ่งเดียวที่ทำให้ไต้หวันสามารถยืนหยัดอยู่ท่ามกลางมรสุมต่างๆ ได้อย่างเต็มภาคภูมิ..
ติดตามซีรีส์บทความ 4 เสือเศรษฐกิจ ตอนที่ 4 เกาหลีใต้ ในสัปดาห์หน้า..
----------------------
อ่านลงทุนแมนสนุกขึ้น
อ่านในแอป blockdit
โหลดที่ http://www.blockdit.com
----------------------
References
-เศรษฐกิจจีนไทเป, ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น
-https://en.m.wikipedia.org/wiki/Taiwan
-http://www.engineerfriend.com/2011/articles/เซมิคอนดักเตอร์คืออะไร/
-https://anysilicon.com/semiconductor-foundries-sales-ranking-2017/
-https://data.worldbank.org/indicator/gb.xpd.rsdv.gd.zs
-http://www.tcdc.or.th/articles/others/21343/#Taipei-The-Capital-of-Design
-https://www.pri.org/stories/2011-01-25/taiwan-asias-unsung-flower-power
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.