ยางมะตอย เกี่ยวอะไรกับ ธุรกิจน้ำผลไม้

ยางมะตอย เกี่ยวอะไรกับ ธุรกิจน้ำผลไม้

1 ก.ค. 2019
ยางมะตอย เกี่ยวอะไรกับ ธุรกิจน้ำผลไม้ / โดย ลงทุนแมน
“ผลประกอบการของธุรกิจยางมะตอย อาจมีผลต่อบริษัท”
ประโยคนี้กล่าวโดย บริษัท ทิปโก้ เจ้าของแบรนด์น้ำผลไม้ชื่อดัง
แล้วจริงๆ 2 สิ่งนี้เกี่ยวข้องกันอย่างไร
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
ก่อนอื่นมาดูข้อมูลบริษัท ทิปโก้ กัน
ทิปโก้ ถูกก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2519 เดิมชื่อ บริษัท สับปะรดไทย จำกัด เป็นผู้ผลิตน้ำผลไม้ทิปโก้ รวมทั้งน้ำแร่ธรรมชาติตรา ออรา
ปัจจุบัน ทิปโก้ เป็นเบอร์หนึ่งในตลาดน้ำผลไม้ทั้งหมดของไทย ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 11,200 ล้านบาท โดยถ้าเป็นน้ำผลไม้แบบ UHT นั้น ทิปโก้ มีส่วนแบ่ง 40% และแบบพาสเจอไรซ์มีส่วนแบ่งตลาด 47%
แม้จะมีส่วนแบ่งตลาดสูง แต่ต้องยอมรับว่า ธุรกิจน้ำผลไม้ในประเทศมีการแข่งขันสูง เนื่องจากมีผู้เล่นหลายรายในตลาดนี้
ขณะที่ตลาดน้ำแร่มีมูลค่าประมาณ 4,200 ล้านบาท โดยน้ำแร่ออราของทิปโก้มีส่วนแบ่งประมาณ 20%
รายได้และกำไรของ บริษัท ทิปโก้ฟูดส์ จำกัด (มหาชน)
ปี 2560 รายได้ 5,552 ล้านบาท กำไร 703 ล้านบาท
ปี 2561 รายได้ 4,517 ล้านบาท ขาดทุน 31 ล้านบาท
Cr. tipco
ผลประกอบการที่ลดลง บริษัทได้ให้เหตุผลว่าได้รับผลกระทบจากรายได้ธุรกิจเกษตร และเครื่องดื่มที่ลดลง เนื่องจากการลดลงของราคาขาย และกำลังซื้อของผู้บริโภค
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ซ่อนอยู่ในบริษัทนี้ ที่ทำให้ทิปโก้ได้รับผลกระทบก็คือ ทิปโก้มีอีกธุรกิจหนึ่งในเครือที่ดูเหมือนไม่น่าจะเกี่ยวข้องกันได้ นั่นก็คือ “ธุรกิจยางมะตอย”
ในปี 2561 ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมของทิปโก้มีมูลค่า 132 ล้านบาท ซึ่งลดลงจากปี 2560 ที่ 600 ล้านบาท.. ถ้านำตัวเลขนี้ไปเทียบกับกำไรของทิปโก้แล้ว ก็จะพบว่าธุรกิจยางมะตอย มีความสำคัญต่อบริษัททิปโก้มาก
ปัจจุบัน ทิปโก้ถือหุ้น 23.89% ในบริษัท TASCO ที่ทำธุรกิจยางมะตอย
บริษัท ทิปโก้แอสฟัลท์ จำกัด (มหาชน) หรือ TASCO ก่อตั้งขึ้นในปี 2522 ธุรกิจหลักคือ การผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยางมะตอยที่ใช้สำหรับสร้างและซ่อมแซมถนน ซึ่งมีการขายทั้งในและต่างประเทศ
รู้หรือไม่ว่า ยางมะตอยที่เราเห็นกันอยู่ทุกวันนี้ ปัจจุบัน TASCO มีส่วนแบ่งตลาดยางมะตอยเป็นอับดับ 1 ในประเทศไทย โดยมีสัดส่วนประมาณ 50%
Cr. Tipco Asphalt
รายได้และกำไรของ บริษัท ทิปโก้แอสฟัลท์ จำกัด (มหาชน)
ปี 2560 รายได้ 28,982 ล้านบาท กำไร 2,537 ล้านบาท
ปี 2561 รายได้ 27,962 ล้านบาท กำไร 564 ล้านบาท
บริษัทได้ให้เหตุผลของผลประกอบการที่ลดลงว่า บริษัทมีปัญหาการขาดแคลนน้ำมันดิบ การเกิดเหตุไฟไหม้ถังเก็บน้ำมันดิบของบริษัทย่อย ขณะที่ความต้องการยางมะตอยจากจีนลดลง รวมทั้งในช่วงปลายปีที่ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง ทำให้ผู้ซื้อยางมะตอยเลื่อนคำสั่งซื้อออกไป เพื่อรอให้ราคายางมะตอยลดลงตามราคาน้ำมันดิบ
จากเรื่องทั้งหมดนี้ เราจะเห็นได้ว่า
ในการที่เราเอาเงินไปลงทุนในบริษัทหนึ่ง เราต้องเข้าใจว่าบริษัทนั้นทำธุรกิจอะไรบ้าง รายได้และกำไรของบริษัทมาจากธุรกิจไหนเป็นหลัก
อย่างในกรณีนี้ นักลงทุนที่ไม่ได้ศึกษาข้อมูลในตอนแรก อาจไม่เข้าใจว่าธุรกิจยางมะตอย เกี่ยวอะไรกับธุรกิจน้ำผลไม้
แต่สำหรับคนที่ศึกษามาอย่างดี ก็น่าจะทำให้เราเข้าใจถึงสาเหตุ และประเมินได้ถูกต้องว่าเราจะตัดสินใจอย่างไรกับสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งจะทำให้เราไม่ตกใจจนเกินไป หรือลงมือทำอะไรโดยที่ยังไม่รู้ข้อมูล
อย่างในเรื่องนี้ เมื่ออ่านมาจนถึงตอนนี้ อย่างน้อยเราก็คงสามารถบอกเพื่อนได้ว่า อันดับหนึ่งผลไม้ในไทย และ อันดับหนึ่งยางมะตอยในไทย มีความเกี่ยวข้องกัน ก็คือ ทิปโก้ นั่นเอง..
หมายเหตุ: บทความนี้เขียนเพื่อให้ข้อมูลของบริษัท ไม่ได้มีเจตนาชี้นำให้ซื้อขายหุ้นเหล่านี้แต่อย่างใด
----------------------
อ่านลงทุนแมนสนุกขึ้น
อ่านในแอป blockdit
โหลดที่ http://www.blockdit.com
----------------------
References
-แบบฟอร์ม 56-1 บริษัท ทิปโก้ฟูดส์ จำกัด (มหาชน)
-แบบฟอร์ม 56-1 บริษัท ทิปโก้แอสฟัลท์ จำกัด (มหาชน)
-คำอธิบายและวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการ ประจำปี 2561 บริษัท ทิปโก้ฟูดส์ จำกัด (มหาชน)
-คำอธิบายและวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการ ประจำปี 2561 บริษัท ทิปโก้แอสฟัลท์ จำกัด (มหาชน)
-https://www.ryt9.com/s/iq05/2897942
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.